ประเทศไทยใหญ่ไม่พอ “ขุ่นแม่แอน” ขอสร้าง JKN เป็น Regional Company

1675

แม้ฉายา “ข้ามเพศพันล้าน” จะเป็นความภูมิใจของ แอนจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ที่ก้าวจากเด็กหนุ่มที่กลับมารับช่วงธุรกิจวิดีโอของครอบครัวในยุคล่มสลาย ทรานฟอร์มธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการทรานฟอร์มตัวเอง มาสู่ผู้จัดจำหน่ายคอนเทนต์อันดับ 1 ของเมืองไทยที่มีลูกค้าเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มสถานีโทรทัศน์ทั้งทีวีดิจิทัล และทีวีดาวเทียมมากกว่า 200 สถานี

แต่ด้วยความเป็นนักสู้ที่มองหาโอกาสที่กว้างใหญ่กว่าของสาวข้ามเพศพันล้าน แอน-จักรพงษ์ มองไปไกล และวางแผนก้าวเดินไปถึงหมื่นล้านแล้ว

แอน มองว่า ความสำเร็จของ JKN คือวิธีคิดต่าง ที่คนส่วนใหญ่ต้องการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม แย่งชิงช่องโทรทัศน์ อยากเป็นเจ้าของสื่อ ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่สามารถผลิตป้อนสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้ทัน และเธอเองก็ไม่คิดว่า การตั้งบริษัทผลิตคอนเทนต์เองจะตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้หมด แต่การเดินหน้าซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่ดีๆ จากทั่วโลกต่างหาก คือแนวทางที่ถูกต้อง

วันนี้ JKN มีคอนเทนต์อยู่ในมือ 8 กลุ่ม ประกอบด้วย

JKN Originals สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสำนักพระราชวัง ผลิตร่วมกับเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค นำไปออกอากาศทั่วโลก

Asian Fantasy จากผู้นำเข้าละครซีรีส์เกาหลียุคแรกเริ่ม อย่าง แดจังกึม จูมง ไปจนถึงซีรีส์จีน ฮ่องกง และไต้หวัน วันนี้ ซีรีส์อินเดีย และฟิลิปปินส์ คือคอนเทนต์แม่เหล็กที่ไม่เพียงแต่ทำรายได้ในประเทศไทย แต่ยังนำออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ พร้อมๆ กับละครไทย จากช่อง 3

Hollywood Hit ซีรีส์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา อย่าง ซีรีส์สอบสวนยอดฮิต CSI ซีรีส์สยองขวัญยอดนิยมตลอดกาล The Walking Dead และซีรีส์ย้อนยุค Spartacus

I Magic The Project สารคดีจากช่องสารคดีชั้นนำ จาก BBC, History Channel, Discovery Channel, National Geographic

Kids Inspired การ์ตูน อนิเมชั่น จากยุโรป และสหรัฐอเมริกา

Music Star Parade คอนเทนต์คอนเสิร์ตจากยุโรป อเมริกา และเกาหลี

News  คอนเทนต์รายการข่าวภายใต้แบรนด์ JKN CNBC ที่ได้รับลิขสิทธิ์จากช่อง CNBC สหรัฐอเมริกา

Super Show คอนเทนต์วาไรตี้ ทอล์คโชว์  เกมโชว์ ทั้งในและต่างประเทศ

คอนเทนต์เหล่านี้ถูกนำไปสร้างรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใน 7 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย

  1. ทีวีดิจิทัล 22 ช่อง โดย 4 ช่องสุดท้าย True4U, Mono, PPTV และ Amarin TV ก็จะนำคอนเทนต์จาก JKN ออกอากาศในปีนี้
  2. เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม กว่า 200 ช่อง
  3. Cinema คอนเทนต์สำหรับการนำเสนอผ่านโรงภาพยนตร์
  4. Publishing คอนเทนต์ในรูปแบบ e Book
  5. Merchandise สินค้าที่ระลึก ของสะสม คอลเลคชั่นต่างๆ จากศิลปิน นักแสดง
  6. OTT การนำคอนเทนต์เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ให้บริการ OTT อย่าง AIS Play, Hooq, Netfilx, Line TV, Prime Time และ Bflix ที่มีการเปิดช่องพิเศษให้กับ JKN 2 ช่อง คือ JKN Namaste ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง JKN และ FOX และ JKN Zee Magic ที่ร่วมมือกันระหว่าง JKN และ Zee จากอินเดีย และในปีนี้จะมีการเปิดให้ครบ 5 ช่อง โดยช่องต่อไปจะร่วมมือกับ Viacom จากสหรัฐอเมริกา
  7. Ancillary นำออกอากาศทางยานพาหนะ และเครื่องบิน

แนวทางการทำธุรกิจเหล่านี้ ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2561 ของ JKN ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยมีรายได้ 1,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,155 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 227.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 187.67 ล้านบาท

แต่ในปีนี้ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) มองไปไกลกว่าความสำเร็จในเมืองไทย โดยภารกิจแรก คือการย้ายสถานภาพของหุ้น JKN จากตลาด MAI สู่ตลาด SET เสริมภาพของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็น Regional Company

โดยแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2562 จะเป็นปีที่ JKN เน้นขยายตลาดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ซีรี่ส์อินเดีย-ฟิลิปปินส์ ไปยังตลาดอาเซียนในทุกแพลตฟอร์มให้มากยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิดการตลาด Superstar Marketing’ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ โดยได้ใช้งบเงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพิ่มเติมเพื่อรองรับแผนงานการขยายธุรกิจทั้งต่างประเทศและในประเทศ

แผนขยายตลาดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังประเทศเวียดนาม มาเลเซีย บรูไนและไต้หวันเพิ่มเติม เนื่องจากตลาดต่างประเทศถือเป็น Blue Ocean ที่ JKN มีโอกาสนำลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในมือไปสร้างฐานรายได้ให้เติบโตได้อีกมาก หลังจากปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการทำตลาดในประเทศเมียนมา ลาวและกัมพูชา ที่ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ให้ความสนใจซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปออกอากาศ

นอกจากนั้น การเป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครจากสถานีช่อง 3 ก็มีแผนขยายตลาดในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและไต้หวันเพิ่มเติมเช่นกัน จากเดิมที่ได้จำหน่ายไปแล้วกับสถานีโทรทัศน์ในฟิลิปปินส์และได้ทยอยส่งลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปออกอากาศเป็นที่เรียบร้อยแล้วและได้ทยอยรับรู้รายได้ตามงวดการส่งมอบตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่งผลสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 20% จากรายได้รวมในปีที่ผ่านมาและปีนี้คาดว่าสัดส่วนรายได้จะเพิ่มเป็น 30%

โดย Regional Company ในความคิดของ แอน-จักรพงษ์ คือการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศให้ได้ถึง 50% ซึ่งปัจจุบันคอนเทนต์จาก JKN ถูกจำหน่ายไปยังต่างประเทศราว 20 ประเทศ ทั่วเอเชีย ซึ่งนอกเหนือจากคอนเทนต์จากอินเดีย ฟิลิปปินส์ ที่ได้ลิขสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายนอกเหนือจากในประเทศไทยแล้ว คอนเทนต์ละครจากประเทศไทย ก็เป็นเป้าหมายสำคัญที่ JKN จะนำไปเปิดตลาดในต่างประเทศให้มากขึ้น

แอน-จักรพงษ์ เชื่อมั่นว่า วันนี้คุณภาพของละครไทยแม้ด้อยไปกว่าประเทศใดๆ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของประเทศก็เป็นที่น่าสนใจ เพียงแต่การนำมาสร้างเป็นเรื่อง ต้องมีการประยุกต์ให้มีความเป็นสากลมากกว่านี้ ซึ่งละครจากช่อง 3 ก็ถือว่าเป็นละครที่มีคุณภาพที่ดีที่ JKN จะนำไปเปิดตลาดทั่วโลก โดยมีเป้าหมายยกระดับให้คอนเทนต์ละครไทยก้าวขึ้นสู่ระดับแนวหน้า เหมือนกันที่เกาหลีเคยทำได้

ซึ่ง แอน-จักรพงษ์ เชื่อว่า ภายในเวลา 3-5 ปีจากนี้ จะเป็นปีที่ JKN เติบโตสู่การเป็น Regional Company ครอบคลุมพื้นที่ในการทำตลาดทั่วเอเชีย ทำรายได้ก้าวสู่องค์กรระดับหมื่นล้านบาท และมีการเติบโตที่ยั่งยืน