“ตั๊บ-วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์” ปั้น Fastwork ช่องทางหารายได้ฟรีแลนซ์มืออาชีพ

4647

จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และโลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากๆ ขณะนี้เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า คนรุ่นใหม่ไม่นิยมการนั่งทำงานประจำ รับเงินเดือนเท่ากันทุกเดือน หรือต้องมานั่งคอยไต่เต้ารอวันการเติบโตในสาขาอาชีพตามแต่เจ้านายจะเห็นสมควร คนที่มีความสามารถ มีฝีมือจริง เลือกที่จะออกมาทำอาชีพอิสระ หาแนวทางที่ถนัดของตัวเอง แล้วเรียกรับเงินค่าจ้างได้ในเกณฑ์ที่สูงขึ้น

นั่นคือ แนวทางที่เกิดขึ้นมานานแล้วในต่างประเทศ และเป็นรูปแบบการทำงานที่ “ตั๊บ-วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์” Founder & CEO บริษัท ฟาสต์เวิร์ค เทคโนโลยีส์ จำกัด เล็งเห็น จึงร่วมมือกับ “วรพล ลีลาเวชบุตร” Vice President of Marketing และเพื่อนอีก 2 คน สร้างและพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่เป็นแหล่งรวม professional และ freelance เพื่อเป็นแหล่งนัดพบของผู้ที่ต้องการมืออาชีพไปช่วยสร้างสรรค์งาน

ตั๊บ” บอกว่า แพลตฟอร์มนี้เป็นโมเดลที่เขาและเพื่อนเห็นมาจากตอนเรียนที่สหรัฐอเมริกา และพวกเขาก็เคยหางานฟรีแลนซ์ผ่านเว็บไซต์กลางเช่นนี้มาก่อน จึงทดลองนำโมเดลนี้มาเปิดที่เมืองไทย ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ที่โน่น โดยทำเป็นเว็บไซต์ Fastwork.co และโมบายล์แอปพลิเคชัน “Fastwork” ตั้งแต่ธันวาคม 2558

“เราอายุ 28 ปี เพื่อนๆ ก็อายุพอกัน เทรนด์นี้สนองความต้องการของพวกเรา ที่ชอบในความอิสระ ทำในสิ่งที่ชอบ และทำเมื่อไรก็ได้ตามใจเรา ถ้ามีความสามารถ เป็นโปรเฟสชันนัลในสายงานใดสายงานหนึ่ง ก็สามารถรับงานแบบนี้ได้”

โมเดลธุรกิจของ Fastwork ประสบความสำเร็จทันทีที่นำมาเปิดใช้ในเมืองไทย

เขาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาใช้เวลาพัฒนา Fastwork เพียง 9 สัปดาห์ สามารถหาเงินได้ตั้งแต่วันแรก และเปิดให้บริการเพียง 2 เดือน ก็สามารถระดมทุน ทั้งจากนักลงทุนในสหรัฐอเมริกา, 500 ตุ๊กตุ๊ก และนักลงทุนต่างประเทศ

หลังจากนั้น ยังลงทุนเพิ่มอีก 2 รอบ จากบริษัทญี่ปุ่น และรอบใหญ่สุด คือ รอบซีรีส์ เอ ด้วยเงินทุนจากอาลีบาบา และไลน์ ระดมทุนได้ประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 200 ล้านบาท

ความสำเร็จที่  Fastwork ได้รับ “ตั๊บ” บอกว่า เกิดจากเป็นโมเดลที่ยังไม่เคยมีในเมืองไทย ที่ผ่านมามีแค่การไปโพสต์ไว้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ แต่ฟาสต์เวิร์คเป็นแพลตฟอร์มที่ดูแลคน 2 ประเภท คือ ฝั่งซัพพลาย ที่เป็นโปรเฟสชันนัลงานด้านต่างๆ และฝั่งของดีมานด์ ซึ่งมีหลากหลายทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และรายย่อย

Fastwork มีงานที่แตกต่างกันเกือบ 3 หมื่นงาน แยกเป็น 70 หมวดหมู่ย่อย และ 7 หมวดหมู่ใหญ่ มีงานตั้งแต่ งานกราฟิก งานการตลาด เขียนคอนเทนต์ งานสร้างสติ๊กเกอร์ งานกรอกแบบสอบถาม งานมาร์เก็ตติ้งรีเสิร์ช บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ งานดูแลร้านค้าออนไลน์ งานแปลภาษา งานถอดเทป งานตอบเพจ เฟซบุ๊ก

หรือแม้แต่งานรับซื้อของจากเว็บไซด์จีน เช่น เว็บเถาเป่า โดย Fastwork จะแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้มากที่สุด คือ 17% และลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 10% พิจารณาจากหมวดหมู่งาน ขนาดของงาน และมูลค่าของงานที่แตกต่างกันไป

“จุดแข็งของเราคือเครื่องมือ เรามีคนให้บริการเยอะมาก มีตั้งแต่ราคาเริ่มต้นจากราคาไม่กี่ร้อยบาท จนถึงหลักหมื่น และเรามีระบบ มีการสร้างมาตรฐานให้ดาว ให้เรตติ้ง โดยผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาคอมเมนต์ประสิทธิภาพผลงานได้ด้วย เป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้จ้าง และผู้รับจ้างงานสำเร็จได้เงินแน่”

ที่สำคัญคือ Fastwork มีหน่วยงานที่ช่วยซัพพอร์ตการรับเงิน การควบคุมดูแลว่า เมื่อฟรีแลนซ์ทำงานไปแล้ว แม้งานจะไม่จบโปรเจกต์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็จะมีการประเมินและจัดสรรเงินค่าจ้างให้แน่นอน

“เรามีแอปพลิเคชันที่สามารถเลือกคนทำงานได้ด้วยตัวเอง ในระบบจะมีราคาขั้นต่ำของแต่ละหมวดหมู่ มีตั้งแต่ระดับเพิ่งจบ และพวกที่ประสบการณ์เยอะแล้ว”

ขณะนี้ Fastwork ได้ขยายตลาดไปต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย “ตั๊บ” บอกว่า การจะเข้าไปตลาดไหน ต้องดูที่ความพร้อมของตลาดว่ามีฝั่งดีมานด์และซัพพลายเป็นอย่างไร เพียงพอไหม ซึ่งที่อินโดนีเซีย ประชากรเขาเยอะกว่าไทยเกือบ 5 เท่า และเจนวายเขาก็เยอะ ฝั่งซัพพลายมี

ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เทรนด์การหารายได้เสริมแรงกว่าที่อื่นเยอะ เพราะรายได้น้อย คนของเขาจึงอยากได้เงินเพิ่ม เมื่อ Fastwork เข้าไปเปิด การตอบรับจึงดีมาก 

“ตั๊บ” บอกอีกว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา Fastwork เติบโต 10-11 เท่า โดยในไทยตอนนี้มีฟรีแลนซ์ 2 หมื่นกว่าราย ของอินโดนีเซียเปิดครึ่งปี มี 5,000 คน และพวกเขายังมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งการขยายประเทศที่ให้บริการ และการเพิ่มบริการ รวมไปถึงสายงานที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ความท้าทายของ Fastwork คือ การขยายสเกลบริการที่ต้องหาคนเข้ามาซัพพอร์ตความต้องการของตลาดให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งมีทั้งที่สมัครเข้ามาในระบบด้วยตัวเอง และที่ต้องออกไปสรรหา ทั้งจากสถาบันการศึกษา เว็บบอร์ดต่างๆ

โดยหลักการคือ การเปิดสายงงานใหม่ ต้องดูว่าสายงานนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดหรือเปล่า และขณะนั้นมีสายงานอะไรที่ตลาดต้องการ

ตั๊บ” บอกว่า ด้วยการเติบโตที่รวดเร็วของ Fastwork ตอนนี้พวกเขาต้องขยายออฟฟิศ พร้อมทั้งเพิ่มเพื่อนร่วมงาน จากปีที่ 2 เดือนที่ 14 เป็นต้นไป Fastwork สเกลจาก 14 คน มาเป็น 50 คน ตอนนี้ตึกไม่เสร็จก็ต้องย้ายมาออฟฟิศใหม่แล้ว เพราะมีพนักงานเกือบ 100 คน และเร็วๆ นี้กำลังขยายต่อ

แม้ว่า ทีมงานของ Fastwork จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้นำอย่าง “ตั๊บ” และผู้ร่วมก่อตั้งของเขาก็ยังลุยงานหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง และเปิดกว้างให้ทีมงานได้เรียนรู้งาน มีอะไรก็สามารถโทรตรงหาผู้บริหารได้เลย

เราเซ็ตตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ว่า People /Product /Profit เราจะเอาคนของเรามาก่อน โปรดักส์คือรองลงมา ถ้าเราดูแลคนของเราได้ดีที่สุด ให้เขาได้ลองผิดลองถูก ได้โอกาสทำทุกอย่างที่เขาอยากทำ เมื่อเขาแฮปปี้ เราก็จะได้โปรดักส์ที่ดี และเราทำแบบนี้มาตั้งแต่วันแรก Try Fast Fail Fast ลองเร็ว ลองเล็กๆ แล้วสเกลอัพ เมื่อโอเค ให้เขาได้ลองอะไรใหม่ๆ แต่ทำอะไรแล้วต้องเรียนรู้ และพัฒนา”

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้บอกว่า การทำงานของ  Fastwork คือ โปรเฟสชันนัล และคนที่อยู่กับ Fastwork ก็คือ โปรเฟสชันนัล พวกเขาไม่ใช่แค่ฟรีแลนซ์ แต่เป็นใครก็ได้ที่อยากมารับงานผ่าน Fastwork เพราะฉะนั้น Fastwork จึงดูแลคนเหล่านั้น เปรียบเสมือนพนักงานคนหนึ่งของบริษัท ดังนั้น จึงมีการพัฒนาคนเหล่านี้ ทำให้เขามาสามารถสเกลอัพตัวเองได้ มีความรู้เพิ่มขึ้นได้ และเติบโตไปพร้อมๆ กับ Fastwork

โดยเป้าหมายของ Fastwork คือ การเป็นบริษัทที่มีพนักงานเยอะที่สุด…และขณะนี้ เขากำลังนำพา Fastwork เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยตลาดแรงงานอิสระที่มากกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท