เปิดวิชั่น “ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา” เราคืองานมอเตอร์โชว์ระดับโลก

15831

ในวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายนนี้  ก็จะถึงเวลาของมหกรรมยานยนต์ประจำปี รายการใหญ่ที่สุดของเมืองไทย  “The 39TH Bangkok International Motor Show 2018” ซึ่งจัดโดย บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)  ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

วันนี้ Bangkok International Motor Show ไม่ได้เป็นแค่งานแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่นี่คือมอเตอร์โชว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นมอเตอร์โชว์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดรายการหนึ่งของโลก

ทั้งหมดเกิดจากแนวคิดและการทำงานมาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษของผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทยก้าวมาถึงวันนี้ได้

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล  หรือ GPI

ที่น่าแปลกใจคือ งานมอเตอร์โชว์ส่วนใหญ่ของโลกเกือบทุกประเทศจะจัดโดยสภาอุตสาหกรรมหรือกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศนั้นๆ แต่ในประเทศไทยกลับกลายเป็นบริษัทสื่อรถยนต์ของ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ที่เป็นผู้สร้างงานนี้ให้เติบโตขึ้นมาเทียบชั้นระดับโลก พร้อมสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทยมาตลอด 4 ทศวรรษ

วิสัยทัศน์และแรงขับเคลื่อนของ ดร.ปราจิน คืออะไร?

 

ย้อนอดีตจุดเริ่มต้น Bangkok International Motor Show

                 “ผมเป็นคนชอบฉวยโอกาส  แต่เป็นโอกาสที่ผมสร้างขึ้นเอง”

หนุ่มศิลปะดีกรีจากเพาะช่างได้มีโอกาสไปทำงานกับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ผู้ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักดีคือ ปทานุกรมนักเรียน และพจนานุกรมฉบับ เปลื้อง ณ นคร  ที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช คลุกคลีกับการทำหนังสือจนได้รับงานทำสูจิบัตรงานแข่งรถจักรยานยนต์ ทำให้เกิดความสนใจในเรื่องยานยนต์ และได้ผันตัวกลายเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Sport Speed World ตั้งแต่อายุ 23 ปี

ดร.ปราจินเป็นนักสร้างโอกาสเพื่อฉกฉวย ตั้งแต่สมัยเป็นนักข่าว เมื่อต้องเดินทางไปทำข่าวการแข่งขันแรลลี่ First Asian Highway Rally” เพื่อโปรโมตเส้นทางเชื่อมต่ออาเซียนเส้นแรก จากลาวมาถึงไทยเข้าสู่มาเลเซีย และสิ้นสุดที่สิงคโปร์ เขามีความคิดว่าถ้าเพียงไปทำข่าวก็หมายถึงจะเป็นผู้ตามการแข่งขันไป แต่หากสมัครเป็นผู้แข่งขันเสียเอง นอกจากจะได้ข่าวแล้วยังได้อยู่ในเหตุการณ์จริงด้วย

“ผมคิดเอาไว้แล้วก็ฉกฉวย ผมเป็นคนสร้างโอกาสไว้ฉวย ไม่ใช่เป็นคนฉวยโอกาสที่คนอื่นสร้าง และถ้าเราสร้างโอกาสไว้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะมีมา พอเราสมัครลงแข่ง รถมีทั้งหมด 170 กว่าคัน ผมชนะเลิศเป็นที่ 1ในรุ่น 1300 ซีซีที่ลงแข่ง และเป็นที่ 2 รุ่น Overall”

ชื่อของ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา จึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น และส่งผลให้เขาขยับตัวออกมาเปิดนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ในปีต่อมา

ชื่อเสียงของ ดร.ปราจิน ทำให้ค่ายรถยนต์ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นมีการเชิญให้ไปร่วมชมงานมอเตอร์โชว์ในต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ทำให้เขามองเห็นความยิ่งใหญ่และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ในต่างประเทศทั้ง เจนีวา มอเตอร์โชว์, ปารีส มอเตอร์โชว์, แฟรงเฟิร์ต มอเตอร์โชว์ จนถึงโตเกียว มอเตอร์โชว์

และด้วยการเป็นคนชอบอ่านหนังสือหาความรู้ ดร.ปราจิน ได้พบโอกาสสำคัญจากการอ่านหนังสือไกลบ้าน พระราชนิพนธ์ลายพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2450

