บีจีซี ชูศักยภาพเจ้าอาเซียน หันเจาะตลาด ตปท.

1400

ตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศไทยในปีนี้ ดูท่าทีจะไม่สดใส มูลค่าของตลาดที่มีอยู่ราว 2.5- 3  หมื่นล้านบาท แต่โอกาสการเติบโตมีไม่มากนัก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยประกอบด้วย 4 ประเภทใหญ่ คือ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษ มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 40  อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 25  อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลหะ มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 20 และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้ว มีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 15

เพราะแม้กำลังการบริโภคของผู้คนจะมีมากขึ้น การรับประทานอาหารนอกบ้าน ถือเป็นไลฟ์สไตล์ยอดฮิต ธุรกิจอาหารฟู้ดสตรีทเบ่งบาน สนับสนุนให้การดื่มเติบโต แต่การเติบโตของบรรจุภัณฑ์อื่นอย่างกระป๋องโลหะ หรือขวดพลาสติก ก็ทำให้การใช้บรรจุภัณฑ์แก้วในแต่ละปีเติบโตไม่มากเท่าที่ควร

“ฟุตบอลโลกในปีนี้ก็ถือว่ามีความคึกคักน้อยกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน การสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์แก้วเพิ่มเพื่อรับเทศกาลก็แทบไม่มีเข้ามา อีกทั้งแบรนด์น้ำอัดลมก็หันไปส่งเสริมการขายกับบรรจุภัณฑ์กระป๋องมากกว่า แต่เราก็หวังว่า หากการเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนด ปลายปีนี้ก็น่าจะมีการจับจ่ายที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์แก้วเติบโตขึ้น” ศิลปรัตน์  วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจีซี  (BGC) กล่าว

ความยากลำบากของธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ขวด คือ ขบวนการผลิตเมื่อเริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว ก็ต้องผลิตไปต่อเนื่องตลอด 365 วัน  เพราะการหยุดการผลิต โอกาสจะทำให้เครื่องจักรเสียหาย อีกทั้งต้องใช้เวลานานหลายวันกว่าจะเดินเครื่องกลับมาได้ และบรรจุภัณฑ์แก้วที่ผลิตออกมาแล้ว ต้องจำหน่ายออกไปให้หมด

   ทำให้การตลาด และทีมขายต้องมีการวางแผนกันอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

บีจีซี วันนี้มีกำลังการผลิตอยู่ราว 3,100 ตันต่อวัน และในเดือนกันยายนนี้ ก็จะมีการเพิ่มการผลิตอีก 400 ตันต่อวัน ที่โรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรี รวมเป็นกำลังการผลิตราว 3,500 ตัน

ศิลปรัตน์ กล่าวว่า เมื่อตลาดในประเทศเต็มจนไม่สามารถขยายได้ บีจีซี จึงต้องมองไปหาตลาดในต่างประเทศ

วันนี้กำลังการผลิตของบีจีซี ที่มีอยู่ 3,100 ตันต่อวัน ก็ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และติด 1 ใน 3 ของเอเชีย รองจากจีน และเทียบเท่าอินเดีย

โดยในกลุ่มประเทศ AEC  บีจีซี ถือว่าเป็นผู้นำของตลาดบรรจุภัณฑ์แก้ว  ตั้งแต่เบียร์ลาว และไฮเนเก้น  ในลาว เบียร์กัมพูชา  รวมถึงในเมียนมา และเวียดนาม

ศิลปรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดต่างประเทศทำยอดขายให้บริษัทราว 10%  บีจีซี มีเป้าหมายที่จะเพิ่ดสัดส่วนเป็น 20% ในเวลา 3 ปี โดยตลาดที่จะรุกเข้าไป คือการขยายตลาดในเมียนมา และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีประชากรมาก มีโอกาสในการเติบโตได้อีก  ขณะที่ในยุโรป ที่มีการส่งขวดแก้วขนาดเล็ก สำหรับบรรจุแยม ก็จะขยายตลาดออกไปในกลุ่มยุโรปตอนใต้ ทั้งสเปนที่ทำตลาดอยู่แล้ว  อิตาลี  โปรตุเกส  นอกจากนั้น ด้านออสเตรเลีย ก็มีโอกาสในการทำตลาดขวดเบียร์ขนาดเล็ก ที่มีความต้องการถึงหลักสิบล้านขวดต่อปี

ทั้งนี้แนวทางในการทำตลาดต่างประเทศ ศิลปรัตน์  กล่าวว่า มีการใช้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ การทำราคาให้สามารถแข่งขัน โดยเน้นราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ   การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ  และการบริการที่มีประสิทธิภาพในการติดตามงาน

โดยในงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ แห่งภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 26 หรือ Propak Asia 2018 ระหว่างวันที่ 13-16 มิถุนายน  บีจีซี นำเสนอบรรจุภัณฑ์แก้วที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า ด้วยมาตรฐานระดับสากล พร้อมเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดบรรจุภัณฑ์ที่จะเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  เพราะเป็นภูมิภาคที่มีบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในอนาคตตามภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ตลาดต่างประเทศจึงเป็นเป้าหมายที่ บีจีซี มุ่งมั่นที่จะต้องเจาะไปให้ได้ หลีกหนีจากตลาดในประเทศที่เริ่มอิ่มตัว และมีคู่แข่งรายใหญ่ประกอบอยู่