โดย ไกรกิติ ทิพกนก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ก้องมหาสมุทร จำกัด และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรม KCTA “สุดยอดนักบริหาร นักจัดการรุ่นใหม่ ”
ความขัดแย้งในสังคมไม่ว่าจะมีสาเหตุอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ได้แสดงออก หรือรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม
ผลลัพธ์ของความขัดแย้งนั้นมีหลายมิติ มีทั้งการบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้น ไปจนการค้นพบสัจธรรมความจริงที่นำเราสู่อารยะ
โดยทั่วไปแล้ว ความขัดแย้งนั้นจะเกิดขึ้นจากลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ
- การขาดแคลน ซึ่ง ในที่นี้หมายรวมถึงสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ และมองเห็นไม่ได้ เช่น ทรัพยากร บุคคล เงิน วัสดุ ตำแหน่งหน้าที่ เกียรติยศ และสถานภาพที่ดำรงอยู่
- แสวงหาอำนาจ ความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือกลุ่มคนแสวงหาทางที่จะควบคุมกิจการงานหรือ อำนาจ ความขัดแย้งนี้เป็นผลมาจากการก้าวก่าย ในงาน หรือ อำนาจหน้าที่ของบุคคลอื่น
- อัตตา ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ เกี่ยวกับ เป้าหมาย หรือวิธีการในการทำงาน ต่างคนต่างก็มีเป้าหมาย วิธีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้
เราพบว่า กระบวนการสำคัญที่สุดของการหาทางออกของความขัดแย้ง นั่นคือ การเปิดใจคุยกัน การเปิดใจคุยกัน ในที่นี้ไม่ใช้การโต้เถียงกัน แต่ใช้การตั้งใจฟังที่ไม่มีอารมณ์เข้ามาเป็นตัวป่วนตัวแปร เป็นการฟังเพื่อให้เกิดสติปัญญา คือ เกิดความรู้ใหม่ เกิดความรู้สึกตัว เกิดจิตสำนึกใหม่ อยู่ตามความจริงตามธรรมชาติ ซึ่งเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ สอดคล้อง แล้ว พูดคุยโต้ตอบ แบบที่เรียกว่า “สุนทรียสนทนา” การพูดคุยที่มุ่งหมายให้ เกิดปัญญา เป็นอิสระ มีความสุข มีความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์
แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ การครุ่นคิดว่าเราจะสามารถนำผลลัพธ์ของ “สุนทรียะสนทนา” ที่เกิดขึ้นแล้วมาใช้ สร้างเงื่อนไขใหม่ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศได้อย่างไร เมื่อใด และควรอยู่ในบรรยากาศใด ที่จะทำให้ความขัดแย้งนั้นไม่กลับมา และไม่เป็นชนวนแห่งความขัดแย้งอีกต่อไป
ดังนั้น กระบวนการตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการเพียงสร้างบริบทของการให้อภัยกัน การลงโทษ การขอโทษ การชดเชยความเสียหาย การให้โอกาสคู่ขัดแย้งกลับมาสู่สังคม การบอกเล่าความจริง หรือการให้เกียรติเท่านั้น
แต่ต้องเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่ “เคยขัดแย้ง” กันจะได้มองอนาคตร่วมกัน และลงมือสร้างอนาคตร่วมกัน ไปจนถึงการร่วมปฏิรูปโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้สัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ซึ่งกระบวนการนี้ ผมเสนอไว้สองประการ ดังนี้
1.การสร้างเวทีให้ คู่ที่ “เคยขัดแย้ง” กัน ได้มีโอกาสมีการพูดถึงอนาคต “Shared Future” ร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นว่าเราทุกคนมีทางพอที่จะไปด้วยกัน เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายคุยกันจนมีความเห็นร่วมกันว่าเราจะไปตรงไหน และ อนาคตเราจะเป็นอย่างไร
- สนับสนุนให้ คู่ที่ “เคยขัดแย้ง” มีโอกาสสร้างกิจกรรมแห่งการแบ่งปัน “Shared Activities” ร่วมกัน หมายถึง การสร้างกิจกรรมดีๆ ที่ให้แต่ละคนได้มี “บทเด่น” ในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมสู่อนาคตที่ดีด้วยตัวเขาเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงาม เพื่อจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง (Self Transformation) ให้ดำรงตนด้วยพฤติกรรมเชิงบวก มีการเคารพซึ่งกันและกัน เป็นบรรยากาศที่สร้างสรรค์ เพื่อความสุข สันติ และสมานฉันท์ ของคนในสังคมในทุกระดับสังคม
ทั้งสองสิ่งนี้ คือตัวเร่งปฏิกิริยา ในเกิดบรรยากาศของความสุขและ ”สังคมแห่งการแบ่งปัน” อันเป็นพื้นฐานในสร้าง”อนาคตที่ดีของประเทศ”
ด้วยความเชื่อที่ว่า “อนาคตที่ดีงามจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรารักและปรารถนาดีต่อกัน เรียนรู้ที่จะแบ่งปันให้แก่กัน” ทำให้เมื่อไหร่ที่เราต้องการก้าวข้ามปัญหาและความขัดแย้ง เราต้องมองเห็นอนาคตร่วมกัน ลงมือทำงานร่วมกัน มีน้ำใจแบ่งปันกันและกัน สื่อสารกันและกันทุกระดับอย่างต่อเนื่อง และอย่าเร่งรัดเวลา เพราะอนาคตที่ดีเร่งรัดไม่ได้ แต่สร้างได้
ทิศทางของประเทศที่จะไปต่อจากนี้ ผมเห็นว่าเราต้องมองอนาคตร่วมกัน Shared Future ร่วมกัน และ ทำดี Shared Activities ร่วมกัน มาร่วมสร้างอนาคตด้วยกัน ผ่านกิจกรรมสังคมแห่งการแบ่งปันด้วยกันนะครับ
ขอขอบคุณภาพจาก elearningindustry.com, iaspaper.net และ monipag.com