“นกแอร์” ปัจจัยลบท่วม! เขาว่า “ถังแตก-หนี้พุ่งเกินสินทรัพย์” ใครบริหารก็ไปไม่รอด (จริงหรือ?)

6531

จากกรณีคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอนุมัติใบลาออกของ “ปิยะ ยอดมณี” ที่ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการชุดย่อยทุกคณะ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมที่ผ้านมา และพ้นจากการเป็นพนักงานบริษัทตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2561 นี้เป็นต้นไปนั้นถือเป็นประเด็น “ร้อน” แห่งวงการธุรกิจการบินไม่น้อยทีเดียว

เพราะใครๆ ก็รู้ว่า  “ปิยะ” เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสายการบินนกแอร์ ได้เพียงแค่ 11 เดือนเท่านั้น ที่สำคัญที่ผ่านมา “ปิยะ” ก็ไม่ได้แสดงที่ “ถอดใจ” ออกมาให้เห็นแต่อย่างใด ในทางกลับกันยังภาคภูมิใจในผลงานการบริหารในช่วงที่ตัวเองเข้ามาบริหารในฐานะซีอีโอไม่น้อย

ปิยะ ยอดมณี อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ “ปิยะ” ให้สัมภาษณ์ถึงผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา รวมถึงทิศทางการบริหารในช่วงครึ่งปีหลังผ่านหลายๆ สื่อเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้นกแอร์ขาดทุน 774.68 ล้านบาท ถือว่าขาดทุนลดลง 14.68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น 2.6%

นอกจากนี้ ยังสามารถบริหารการใช้เครื่องบินได้ดียิ่งขึ้น โดยมีอัตราการใช้เครื่องบิน หรือ  Utilization เพิ่มจาก 7.89 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน เป็น 9.76 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 23.7% ขณะที่ตัวเลขอัตราการบรรทุกผู้โดยสารพุ่งไปอยู่ที่ 91.22% หรือเพิ่มขึ้น 6.41% เป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่นกแอร์เปิดให้บริการมา ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังนี้นกแอร์จะเร่งบุกตลาด “จีน” และ “อินเดีย” ต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานผู้โดยสารปีนี้ให้อยู่ที่ 10 ล้านคน (ปี 2560 อยู่ที่ 8.78 ล้านคน)

พร้อมทั้งยังบอกอีกว่า ได้เตรียมแผน “Rebuild” หรือแผนเริ่มต้นสร้างการเติบโตในอนาคตสำหรับปี 2562 ไว้แล้ว เช่น การขยายเครือข่ายเส้นทางการบินให้ครอบคลุมภูมิภาคมากขึ้น การจับมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ๆ  เป็นต้น ซึ่งแผนทั้งหมดจะสอดรับกับแผน 3 ปี (2560-2562) ในการพลิกฟื้นนกแอร์ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานบอร์ด สายการบินนกแอร์ ภาพจาก : Thairath

โดยหลังจากที่ให้สัมภาษณ์สื่อไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็มีกระแสข่าวว่า “ปิยะ ยอดมณี” ถอดใจลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ “สายการบินนกแอร์” กระพือไปตามหน้าสื่อทั้งออนไลน์ หนังสือพิมพ์ ทีวี อย่างรวดเร็วในช่วงบ่ายๆ ของวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทั่ง “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์”  ประธานคณะกรรมการบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยในช่วงค่ำๆ ว่า คณะกรรมการได้อนุมัติตามความประสงค์ของนายปิยะ ยอดมณี ที่จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการชุดย่อยต่างๆ ทุกคณะ

และพร้อมกันนี้บริษัทสายการบินนกแอร์ยังได้ทำหนังสือแจ้งต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งเรื่องการลาออกของผู้บริหาร กรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการลงนามผูกพันบริษัทอย่างเป็นทางการ

หลังจากนั้น ทุกสำนักข่าวต่างออกมาวิเคราะห์ วิจารณ์ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลากหลายทิศทาง โดยเฉพาะในเรื่องสถานะการเงินของบริษัทสายการบินนกแอร์ที่ยังขาดสภาพคล่อง มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะตัวเลขหนี้สินต่อทุน ดี/อี เรโช มีมากกว่า 12 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 0.61 เท่า หรือเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ “ถังแตก” นั่นเอง

โดยที่ประชุมคณะกรรมการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาได้อนุมัติให้บริษัทกู้เงินจำนวน 500 ล้านบาท จาก “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากว่าสภาพทางบัญชีของบริษัทสายการบินนกแอร์ขณะนี้ไม่มีเครดิตเหลือที่สถาบันการเงินจะปล่อยเงินกู้ให้แล้ว

นั่นหมายความว่ากลุ่ม “จุฬางกูร” ซึ่งถือหุ้นใหญ่อยู่กว่า 49% ในขณะนี้มีสิทธิที่จะสั่งการให้  “นกแอร์” เดินไปทางไหนก็ได้ เพราะสถานะของ “จุฬางกูร” ในวันนี้คือ เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่และเจ้าหนี้ในเวลาเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ยังวิเคราะห์กันถึงเรื่อง “ปมขัดแย้ง” ในแนวคิดการบริหารระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่มจุฬางกูร กับทีมบริหาร ที่มีแนวคิดไปคนละทาง โดยว่ากันว่ากลุ่มจุฬางกูรซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะสั้นๆ เน้นเข้าไปซื้อหุ้นลงทุนในบริษัทต่างๆ แล้วปั้นพอร์ตแต่งตัวให้ดูดีแล้วขายต่อสร้างกำไร ขณะที่ทีมบริหารของนกแอร์อยากให้ธุรกิจค่อยเป็นค่อยไป เดินตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานานและยังต้องลงทุนรอบใหม่อีก ทำให้ไม่ทันใจกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ “ปิยะ” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งซีอีโอในครั้งนี้ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของ www.362degree.com พบว่า

ในปี 2557 บริษัทสายการบินนกแอร์ มีสินทรัพย์รวม 6,569 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 2,219.65 ล้านบาท มีรายได้รวม 12,312.93 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ  471.66 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 8,187.50 ล้านบาท

ปี 2558 บริษัทสายการบินนกแอร์ มีสินทรัพย์รวม 7,110.22 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 4,168.16 ล้านบาท มีรายได้รวม 14,296.20 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ  726.10 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 4,250 ล้านบาท

ปี 2559 บริษัทสายการบินนกแอร์ มีสินทรัพย์รวม 6,000.85 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 6,340.58 ล้านบาท มีรายได้รวม 16,938 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ  2,795.09 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 4,625 ล้านบาท

ปี 2560 บริษัทสายการบินนกแอร์ มีสินทรัพย์รวม 7,330.15 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 6,639.14 ล้านบาท มีรายได้รวม 20,736.71 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,854.30 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 7,724.80 ล้านบาท

และช่วง 6 เดือนแรกปี 2561 บริษัทสายการบินนกแอร์ มีสินทรัพย์รวม 6,217.15 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 6,623.25 ล้านบาท มีรายได้รวม 10,924.20 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 856.62 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 5,225.60 ล้านบาท

จากตัวเลขดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ณ วันนี้ “นกแอร์” มีหนี้สินรวมในอัตราที่สูงกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปเรียบร้อยแล้ว และยังคงมีแนวโน้มว่าจะยังต้องเผชิญกับภาวะ “ขาดทุน” ต่อไปอีกแน่นอน และนี่คือเหตุผลที่หลายคนฟันธงว่า…ใครบริหารก็ไปไม่รอด!