เปิดวิชั่น “ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” จับมือภาครัฐ ยกระดับการรักษาโรคหัวใจให้คนไทย

6489

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2560 “โจ บอยสเก๊าท์” หรือนายธนัท ฉิมท้วม นักร้องวงบอยแบนด์ชื่อดังในอดีต หัวใจวายเฉียบพลัน ล้มลงเสียชีวิตขณะเล่นคอนเสิร์ตอยู่ในผับแห่งหนึ่ง

ตุลาคมที่ผ่านมา ในเช้าวันหยุด ป๋าเต็ด- ยุทธนา บุญอ้อม นักจัดรายการวิทยุรุ่นใหญ่ ตื่นมาใช้ชีวิตตามปกติ เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ถูกนำส่งโรงพยาบาลรักษาชีวิตได้ทันเวลา

และเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คุณลุงวันชัย หลวงจู อายุ 69 ปี ชาวจังหวัดพัทลุง ที่เตรียมร่างกายมาเป็นอย่างดี เข้าร่วมกิจกรรม Bike อุ่นไอรัก ขณะที่ปั่นรถจักรยานก่อนถึงจุดหมายราว 6 กิโลเมตร เกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจเฉียบพลัน วิงเวียนหน้ามืด ตัวเย็น ถูกนำส่งโรงพยาบาลพัทลุง ทำบอลลูนใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดช่วยชีวิตไว้ได้ทันเวลา

“โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ“ ในวันนี้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนบนโลกเสียชีวิต ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า ในหนึ่งปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบทั่วโลก 7.4 ล้านคน ขณะที่ในประเทศไทยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุการเสียชีวิต TOP 4 ของประเทศ โดยคนไทยทุกๆ 100,000 คน จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ 30 คน เกิดได้กับทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน

นายแพทย์กิติกร วิชัยเรืองธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลธนบุรี จำกัด ในเครือของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทั้งการสูบบุหรี่ การทานอาหารจั๊งค์ฟู้ด ของทอด ของมัน ทำให้โรคเส้นเลือดหัวใจตีบสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้มีอายุน้อยลงกว่าในอดีต จากเดิมจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันพบผู้ป่วยตั้งแต่อายุ 30 ปี เพิ่มมากขึ้น

อุปสรรคสำคัญของการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสูงต่อเนื่องทุกปีคือ การขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องมือในการรักษา เครื่องฉีดสีเส้นเลือดหัวใจมีราคาเครื่องละ 20-30 ล้านบาท และการสร้างศูนย์หัวใจครบวงจรต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 60-70 ล้านบาท ทำให้การรักษาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดหัวเมืองใหญ่ โดยมีค่ารักษาสูงราว 2-3 แสนบาท ต่อการรักษาเส้นเลือด 1 เส้น

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ในฐานะผู้นำด้านศูนย์หัวใจของประเทศไทย มองว่า เราจะปิดช่องว่างนี้เพื่อให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบลดลงได้อย่างไร ด้วยความพร้อมของธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ตั้งแต่บุคลากรเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ทั้งแพทย์และพยาบาล มีอุปกรณ์อันทันสมัยทั้งเครื่องฉีดสี การทำบอลลูน เครื่องกระตุ้นหัวใจ และทีมผ่าตัด ที่พร้อมให้บริการด้วยมาตรฐานทางการแพทย์ และมาตรฐานทางวิชาการ ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับภาครัฐในการขยายศูนย์หัวใจเข้าสู่โรงพยาบาลของรัฐ เพื่อขยายการให้บริการรักษาโรคหัวใจให้เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น โดยสามารถใช้สิทธิการรักษา อาทิ ข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง หรือสิทธิ 30 บาทโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม” นายแพทย์กิติกร กล่าว

นายแพทย์กิติกร กล่าวต่อว่า จากวิสัยทัศน์และแนวดำริของ นายแพทย์บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ที่ต้องการให้ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เป็นเครือข่ายการดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย ผู้รับบริการมีความไว้วางใจ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการ จึงพร้อมเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนรายแรกที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ

นายแพทย์บุญ วนาสิน 

ผู้ก่อตั้งธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป 

สำหรับภาพรวมธุรกิจของ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป นั้น ได้ดำเนินการโรงพยาบาลในประเทศอีก 5 แห่ง พร้อมเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางและฟื้นฟูสุขภาพที่ ถ.บำรุงเมือง 1 แห่ง รวมถึงที่กำลังก่อสร้างในต่างจังหวัด 1 แห่ง และยังมีโรงพยาบาลในจีนและเมียนมา ประเทศละ 1 แห่ง อีกทั้งยังรับจ้างบริหารโรงพยาบาล ศูนย์ตรวจรักษาเฉพาะทาง ให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในไทย พร้อมทั้งให้คำปรึกษากับโรงพยาบาลในต่างประเทศ และพัฒนาโครงการที่พักอาศัยพร้อมบริการทางการแพทย์ครบวงจร สำหรับผู้สูงวัย

ในปี 2561 ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป รับบริหารศูนย์หัวใจให้กับโรงพยาบาลทั้งหมด 4 แห่ง โดยเป็นโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี และโรงพยาบาลธนบุรี 2 และรับบริหารให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางพลี สมุทรปราการ และโรงพยาบาลพัทลุง

นายแพทย์กิตติกรกล่าวว่า เดิมจังหวัดพัทลุงไม่มีศูนย์หัวใจ หากมีผู้ป่วยต้องส่งไปโรงพยาบาลหาดใหญ่ ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตระหว่างเดินทาง เมื่อธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เข้ามาจัดสร้างศูนย์หัวใจที่โรงพยาบาลพัทลุง ซึ่งอดีตขาดแคลนทั้งบุคลากรและเครื่องมือทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสามารถรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจไปแล้วกว่า 1,500 ราย โดยกรณีของคุณลุงวันชัย หลวงจู ก็ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ยังมีรถพยาบาล CCU (Coronary Care Unit) เคลื่อนที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ด้านการรักษาหัวใจ เช่น เครื่อง AED เครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจ เครื่องตรวจวัดชีพจรสัญญาณชีพเส้นหัวใจครบวงจร ออกให้บริการ รวมถึงมีทีมงานออกรณรงค์ให้ประชาชนรู้วิธีทำ CPR วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นกู้ชีพ ปั๊มหัวใจ สอนให้ใช้เครื่องกระตุกหัวใจ AED โดยมีการเปิดคอร์สอบรมให้กับองค์กร บริษัท และโรงงาน อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์กิติกรให้ความมั่นใจกับคนไทยว่า แม้การเปิดศูนย์หัวใจจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก แต่ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ก็จะเดินหน้าร่วมมือกับภาครัฐในการขยายศูนย์หัวใจสู่โรงพยาบาลในจังหวัดห่างไกลต่อไป เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษา ลดอัตราการเสียชีวิตของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบของคนไทยลง

ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายแพทย์บุญ วนาสิน ที่มองการสร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศเป็นหลัก หากได้ช่วยให้ประชาชนรอดชีวิตสักคน ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว …