ก้าวใหญ่ของ “ZEN” จากร้านอาหารญี่ปุ่นสู่ Food Service ครบวงจร

4421

28 ปีที่แล้ว ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นในชื่อ ZEN เปิดบริการเป็นร้านแรกในกลางซอยทองหล่อ ด้วย            เจตนารมณ์ให้เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับ พร้อมบริการชั้นเยี่ยม ที่หาทานไม่ได้ง่ายๆ ในเมืองไทย

แต่เส้นทางตลอด 28 ปีที่ผ่านมา  เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป  มีมากกว่าภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น

ปี 2550 เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป  เปิดร้านอาหารแบรนด์ที่ 2  ในชื่อ AKA อาหารปิ้งย่างสไตล์ยากินิกุ ที่มีจุดเด่นคือการใช้เตาถ่านไร้ควันในการปิ้งย่าง

ปี 2552 ร้านอาหารสไตล์ Fusion Food ที่ผสมผสานระหว่างอาหารญี่ปุ่น และอาหารตะวันตก ในชื่อ On the Table ก็เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก

ปี 2557  เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ยกระดับอาหารปิ้งย่างสไตล์ยากินิกุ ขึ้นสู่ระดับพรีเมียม ด้วยการเปิดแบรนด์ Tetsu  บนห้างหรูกลางกรุงเทพฯ  เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

ในปี 2559  เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ขยายธุรกิจร้านอาหาร จากกลุ่มอาหารญี่ปุ่น มาสู่อาหารไทย ด้วยการซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหารไทย กลุ่มตำมั่ว ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารไทยอีสาน มีแบรนด์ร้านอาหารอีสานและเวียดนาม เช่น ตำมั่ว อาหารอีสาน ลาวญวน อาหารอีสานและเวียดนาม, เฝอ อาหารเวียดนามจานเดียว และ แจ่วฮ้อน อาหารอีสานสไตล์ชาบู สุกี้ เป็นต้น

ปี 2560 เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หันมาเติมเต็มกลุ่มอาหารญี่ปุ่น ด้วยการเปิดแบรนด์ Musha อาหารจานเดียวสไตล์ญี่ปุ่น พร้อมทั้งซื้อกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมในชื่อ Sushi Cyu Carnival Yakiniku เข้าสู่พอร์ต

ในปีเดียวกันนี้ได้ขยายแบรนด์ตำมั่ว เข้าสู่กลุ่มพรีเมี่ยม ด้วยการสร้างแบรนด์ เดอ ตำมั่ว เปิดสาขาแรกขึ้นที่เกษร วิลเลจ ราชดำริ

และในปี 2561 เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป สร้างแบรนด์น้องใหม่ ในชื่อ “เขียง” Street Food จานด่วนยอดฮิตของคนไทย 20 เมนู อาทิ ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว, ข้าวหมูกระเทียมพริกไทย และผัดซีอิ๊ว ฯลฯ

ZEN ที่คนไทยคุ้นเคยว่าเป็นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น วันนี้ได้กลายเป็นเชนร้านอาหารใหญ่ระดับแนวหน้าของประเทศ มีแบรนด์ร้านอาหารมากถึง 12 แบรนด์ มีสาขารวมกัน 255 สาขา ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และครอบครัว สำหรับผู้มีรายได้ระดับขั้นต้นถึงระดับสูง

นอกจากนั้น จากการซื้อกิจการ กลุ่มตำมั่ว เมื่อปี 2559 นอกจากแบรนด์ร้านอาหารไทยอีสานแล้ว ยังได้รับ Know-how ของการทำธุรกิจแฟรนไชส์  ที่จะช่วยผลักดันให้เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป สามารถขยายสาขาได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงต่อยอดไปสู่ธุรกิจอาหารค้าปลีก ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน อาทิ หมี่โคราช น้ำปลาร้า แจ่วบองบรรจุขวด และน้ำจิ้มแจ่ว ที่เข้ามาต่อยอดให้กับธุรกิจของเซ็น คอร์ปอเรชั่น สู่การเป็น Food Service ที่ครบวงจรที่สุด

 

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอดีต เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เหมือนเป็นธุรกิจปลายน้ำที่เปิดร้านอาหารบริการให้แก่ผู้บริโภค แต่ในช่วงเวลาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป มีการเตรียมความพร้อมของระบบบริหารจัดการภายในองค์กร เช่น การเพิ่มบุคลากรส่วนสนับสนุน การลงทุนด้านระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับแผนขับเคลื่อนธุรกิจ

และในปีนี้เป็นต้นไป เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เตรียมตัวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุน พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น Food Service Provider คือการดำเนินธุรกิจอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

ขยายแฟรนไชส์สร้างอาชีพให้คนไทย

โดยส่วนแรกที่จะเดินหน้าขยายอย่างเต็มที่คือ การขยายร้านแฟรนไชส์ที่ปัจจุบันมีอยู่ 7 แบรนด์คือ AKA On the Table ตำมั่ว ลาวญวน แจ่วฮ้อน เฝอ และเดอ ตำมั่ว ที่มีอยู่รวมกัน 145 สาขา แบ่งเป็นในประเทศ 137 สาขา และในประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา อีก 8 สาขา

บุญยงตั้งเป้าว่า ในปีนี้ร้านแฟรนไชส์ของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จะเปิดเพิ่มได้อีกถึงกว่า 87 ร้าน

“ธุรกิจแฟรนไชส์มีความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ โดย ZEN จะให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ซีแบบครบวงจร ตั้งแต่ช่วยจัดหาทำเล จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง การวางระบบการทำงานในร้าน รวมถึงฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมบุคลากรก่อนการเปิดร้าน การทำการตลาด และยังมีการติดตามมาตรฐานตลอดเวลา 5 ปี จนแฟรนไชส์ซีเข้มแข็ง เป็นอาชีพคุณได้เลย ขอให้แค่มีใจคุณก็เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ธุรกิจของกลุ่ม ZEN ได้”

