‘TOG’ เลนส์ไทย ท้าชน 3 บิ๊กเลนส์โลก ทุ่ม 600 ลบ. พุ่งเป้า Top10 ตลาดโลก

6656

‘TOG’ ธุรกิจเลนส์สายตาสายพันธุ์ไทย เคลียร์วิสัยทัศน์ชัดเจน ขอติดอันดับท็อป 10 ผู้ผลิตเลนส์อิสระในตลาดโลกแข่งกับบิ๊กทรี “เอสซีลอร์-โฮย่า-ไซสส์” หลังได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคล ก็เดินหน้าขยายการลงทุน โดยทุ่มสุดตัว 600 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตเลนส์เฉพาะบุคคล “RX AUTOMATION” เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากเยอรมัน

“เราอยากเป็นผู้ผลิตเลนส์อิสระชั้นนำของธุรกิจเลนส์สายตาเฉพาะบุคคลในตลาดโลก”

ธรณ์ ประจักษ์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TOG มองอนาคตธุรกิจผ่านเลนส์ RX ธงนำผืนใหม่ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการ

TOG เป็นบริษัทรายแรกในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจผลิตเลนส์สายตาให้กับผู้ค้าส่งทั้งในและต่างประเทศ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2505 จากจุดเริ่มต้นร้านจำหน่ายแว่นตาเล็กๆ ในกรุงเทพฯ ปี 2494 เวลาผ่านไป 67 ปี

ปัจจุบัน TOG เป็นผู้ผลิตเลนส์อิสระ ที่จำหน่ายไปทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ

โดยยอดขายหลักมาจาก ยุโรป 43.5%  ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 35.5%  เอเชียแปซิฟิก 16.4%  อเมริกา 4.2%  ตะวันออกกลางและแอฟริกา 0.4% (ตัวเลขรายได้ในไตรมาส 3 ปี 2560)

แต่ทุกวันนี้ตลาดเลนส์สายตาระดับโลก จะถูกผูกขาดโดย 3 บิ๊ก ได้แก่ เอสซีลอร์ จากฝรั่งเศส, โฮย่า จากญี่ปุ่น และไซสส์ จากเยอรมัน  ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า 60% ส่วนที่เหลือราว 40% จะเป็นการแข่งขันแบ่งเค้กกันระหว่างผู้ผลิตเลนส์อิสระนานาชาติ มีผู้เล่นประมาณ 100 ราย

เป้าหมายของ TOG จึงมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตเลนส์อิสระ 10 อันดับแรกของตลาดโลก โดยมีการยกระดับมาตรฐานการผลิต คุณภาพของสินค้าและบริการ ให้เทียบชั้นกับบิ๊กทรี สร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ค้าส่งที่ต้องการแหวกวงล้อมจากการผูกขาด

“เราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเลนส์อิสระ ที่พยายามสร้างตลาด จนได้รับการยอมรับทั้งคุณภาพและราคา แต่ด้วยการแข่งขันที่บรรดายักษ์ใหญ่เข้ามาเบียดตลาดเต็มที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เราทำการลงทุนขยายโรงงาน 600 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตเลนส์เฉพาะบุคคล RX Automation โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก 400 ล้านบาท และเฟสสอง 200 ล้านบาท พร้อมวางโครงสร้างอุตสาหกรรม 4.0 เน้นไอทีเข้ามาใช้มากขึ้น บริหารต้นทุนการผลิต เพื่อให้เราแข่งขันกับรายใหญ่ของโลกได้” ธรณ์กล่าว

ในปีนี้ TOG จะเริ่มปรับสัดส่วนการทำตลาดในประเทศ เพิ่มจาก 5% เป็น 15% และลดสัดส่วนตลาดจากต่างประเทศลงจากเดิม 95% เหลือ 85% เพราะมองเห็นแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น

โดยในปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย จะมีประชากรสูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าประชากรวัยเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ พอเข้าสู่ปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 20 ล้านคน หรือประมาณ 30.7% ปัจจัยนี้ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะกลุ่มจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเลนส์สายตายาวและกลุ่มโปรเกรสซีฟเลนส์จะเป็นหนึ่งในสินค้าหลักที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ว่าตลาดรวมเลนส์สายตาในประเทศไทย มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยนับรวมเลนส์ทุกประเภท ได้แก่ เลนส์สายตาพลาสติก (Organic Lens) เลนส์สายตากระจก (Mineral Lens) เลนส์เฉพาะบุคคลหรือเลนส์สั่งฝนพิเศษ และบริการอื่นๆ เช่น บริการตัดประกอบ  แต่อัตราการเติบโตของตลาดเลนส์แว่นตาไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะการตัดแว่นตาแต่ละครั้ง มีอายุการใช้งานนาน อย่างไรก็ดี หลังจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น จนกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ก็จะทำให้ความต้องการใช้งานเลนส์สายตาก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

สำหรับ TOG นอกจากรับจ้างผลิตแล้ว บริษัทยังผลิตในแบรนด์ของตัวเองอีก 11 แบรนด์ด้วยกัน คือ TOG, Excelite®, ONE, DISCOVERY, FREEDOM, MAXIMA, SHADE, TRIVEX, LEAFECO, BLULOC และ ZAPHIRE โดยวางตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าแยกตามประเภทของผลิตภัณฑ์

โดยตลาดในประเทศ TOG ที่ผ่านมาจะเน้นทำตลาด B2B (Business to Business)  ผ่าน “ร้านหอแว่น” และตัวแทนค้าส่ง รวมกัน 400-500 ราย จำหน่ายเลนส์แว่นตา ราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท มีคู่แข่งหลักคือ เอสซีลอร์ ที่พยายามเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น โดยปัจจุบัน TOG มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% ขณะที่เอสซีลอร์มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในราว 50% จากตลาดรวม 3,000 ล้านบาท

แต่ในปีนี้ ด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ TOG หันมาทดลองทำตลาดอีคอมเมอร์ซในลักษณะแพลทฟอร์มร่วมกับร้านประกอบแว่นตา เนื่องจากแว่นตาเป็นสินค้าเฉพาะตัวที่ลูกค้ายังจำเป็นต้องมาที่ร้านตัดแว่นเพื่อวัดค่าสายตา หลังจากนั้นทางโรงงานจะสั่งฝนพิเศษเฉพาะบุคคล และส่งไปให้ลูกค้าถึงบ้าน ในกรณีที่มีกรอบแว่นตามาพร้อมอยู่แล้ว โดยที่ลูกค้าไม่ต้องไปรับสินค้าที่ร้าน

โดยกรรมการผู้จัดการ TOG กล่าวว่า  TOG มีพื้นฐานดำเนินธุรกิจแบบ B2B จับตลาดค้าส่ง มาตลอด การขยายตลาดมาทำ  B2C(Business to Consumer)  จับตลาดค้าปลีก จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน  ดังนั้นการขยับมาหาตลาดอีคอมเมอร์ซ หรือเรียกว่าเป็นค้าปลีกแบบไฮบริด จึงถือเป็นการวางรากฐานการทำธุรกิจแบบ B2C รองรับอนาคตอันใกล้ ที่ลูกค้านิยมสั่งซื้อสินค้าและบริการให้ไปส่งที่บ้านมากขึ้น โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ยังต้องใช้เวลาปรับปรุงอีกพอสมควร

ด้านตลาดต่างประเทศ แม้ตามแผนธุรกิจจะมีการลดสัดส่วนรายได้ลง แต่ก็ยังไม่ตลาดใหญ่ของ TOG  ธรณ์กล่าวว่า โอกาสทางธุรกิจของ TOG ในตลาดโลกยังมีอีกมาก เพราะสังคมผู้สูงอายุเป็นเทรนด์ใหญ่ที่เริ่มส่งผลในหลายประเทศ สำหรับในย่านเอเชีย ตลาดญี่ปุ่น และเกาหลี เห็นแนวโน้มนี้เด่นชัดมาหลายปีแล้ว และประเทศไทยก็ตามมาติดๆ

ขณะที่อีกตลาดสำคัญคือ กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ที่หากมองสัดส่วนรายได้ของ TOG ในภูมิภาคนี้ ที่มีเพียง 16.4%  ก็เป็นโอกาสที่บริษัทจะผลักดันยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น จากการทุ่มเงินก้อนโตยกระดับมาตรฐานการผลิตทั้งระบบ  ปรับมาตรฐานสินค้าให้เทียบเท่าระดับโลก

ในปีนี้ ธรณ์ตั้งเป้ารายได้ของ TOG มีแนวโน้มการเติบโตไม่น้อยกว่า 7-8%  แต่เป้าหมายต่อไป คือการเป็น TOP 10 ในตลาดผู้ผลิตเลนส์อิสระของโลก  ก็คงเป็นความท้าทาย ที่เขาเชื่อมั่นว่า จะไปถึงแน่นอน  

 

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า(ประเทศไทย)  จำกัด วิเคราะห์หลักทรัพย์ TOG  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแนะนำให้ “ซื้อ” โดยมี 4 เหตุผลสำคัญ คือ   1) ตลาดเลนส์กลับมาโตในอัตราเร่ง หนุนจากสังคมผู้สูงอายุ และ Social network โดยเลนส์ Hi-end มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามเทรนด์ใส่ใจสุขภาพและกำลังซื้อที่มากขึ้น  2) แผนลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี กับเลนส์เฉพาะบุคคล สอดรับกระแส Hi-end หนุนกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย +79%  3) คาดกำไรปกติปี 2561 ทุบสถิติใหม่ที่ 334 ล้านบาท (+47% YoY) พร้อมเงินปันผลสูง 7% (SETHD ที่4%) และ4) เริ่มต้นคำแนะนำ “ซื้อ” โดยมีเป้าหมายที่10.60 บาท พร้อมโอกาสถูก Re-rate PER เทียบเท่าภูมิภาคที่ 24x จากการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย