เผยเคล็ดลับ“เด็กจบใหม่” เตรียมตัวสัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน

1985

การแข่งขันในตลาดงานปัจจุบันมีสูง รวมถึงมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตป้อนเข้าอุตสาหกรรมมากมาย ซึ่งเด็กๆ เหล่านั้นยังไม่มีประสบการณ์เลย จึงต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร Mr.362degree ได้เรียบเรียงข้อมูลจาก “แมนเพาเวอร์ กรุ๊ป” ผู้นำด้านการจัดการแรงงาน โดยจะให้คำแนะนำสิ่งสำคัญที่บัณฑิตป้ายแเดงต้องรู้  

เพื่อให้การเตรียมพร้อมในการก้าวเข้าสู่ตลาดงานของเด็กจบใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะหลักเกณฑ์ของแต่ละองค์กรและตำแหน่งงาน มีความแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทธุรกิจ  นอกจากการทดสอบความรู้เชิงเทคนิค หรือความรู้ในงานด้วยแบบทดสอบต่างๆแล้ว  สิ่งแรกคือ การค้นหาตัวตนจากการสัมภาษณ์  สิ่งที่สอง เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกับคนอื่น  และการเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรแต่ละแห่ง  เรื่องทัศนคติจึงสำคัญว่าเป็นอย่างไร

ทั้งหมดนี้นิสิตจบใหม่ควรต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทไปล่วงหน้า

โดยเทคนิคง่ายๆสำหรับการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานสำหรับเด็กจบใหม่มีดังนี้

1.รู้จักอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ เมื่อคุณถูกเรียกสัมภาษณ์งาน  แม้ว่าผู้สัมภาษณ์งานจะดูเป็นกันเองอย่างไร อย่าได้หลงแสดงพฤติกรรมเหมือนเพื่อน หรือพูดหยอกล้อเด็ดขาด ขอให้รักษากิริยาอ่อนน้อมไว้ตลอดการสัมภาษณ์ และท่องเอาไว้ด้วยว่าผู้สัมภาษณ์ที่อยู่ตรงหน้านั้นกำลังจ้องมองพฤติกรรมของคุณอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปประเมินนั่นเอง

2.ตอบคำถามตรงไปตรงมาตามความคิดของตัวเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้การรักษาน้ำใจผู้สัมภาษณ์ด้วย เพราะการพูดตรงไปตรงมานี้จะทำให้คุณพูดได้ฉะฉานขึ้นโดยอัตโนมัติ และสามารถอธิบายเหตุผลกับการสนับสนุนความคิดนั้นได้

ดังนั้น อย่าพยายามตอบคำถามที่เอาใจผู้ฟังมากเกินไปจนสวนทางกับความคิดของตัวเอง เพราะถ้าหากคุณโดนถามต่อละเอียดลึกลงไป อาการพูดตะกุกตะกักเพราะ “ไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง” จะเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ อย่าคิดว่าผู้สัมภาษณ์ดูไม่ออก

3.อย่าอวดเก่ง หรือแสดงท่าทีมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากเกินไป ประเภทการคุยโวโอ้อวดถึงความสามารถที่ตัวเองมี และเปรียบเทียบว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยผ่านการทำงานมาเลยนั้น มักจะตกสัมภาษณ์มานักต่อนักแล้ว

เพราะสิ่งนั้นแสดงถึงความอวดเก่ง ความมั่นใจในตัวเองเกินไป ซึ่งคนประเภทนี้มีแนวโน้มว่าจะยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นได้ยากเสียด้วย

4.เรียกเงินเดือนให้เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า คุณต้องไม่เข้าข้างตัวเองเกินไปด้วยและถ้าเป็นไปได้ ควรสอบถามพูดคุยกับรุ่นพี่ หรือคนที่เคยทำงานนี้มาก่อนว่าเงินเดือนที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่เท่าไร

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ควรยืดหยุ่นในเรื่องจำนวนเงินไว้บ้าง แม้จะน้อยกว่าที่คาดหวังนิดหน่อย แต่หากงานนั้นเป็นงานที่อยากทำและตรงตามความสามารถแล้ว ลองเข้าไปสัมผัสและเก็บประสบการณ์ เมื่อได้พัฒนาศักยภาพ ความสามารถที่เก่งขึ้นคุณจะได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเอง

5.ระวังเรื่องการตอบไม่ตรงคำถาม หรือการพูดออกนอกประเด็น เมื่อถูกตั้งคำถามที่ตอบได้เพียงว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่  ขอให้ตอบไปสั้น ๆ ตามนั้น และหากมีคำถามอื่น ๆ ที่เป็นคำถามเปิด อย่าตอบเรื่อยเปื่อยไม่มีทิศทาง

ซึ่งแน่นอนว่า ผู้สัมภาษณ์อาจจะฟังคุณและพยักหน้าตามจนคุณพูดจบได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะประเมินคุณผ่าน จริงไหม?

6.อย่าแสดงอาการประหม่า จนพูดอะไรไม่ถูก  หลายคนรู้สึกกลัวคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ยังไม่ถาม คิดไปก่อนแล้วว่ามันอาจจะยากจนตอบไม่ได้ ขอให้สลัดความคิดนี้ออกไป เพราะมันจะทำให้คุณประหม่า และตอบคำถามต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนรู้สึกเสียดายเมื่อการสัมภาษณ์สิ้นสุดลงแล้ว

ดังนั้น ก่อนสัมภาษณ์ขอให้ตั้งสติดี ๆ และอย่ากดดันตัวเองระหว่างการสัมภาษณ์ แม้ว่าบรรยากาศจะชวนให้รู้สึกอย่างนั้นก็ตาม ขอให้ปล่อยทุกอย่างดำเนินไปอย่างผ่อนคลาย ถ้าคำถามไหนตอบได้ไม่ดีนัก ก็ตั้งสติตอบคำถามต่อไปดีกว่า

สนามแข่งขันของการจะเริ่มต้นทำงานของน้องๆ  บัณฑิตป้ายแดงต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกด้านตั้งแต่ความรู้ ความสามารถ มารยาท มุมมอง ความคิดและทัศนคติ หากน้องๆ เตรียมตัวก่อนมั่นใจได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้วอย่างแน่นอน

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก YouTube