โดยรูปแบบของร้านแฟรนไชส์จะขยายสาขาในทำเลใหม่ๆ เช่น ภายในสถานีบริการน้ำมัน แหล่งชุมชน โรงพยาบาล ตึกแถว จากเดิมที่มุ่งเน้นการขยายสาขาภายในศูนย์การค้า เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และมีแผนพัฒนาร้านอาหารในรูปแบบ Micro Format ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีพื้นที่ร้านขนาดเล็ก เมนูอาหารไม่ซับซ้อน และใช้เงินลงทุนไม่สูง

และบุญยงก็ไม่ได้มองแค่การขยายแฟรนไชส์ในประเทศไทย เพราะ 8 สาขาของตำมั่ว เฝอ แจ่วฮ้อน AKA และ On the Table ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็ล้วนเปิดบริการในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเป้าหมายต่อไปของบุญยงคือ การขยายแฟรนไชส์ออกไปให้ไกลถึงประเทศในอาเซียน

เปิดช่องขยายธุรกิจอาหารทุกรูปแบบ

ไม่แต่เพียงผู้สนใจร่วมธุรกิจแฟรนไชส์กับเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปเท่านั้น ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ สามารถจ้างให้เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เข้าไปให้คำแนะนำและช่วยบริหาร ด้วยทีม R&D และฝ่ายปฏิบัติการที่เข้มแข็ง และประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารกว่า 28 ปี อาจแปลงเป็นอีกธุรกิจของ ZEN

บุญยงมองว่า ธุรกิจอาหารมีมูลค่าตลาดปีละมากกว่าแสนล้านบาทและยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก แม้เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จะมีแบรนด์ร้านอาหารมากถึง 12 แบรนด์ แต่ก็ยังมีร้านอาหารอื่นๆ เช่น อาหารอิตาลี อาหารยุโรป หรืออาหารจีน ก็ยังเป็นสิ่งที่มองหา หากพบร้านที่ถูกใจไม่ว่าจะเป็นการควบรวมธุรกิจ การร่วมทุน หรือการซื้อกิจการ ก็เป็นแนวทางที่จะไปเพื่อเสริมให้ธุรกิจร้านอาหารของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หลากหลายมากขึ้น

พัฒนาบริการ Catering & Delivery

วันนี้เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป มี 12 แบรนด์ร้านอาหาร เป็นจุดเด่นที่มีความหลากหลายในการทำ Catering ไม่แพ้บริการของโรงแรม ด้วยการ Synergy รูปแบบอาหารทั้งหมดของกลุ่มทำให้สามารถจับเซ็กเมนต์ได้ทุกๆ ระดับ พร้อมการบริการที่ได้มาตรฐานเหมือนทานที่ร้าน ซึ่งเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จะให้ความสำคัญกับการทำตลาด Catering ให้มากขึ้นในปีนี้

เช่นเดียวกับบริการ Delivery ซึ่งวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอาหารเติบโตขึ้น พฤติกรรมในการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น LINE MAN, Food Panda, Honest Bee และ Grab ทำให้ตลาด Delivery เติบโตต่อเนื่อง

ในปีนี้ธุรกิจ Delivery คืออีกเป้าหมายสำคัญของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป โดยมีการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น ทั้ง LINE MAN, Food Panda, Honest Bee และ Grab ต่อไปเมื่อร้านอาหารของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ขยายเข้าถึงมากขึ้นก็จะพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาใช้กับร้านที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถทำ Delivery ได้ เช่น อาคารสำนักงานหรือย่านชุมชน

สู่ต้นน้ำ นำสินค้าเข้าถึงทุกครัวเรือน

อีกหนึ่ง Business Unit ที่เข้ามาหลังการซื้อกิจการตำมั่วคือ สินค้าวัตถุดิบและเครื่องปรุงแบรนด์ตำมั่ว ถือเป็นการสร้างแบรนด์ ที่ทำให้แบรนด์ตำมั่วสามารถต่อยอดจากธุรกิจร้านอาหารมาสู่ธุรกิจอาหารค้าปลีก แผนการขยายธุรกิจนี้จะเริ่มทำการขยายไลน์สินค้าออกไปให้กว้างขึ้น ครอบคลุมการทำอาหารอีสานมากขึ้น เช่น น้ำปลาร้าปรุงรส น้ำจิ้มแจ่ว และแจ่วบอง ฯลฯ ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-Eat)

บุญยงมองภาพในอนาคตอันใกล้ว่า ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจะซื้อวัตถุดิบจากตำมั่วไปปรุงอาหารที่บ้านเท่านั้น แต่ ต่อไปร้านส้มตำในประเทศไทยทุกร้าน จะใช้วัตถุดิบจากตำมั่วเช่นกัน

แต่ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ก็จะไม่ได้หยุดแค่เครื่องปรุงอาหารอีสาน โดยในกลุ่มอาหารญี่ปุ่นก็อยู่ในช่วงการทำ R&D ขยายสินค้าใหม่ๆ พร้อมพัฒนาสินค้าให้สามารถเก็บรักษาได้นานเพื่อส่งขายไปยังต่างประเทศ

ต่อจากนี้ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จะไม่ได้เป็นเพียงร้านอาหาร แต่จะเป็นครัวใหญ่ที่ดูแลคนไทยให้มีมื้ออร่อย ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน ที่ร้านส้มตำริมถนน ร้านใหญ่ในศูนย์การค้า และในงานเลี้ยง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับคนไทย