เกาะติด JKN ส่งซีรีส์อินเดีย “จันทรคุปต์ฯ” ลงผังช่อง 13 หลังบุกตลาดฮ่องกง ขายลิขสิทธิ์ “Porus” ถล่มทลาย

19658

ยังคงเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ภารตะพันล้านยอดนิยมอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้นำเข้าซีรีส์อินเดียรายใหญ่หนึ่งเดียวของไทย สำหรับ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ที่ไม่เพียงแต่จะได้รับความไว้วางใจทั้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงในประเทศอินเดียและจากทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ ในเมืองไทย ให้เป็น ‘คนกลาง’ ในการซื้อขายลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่ JKN ยังสามารถใช้ความเชี่ยวชาญ โฟกัสลงไปถึงคอนเทนต์แต่ละเรื่องได้ว่าเหมาะสมกับช่องใดอีกด้วย

และหนึ่งในพันธมิตรรายใหญ่ที่เซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์อินเดียในปีนี้ถึง 14 เรื่อง รวมมูลค่า 800 ล้านบาท ก็คือช่อง 3 โดยล่าสุด “คุณแอน” จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JKN ก็ป้อนซีรีส์อินเดียมหากาพย์ฟอร์มยักษ์เรื่อง “จันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์” ลงจอช่อง 3 แฟมิลี่ ในช่วงไพรม์ไทม์เวลาหัวค่ำ จันทร์-ศุกร์ 5 วันรวด ประเดิมออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสตอบรับอย่างดีจากคอละครภารตะที่ติดตามข่าวซีรีส์ดราม่าอิงประวัติศาสตร์อินเดียเรื่องนี้

“จันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์” เป็นเรื่องราวของ ‘พระเจ้าจันทรคุปต์’ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ นักรบและผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ ผู้รวบรวมอาณาจักรอินเดียเข้าไว้เป็นปึกแผ่น แต่ท่ามกลางไฟสงคราม ยังมีเรื่องราวความรักลับๆ ไฟแค้นและแรงราคะของพระเจ้าจันทรคุปต์กับ ‘เจ้าหญิงนันทินี’ พระธิดาของ ‘พระเจ้านันทะ’ ศัตรูตัวฉกาจผู้สังหาร ‘พระเจ้าสุริยคุปต์’  พระบิดาและจับตัว ‘มุรา’ พระมารดาของพระองค์ไป จันทรคุปต์ได้รับความช่วยเหลือจาก ‘จาณักยะ’ พราหมณาจารย์ผู้เก่งกาจในการวางแผนยึดบัลลังก์คืน ต่อมาพระองค์ได้เสกสมรสกับ ‘พระนางเฮเลน่า’ ธิดาของกษัตริย์เซลูคัส นิคาเตอร์ แห่งอาณาจักรกรีก และมีพระโอรสกับ ‘พระนางทูรดารา’ คือ ‘พินทุสาร’ หรือ ‘พระเจ้าพินทุสาร’ กษัตริย์องค์ต่อไปแห่งราชวงศ์เมารยะ

น่าสนใจว่าซีรีส์เรื่อง “จันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์” กวาดเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่ออกอากาศตอนแรกทางช่องสตาร์พลัสในอินเดีย จากการนำแสดงของ ราจาต โทกัส (Rajat Tokas) นักแสดงหนุ่มที่กวาดรางวัลมาแล้วทุกเวทีใหญ่ในอินเดีย เจ้าของรางวัลดาราขวัญใจประชาชนฝ่ายชาย และชวีตา บาสุ ปราซาด (Shweta Basu Prasad) ดาวรุ่งหญิงรางวัลดาราขวัญใจประชาชนฝ่ายหญิง ร่วมด้วย สิทธัตถะ นิกัม (Siddharth Nikam) นักแสดงเด็กดาวรุ่ง ผู้เคยรับบทพระเจ้าอโศกมหาราชตอนเด็ก และ มาโนจ คอลฮาตการ์ ผู้รับบทพราหมณ์ปุโรหิตจอมวางแผนคู่พระทัยพระเจ้าจันทรคุปต์

ด้วยองค์ประกอบของทีมนักแสดงระดับมือรางวัล บวกกับทีมผู้สร้างระดับบอลลีวู้ดที่จัดเต็มเนรมิตฉาก คอมพิวเตอร์กราฟิก และสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ภายใต้การอำนวยการสร้างโดย เอคตา คาปัวร์ ผู้จัดมือฉมังที่เคยฝากผลงานซีรีส์สุดโด่งดังเรื่อง “นาคิน” มาแล้ว เมื่อมาถึงเมืองไทย “คุณแอน” จึงต่อยอดความปังให้ผู้ชมคนไทยได้ ‘เสพติดทางสายตา’ ตามสูตรมาตรฐานของ JKN

“เราโฟกัสที่ Story นั่งดูแล้วติด เหมือนเราขายยาเสพติดทางสายตา พอคัดเลือกเรื่องมาแล้ว เราก็จะนำมาทำ Localization คือแปลเป็นภาษาไทยและพากย์ไทย เราเน้นงานคุณภาพ ชื่อตัวละคร ชื่อสถานที่ ภาษาที่ใช้ ต้องเป๊ะทุกคำ เคยมีบางเรื่องที่ทำเสร็จแล้วก็ยังขอรื้อใหม่ แปลใหม่ พากย์ใหม่ทั้งเรื่องก็มี นอกจากแปลบทแล้ว เพลงประกอบละครก็สำคัญ ทุกเรื่องเราจะทำเพลงใหม่ให้นักร้องมืออาชีพร้อง อย่างเรื่องจันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์ ก็เป็นเพลง “ยอมหมดใจ” ร้องโดย มาเรียม B5”

จัดเต็มขนาดนี้ ก็ต้องติดตามว่า “จันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์” จะสร้างปรากฏการณ์ปลุกเรตติ้งช่วงไพรม์ไทม์ยามค่ำของช่อง 13 ได้ร้อนแรงขนาดไหน แต่ที่ร้อนแรงข้ามประเทศล่วงหน้าไปแล้วก็คือซีรีส์มหาสงครามในประวัติศาสตร์อินเดียเรื่อง Porus ศึกสองราชันย์” ละครฟอร์มยักษ์โปรดักชั่นเทียบเท่าฮอลลีวู้ดที่กำลังออกอากาศอยู่ในขณะนี้ทั้งในประเทศอินเดียและทางเวิร์คพอยท์ ช่อง 23

เพราะในงาน “ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนลฟิล์มมาร์ท” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา JKN ได้ไปร่วมเปิดบูธขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ประกอบด้วย ซีรีส์อินเดีย 3 เรื่อง ได้แก่ Porus ศึกสองราชันย์, Prithvi Vallabh วัลลภ มหากษัตริย์ชาตินักรบ และ Ganesha ไอยรามหาเทพ และภาพยนตร์สารคดีจากโปรเจ็กต์ JKN Originals อีก 3 เรื่อง รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ประเภทละครไทยของช่อง 8 จำนวน 7 เรื่องจากที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 47 เรื่อง

ปรากฏว่าซีรีส์โปรดักชั่นพันล้านเรื่อง Porus ศึกสองราชันย์ ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ทำสถิติขายดีถล่มทลายเป็นอันดับหนึ่ง

“ในปีนี้ JKN ตั้งเป้าออกบูธขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ตามงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ 4 งาน ครอบคลุมทั่วโลกทั้งเอเชียและยุโรป และต้องการขยายไปยังกลุ่มประเทศใน CLMV หรือลาว กัมพูชา เวียดนามและเมียนมา รวมถึงตลาดใหม่ๆ เช่น บรูไน มาเลเซีย ที่มีความนิยมประเภทลิขสิทธิ์คอนเทนต์คล้ายคลึงกับคนไทย โดยคาดว่าจะทำยอดขายได้ประมาณ 120 ล้านบาท ไม่รวมส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้แก่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล” คุณแอนกล่าว