เมื่อ “ธรรมาภิบาล” คือส่วนหนึ่งของ “CSR”

4275

[362 CODE]

เมื่อ CEO บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีมูลค่าตลาดราว 20,000 ล้านบาท ถูกจับกุมกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พร้อมอาวุธและซากสัตว์ป่าหายาก ไม่เพียงแต่ประเด็นเรื่อง “ธรรมาภิบาล” จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในกลุ่มผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเพื่อดำเนินมาตรการที่เหมาะสมต่อไปเท่านั้น หากแต่สังคมก็อาจเคลือบแคลงใจถึงกิจกรรม CSR ในองค์กรต่างๆ ว่า แท้จริงแล้วเป็นความตั้งใจจริงหรือเป็นเพียงแค่หลักการสวยๆ เพื่อผลในการประชาสัมพันธ์

ในหนังสือ 80 วิสัยทัศน์ ถอดรหัสอนาคต” ของสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ มีบทสัมภาษณ์ สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ผู้ริเริ่มรณรงค์เรื่อง CSR เป็นกลุ่มแรกๆ ในประเทศไทยในนาม “เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” ที่กล่าวถึงหลักการ 7 ข้อของ CSR ซึ่งเชื่อว่าผู้รับผิดชอบงานด้านนี้ก็คงนึกไม่ถึงว่า “ธรรมาภิบาล” ก็เป็น 1 ใน 7 ข้อนี้ด้วยเช่นกัน      

ทำ CSR ด้วย Spirit อย่าทำเพราะเป็นมาตรฐาน

“ผมเคยเป็นประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN : Social Venture Network) อยู่ช่วงหนึ่ง SVN นี้มีเครือข่ายทั้งในอเมริกาและยุโรป เช่น Body Shop ที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ทดลองกับสัตว์ ไอศกรีม Ben and Jerry ซึ่งจะใช้วัตถุดิบที่เป็น organic มาใช้เท่านั้น ก็เป็นสมาชิกของ SVNในยุโรปและอเมริกาตามลำดับ

คำว่า CSR เริ่มต้นกระแสมาจากทางยุโรป ที่พูดถึงกันมาก นำไปปฏิบัติกันมากนั้น เพราะเมื่อทางตลาดยุโรปยอมรับหลักการของ CSR จึงนำไปจัดทำเป็นมาตรฐานซึ่งจะต้องถูกปฏิบัติกันทั้ง Supply Chain นี้ ที่เราทำการรณรงค์ก็เพื่อให้องค์กรต่างๆ ตระหนักในหลักการแนวความคิดของ CSR มากกว่าการทำเพื่อให้ผ่านมาตรฐานเพื่อการตรวจสอบเท่านั้น เพราะผลลัพธ์ที่ได้จะต่างกันเยอะ

นอกจากนั้น เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยังมีอีกโครงการหนึ่งคือโครงการแบ่งปัน ซึ่งเป็นโครงการจับคู่ทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) กับองค์กรธุรกิจ เพื่อลดช่องว่างระหว่าง 2 คู่ปรับนี้ แล้วทำงานร่วมกันเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในแต่ละเรื่องที่สนใจร่วมกัน”

หลัก 7 ข้อของ CSR

“CSR มีหลักการอยู่ 7 ข้อด้วยกันคือ 1) Good Governance ธรรมาภิบาล เรื่องของความโปร่งใส การปฏิบัติตามกฎหมาย ความซื่อสัตย์ 2) Human Right สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม 3) Employee Concern หรือ Labor Concern การดูแลคนในบริษัท 4) Consumer Concern การคำนึงถึงผู้บริโภค 5) Environment Concern ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 6) Fair Trade การค้าที่เป็นธรรม และ 7) Giving การบริจาคเป็นการคืนกำไรสู่สังคม

เราอยากบอกว่าภาระของ CSR จริงๆ อยู่ที่ 6 ข้อแรก ซึ่งเป็นนโยบายในการทำงานภายในองค์กรมากกว่าข้อ 7 ซึ่งเป็นการให้แบบคืนกำไรสังคม พูดง่ายๆ คือ “CSR สนใจวิธีการทำกำไรของธุรกิจ มากกว่าการคืนกำไรของธุรกิจ”

Credit : สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ผู้ก่อตั้งบริษัท วันเดอร์เวิร์ล โปรดัคส์ จำกัด เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 39 สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทยพอดี เขาจึงตัดสินใจทำธุรกิจของเล่นไม้เพื่อการส่งออก จนปัจจุบัน “วันเดอร์เวิร์ล” ถือเป็นแบรนด์ของเล่นไม้ชั้นนำในตลาดสากล ได้รับรางวัลของเล่นยอดเยี่ยมทั้งในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น และจากการทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศมากว่า 30 ปีนี้เองที่ทำให้สุทธิชัยสนใจนำแนวคิดของ CSR มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่อง CSR ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ กระทั่ง CSR ได้กลายเป็นภารกิจสำคัญขององค์กรส่วนใหญ่ในทุกวันนี้

หนังสือ 80 วิสัยทัศน์ ถอดรหัสอนาคต” ราคาเล่มละ 500 บาท ค่าจัดส่ง 50 บาทต่อเล่ม สั่งซื้อได้โดยโอนเงินเข้าบัญชีสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 052-1-27283-1 แล้วส่งหลักฐานการโอนพร้อมแจ้งชื่อที่อยู่ในการจัดส่งหนังสือไปที่ email : cupsaa6061@gmail.com หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมฯ โทรศัพท์ 02-2522325