ใจความตอนหนึ่งทรงเล่าว่า ประเทศสยามมีความล้าหลังกว่าประเทศในยุโรปถึง 20 ปี ทำให้พระองค์ทรงนำความเจริญต่างๆ ทั้งรถไฟ การไฟฟ้า การประปา การศึกษาเข้ามาสู่ประเทศ ไปจนถึงการสร้างถนนราชดำเนินเลียนแบบถนนฌอง อิลิเซ่ ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส

ทำให้ ดร.ปราจิน เกิดความคิดที่จะนำงานมอเตอร์โชว์มาสู่เมืองไทยบ้าง

หลังจากนิตยสารกรังด์ปรีซ์วางแผงมาได้ 8 ปี ดร.ปราจินก็เกิดแนวคิดที่จะจัดงานโชว์รถ ด้วยเหตุที่ต้องการหาข่าวมาลงในนิตยสารของตนเอง

“ผมจัดอยู่ครั้งหนึ่งที่ลานจอดรถสยามเซ็นเตอร์ นำรถมาโชว์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็เห็นความนิยมของคน ได้เงินค่าเช่าพื้นที่ไม่มาก แต่ได้ข่าว  เราทำหนังสือบางทีจะไปเอาข่าวชาวบ้านมาลำบาก เราต้องสร้างข่าวเอง ผมถึงต้องทำตัวเป็นโปรโมเตอร์จัดงานรถเองเพื่อสร้างข่าว และการที่เราเป็นโปรโมเตอร์จัดการแข่งขันรถด้วย เราก็ต้องศึกษาถึงการแข่งขัน ผมเลยได้เรียนรู้หมดทุกอย่าง เป็นความได้เปรียบของผม” ดร.ปราจินเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดโชว์รถ

และความนิยมของประชาชนที่เข้ามาดูรถทุกเสาร์-อาทิตย์นี่เองทำให้ดร.ปราจินมั่นใจที่จะจัดงาน “บางกอก มอเตอร์โชว์” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เวทีลีลาศ สวนลุมพินี  

วิวัฒนาการของบางกอก มอเตอร์โชว์

บางกอก มอเตอร์โชว์ครั้งแรกจัด 5 วัน ได้ค่ายรถทั้งยุโรปและญี่ปุ่นมาร่วมงาน อาทิ  บีเอ็มดับเบิลยู โตโยต้า นิสสัน โฟล์คสวาเก้น รวมถึงโชว์รถหรูอย่างเฟอร์รารี่จากเพื่อนๆ มาร่วมแสดงให้ตื่นตาตื่นใจ ซึ่งงานในครั้งนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงาน ได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับ ดร.ปราจินและผู้จัดงาน โดยค่าผ่านประตูในการจัดงานครั้งแรกได้มอบให้มูลนิธิดวงประทีปทั้งหมด

ต่อมากระแสตอบรับของจำนวนคนเข้าชมงานเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้นจึงได้ย้ายไปจัดงานที่สวนอัมพร ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น

บางกอก มอเตอร์โชว์ที่สวนอัมพรจัดขึ้นหลังงานกาชาด สร้างความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนไม่สามารถรองรับจำนวนผู้เข้าชมได้เพียงพอในอีก 18 ปีต่อมา

“ผมจัดที่สวนอัมพรอยู่ 18 ปี ความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 2-3 ปีสุดท้าย จนเกิดปัญหาเรื่องสถานที่ไม่เพียงพอ คนแน่นมากจนแทบเดินเข้าไปในงานไม่ได้ บางบูธรถจอดโชว์อยู่ มองแทบไม่เห็นรถ เห็นแต่คนมุงเต็ม ผมมองว่าปล่อยอย่างนี้ไม่ได้แล้วต้องหาสถานที่จัดงานที่ใหญ่ขึ้น”

ในปี 1998 บางกอก มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 19 จึงย้ายมาจัดที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค และต่อมาได้ย้ายมาจัดงานที่อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน เพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนผู้ชมมากขึ้นถึงหลักล้านคน

ดร.ปราจิน นักสร้างปรากฏการณ์

วันนี้บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ได้รับการยอมรับจากบริษัทค่ายรถต่างๆทั่วโลก และได้รับการรับรองจากสถาบันระดับโลก ทั้งที่ประเทศไทยไม่มีรถยนต์เป็นของตนเองแต่เป็นประเทศที่ประกอบรถยนต์ ล้วนเป็นเพราะการแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าของ ดร.ปราจิน

หนึ่งในการยอมรับสำคัญของนานาประเทศคือ การที่บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์เป็นงานเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน OICA (Organisation Internationale des Constructeurs d’Automobiles) ที่ให้การรับรองรายการมอเตอร์โชว์ทั่วโลก ยกระดับบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ให้ขึ้นเทียบชั้นกับงานมอเตอร์โชว์ชั้นนำของโลก

นอกจากนั้นมีการออกหนังสือ Annual Report ภายหลังจบงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ขณะที่งานมอเตอร์โชว์อื่นมีเพียงสูจิบัตรเท่านั้น โดย Annual Report เล่มนี้ได้รวบรวมภาพการจัดงาน ที่รวมเอาทุกองค์ประกอบของงานไว้ภายในเล่ม รวมถึงแบบที่ใช้อ้างอิงในการสร้างบูธและการออกแบบต่างๆภายในงานทั้งหมด ที่ ดร.ปราจิน ภูมิใจว่านี่คือสิ่งที่นำหน้างานมอเตอร์โชว์ทุกงานในโลก หลังจบงานจะมีการจัดทำและส่งออกไปยังกระทรวงต่างประเทศ สถานทูต และบริษัทรถยนต์ทั้งหมด เพื่อโชว์ศักยภาพของงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ออกไปยังทั่วโลก สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริหารค่ายรถยนต์เป็นอย่างมาก

สิ่งหนึ่งที่ดร.ปราจินสร้างในบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ คือเป็นผู้จัดประเทศเดียวในโลกที่มีการเชิญนักข่าวจากทั่วโลกมาทำข่าวในประเทศไทย เพื่อแสดงศักยภาพและความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขณะที่งานมอเตอร์โชว์ประเทศอื่น ค่ายรถยนต์จะเป็นผู้เชิญนักข่าว

และปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สุดของงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ที่ ดร.ปราจินทำให้เกิดขึ้น คือ ความเชื่อมั่นจากค่ายรถยนต์ในการทุ่มทุนการสร้างบูธของตนด้วยเงินลงทุนมหาศาล ดังตัวอย่างของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ใช้งบในการสร้างบูธถึง 80 ล้านบาท ขณะที่ค่ายอื่นก็มีการลงทุนหนักไม่แพ้กัน เพราะสิ่งที่เขาทำมาตลอด 39 ปีคือการกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ จนมีผู้ชมมากกว่าล้านคนทุกปี ทำให้บางกอก มอเตอร์โชว์ถูกจับตาจากค่ายรถทุกค่าย

“ปัจจุบันเราได้รับเกียรติ จากหลายบริษัทเลือกมาเปิดตัวรถพวงมาลัยขวาเป็นที่แรกในโลก ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล  มอเตอร์โชว์ ซึ่งผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกให้ความสนใจมาทำข่าวในงานเรา”

ดร.ปราจินแนะนำว่ามางานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์อย่าดูเพียงแค่รถ แต่ให้มองไปรอบๆ งานเพราะส่วนประกอบรอบข้าง โครงสร้างบูธ ไฟ หรือทางเดิน ล้วนมีการลงทุนที่สูงกว่าราคารถแทบทุกบูธ

ความสำเร็จของบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ยังได้รับการยอมรับจากทุกประเทศในอาเซียน ถึงกับมีการเสนอให้บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์เป็นงานมอเตอร์โชว์ของอาเซียน

 

 

ปัจจุบัน บมจ.กรังด์ปรีซ์ได้เข้าไปเป็นผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ในเมียนมา และมีแผนที่จะขยายเป็นผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ในประเทศอื่น ขณะที่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บริษัทฯ ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการจัดงาน เหล่านี้ล้วนยืนยันความสำเร็จที่สะท้อนมาจากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ทั้งสิ้น

ถึงวันนี้บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ผ่านมาถึงปีที่ 39 ดร.ปราจินกล่าวว่า “คงไม่มีสิ่งใดที่จะให้พิสูจน์อีกต่อไป มอเตอร์โชว์คือดัชนีชี้วัดถึงความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศนั้นๆ“

และความเจริญรุ่งเรืองของบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ก็เกิดมาจากวิสัยทัศน์และการขับเคลื่อนของคนๆ นี้

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา