“พฤทธิ์ บุปผาคำ” นักแก้วิกฤติ สร้างโอกาส ฟื้นรายได้ธุรกิจ “ไทยแลนด์ พริวิลเลจ คาร์ด”

4291

การเข้ามาทำหน้าที่บริหารธุรกิจที่ใกล้พังให้กลับมาทำ “กำไร-สร้างรายได้” คงไม่ค่อยมีนักบริหารคนไหนอยากเข้าไปทำหน้าที่นี้นัก แต่สำหรับ “พฤทธิ์ บุปผาคำ” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิลเลจ คาร์ด จำกัด ผู้ดำเนินงานโครงการ “บัตรไทยแลนด์อีลิทคาร์ด” เขาคนนี้ถือเป็นมือดี ที่การบินไทยส่งไปขจัดปัญหาธุรกิจที่ใกล้ปิดกิจการมาแล้วถึง 2 ครั้ง

จากการทำงานอยู่กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่นานกว่า 26 ปี ทำหน้าที่เป็นนักบินจนมาสอบแมเนจเม้นท์เทรนนี่ปี 2535 จนปี 2537 ก็ทำงานในส่วนของการหารายได้ให้บริษัทมาโดยตลอด สัมผัสกับธุรกิจการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งการบินไทยมักทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาตลอด เพราะมันเป็นธุรกิจที่เชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียว

และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวจากพ่อแม่พาลูกเที่ยวมาจนถึงยุคที่ลูกพาพ่อแม่เที่ยว ยุคก่อนๆ คนจะนิยมเที่ยวกับทราเวลเอเย่นต์ แต่ตอนนี้ลูกเข้าอินเทอร์เน็ต ถามกูเกิล แล้วหาที่เที่ยวที่พักเอง

ชีวิตการทำงาน 20 กว่าปีก็ยุ่งกับการทำงานหารายได้เลี้ยงบริษัท และบางประเทศที่ผมย้ายไปอยู่ พูดง่ายๆ เจ๊งแน่ๆ ก็ไปกอบกู้ เพราะสุดท้ายที่ผมไปเมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย ก็อยู่ในขั้นเจ๊งแน่ๆ ต้องปิดกิจการแน่ๆ ปัญหาก็คือ จะเอาอย่างไรกับตรงนั้น”

อีกธุรกิจหนึ่งที่มีปัญหาก็คือ ไทยแลนด์ พริวิลเลจ คาร์ด ที่เขานั่งบริหารอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต้องการคนมาช่วย เนื่องจากที่ผ่านมากิจการไม่แน่ชัดว่าจะทำอะไรกันแน่ จะหาลูกค้าเข้าใช้สิทธิประโยชน์ โดยเก็บเงินค่าสมาชิกกับเขา แต่ไม่รู้ว่าสิทธิประโยชน์เหล่านั้นอยู่ที่ไหน มีอะไรบ้าง ต้นทุนของบริษัทจึงปนกันเละเทะ จนกลายเป็นตัวเลขขาดทุน จนทำให้รัฐบาลสั่งปิดชั่วคราว

ถ้าเป็นธุรกิจอื่น เช่น การบิน หรือโรงแรม หรือร้านค้า ถ้าโอเปอเรชั่นขาดทุน มันก็ฟ้องอยู่ในกระแสเงินสดหรือบัญชี ว่าเราขาดทุนแน่ๆ ขณะที่ตรงนี้โอเปอเรชั่นขาดทุนแน่ๆ ถามว่าทำไม เพราะเก็บค่าเมมเบอร์ลูกค้าล้านหนึ่ง แต่เราให้เขาใช้สิทธิประโยชน์ได้ตลอดชีวิต หรืออาจจะ 30-40 ปี ก็ขึ้นกับสมาชิก ต้นทุนที่จะมาโอเปอเรทมันก็ไปแน่ๆ เหมือนกัน เจ๊งแน่ๆ”

  “พฤทธิ์ บุปผาคำ” ผู้จัดการใหญ่ ไทยแลนด์ พริวิลเลจ คาร์ด 

เมื่อได้รับหน้าที่ สะสางปัญหา “พฤทธิ์” ก็เข้ามาดูที่จุดเริ่มต้นจากสิ่งที่มองเห็น แล้วค่อยๆ สะสางปัญหาไปทีละเปราะ  โดยหัวใจหลักของการแก้ปัญหาของ “ไทยแลนด์ พริวิลเลจ คาร์ด” คือ การทำอย่างไรให้บริษัทมีรายได้

รายได้ในอดีตลูกค้าวอล์คอิน 70% ผ่านเอเยนต์ 30% ในขณะที่ลูกค้าคือต่างชาติทั้งหมด เพราะฉะนั้นภาพมันผิด ที่มาของรายได้มาไม่ถูกทาง ส่วนค่าใช้จ่ายก็พบว่ามีการตั้งค่าคอมมิชชั่นเกินจริง จากเป้าหมายรายได้ 350 ล้านบาท และยังมีรายจ่ายที่ไม่ใช่ตัวเลขจริงอีก เมื่อแก้ไขตัวเลขให้ตรงกับความเป็นจริง บริษัทก็เริ่มมีกำไร

อีกส่วนคือ ที่มาของรายได้ จากลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ การขายผ่านเอเย่นต์ให้มากขึ้น ให้เจ้าของภาษาไปคุยกันเอง ภาพก็เริ่มเปลี่ยนจากเดิม 70:30 แต่ 30 เพิ่มขึ้นมาเป็น 60% ก็คือ เพิ่มขึ้นเท่าตัว ปรับเปลี่ยนมุมมองและเปลี่ยนวิสัยทัศน์บริษัท เป็น “Simply Extraordinary Country Membership. Crafted for Friend of Thailand”

เป็นการบอกลูกค้าว่า “คุณในฐานะคนต่างชาติ พอมาเมืองไทย คุณก็จะได้เปลี่ยนสถานะไม่ใช่นักท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นผู้มาเยือนเท่านั้น แต่เป็นเพื่อนของคนไทย เป็นเพื่อนของประเทศไทย”  เป็นการยกระดับลูกค้าขึ้นมาอีก แล้วสร้างโปรดักส์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

หลังการปรับเปลี่ยน ปีที่ผ่านมาตั้งเป้ารายได้ไว้ 400 ล้านบาท สามารถปิดไปได้ที่ 680 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 70% และปีนี้ตั้งไว้กว่า 600 ล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท เพราะตอนนี้มีรายได้เกินกว่าเป้าแล้ว 30%

ความสำเร็จของแก้ไขวิกฤติ และแก้โจทย์ยากในแต่ละครั้ง “พฤทธิ์” บอกว่า มันต้องอยู่ที่วิธีคิดวิธีบริหาร ผู้บริหารต้องเข้าใจระดับล่างสุดถึงบนสุด มีปัญหาอะไร ติดขัดตรงไหน ก็เข้าไปช่วยกันแก้ งานมันก็จะเร็วขึ้น

นั่นคือวิธีคิดและที่มาของความสำเร็จในการบริหารคน บริหารงานของ “พฤทธิ์ บุปผาคำ”