คนไทยเสี่ยงบั้นปลายเป็นภาระสังคม ก.ล.ต.ชวนบริหารเงินออม ด้วยแอพฯ “Start to Invest”

1661

จากการคาดการณ์ว่า ในปี 2561 ที่กำลังจะมาถึง ประชากรไทยที่เป็นผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็กเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทำสถิติมา และภายในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ด้วยประชากรสูงอายุที่มีมากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ

แต่การรับมือสังคมผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ประชาชนทุกคนก็ควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือเมื่อตัวเองต้องเข้าสู่ภาวะสูงวัยอย่างมีความพร้อม ซึ่งหนึ่งในความพร้อมที่สำคัญคือ ความพร้อมทางด้านเงินออม

มีการวิเคราะห์กันว่า คนทำงานทุกคนหากต้องการใช้ชีวิตในวัยเกษียณโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจในด้านการเงิน จำเป็นต้องมีเงินเก็บในวันเกษียณ หรืออายุ 60 ปี ที่ 3 ล้านบาท โดยคำนวณว่า หากผู้นั้นใช้เงินที่เก็บนี้ดำรงชีวิตหลังเกษียณ โดยไม่มีรายได้อื่นเข้ามาเพิ่ม จะสามารถใช้ได้เดือนละ 10,000 บาท  ไปจนถึงอายุ 80 ปี

แต่ในความเป็นจริง รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ข้อมูลว่า คนในวัยเกษียณการทำงานส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการวางแผนการออมในระหว่างทำงาน  ทำให้มีเงินเก็บได้กันเพียงหลักล้านบาท หรือน้อยกว่านั้น สภาพเช่นนี้ทำให้คนสูงวัยส่วนใหญ่ ต้องกลายเป็นภาระให้กับสังคมเมื่อถึงวัยชรา

โดยปัจจัยสำคัญที่ เลขาธิการ ก.ล.ต. ชี้ว่าคนในวัยทำงานทุกคนต้องให้ความสำคัญ และใส่ใจที่จะบริหารให้เกิดรายได้ที่มากขึ้น เพื่อไปถึงเป้าหมาย 3 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) นั่นเอง

ตัวเลขสถิติของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)  ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 397 กอง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจำนวน 1.01 ล้านล้านบาท มีสมาชิก PVD ทั้งหมด 2,938,764 ราย เพิ่มขึ้น 1.1% และนายจ้างที่มี PVD จำนวน 17,093 ราย เพิ่มขึ้น 4.2% จากสิ้นปี 2559

ซึ่งตัวเลขที่น่าตกใจของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ  จำนวนสมาชิก PVD ที่มีอยู่ราว 3 ล้านคน คิดเป็นเพียง 20% ของลูกจ้างเอกชนทั้งระบบเท่านั้น นอกจากนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของ PVD ท้้งลูกจ้างและนายจ้าง ก็ไม่มีการสมทบเงินกองทุนเพียงพอ ส่วนใหญ่จะสมทบกันเพียงขั้นต่ำ 3%  ทั้งที่สามารถเลือกสมทบตามความต้องการได้สูงสุดถึง 30% ของเงินเดือน และฝ่ายนายจ้างก็ต้องจ่ายเงินสมทบให้เท่ากัน  ทำให้สุดท้ายเงินกองทุนไม่เพียงพอเมื่อถึงวันเกษียณ และส่วนสำคัญที่สุด คือสมาชิกไม่ได้สนใจที่จะนำเงินกองทุนไปเลือกลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น

                                                     รพี สุจริตกุล

เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

“คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนจะไปลงทุนอะไร ทั้งที่เป็นเงินแสน เงินล้าน  บางคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นเงินของตน  ทางฝ่ายผู้บริหารกองทุนก็ไม่กล้าที่จะนำเงินไปบริหารให้ได้มูลค่าสูงเช่น การลงทุนในหุ้น เพราะมีความเสี่ยง เลือกที่จะปลอดภัยด้วยการฝากธนาคาร หรือซื้อตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนน้อยมาก”

ซึ่งหนึ่งภารกิจสำคัญของ ก.ล.ต. คือการส่งเสริมและให้ความรู้สำหรับผู้ลงทุนให้ลงทุนอย่างมีคุณภาพ ตระหนักถึงการวางแผนการเงินและเลือกลงทุนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมคนวัยทำงานให้เตรียมพร้อมในเรื่องเงินออมให้เพียงพอ และออมให้เป็นเพื่อรองรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ

ก.ล.ต. จึงได้จัดโปรแกรมแนะแนวการลงทุนที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อาทิ โปรแกรม Suitability Test ช่วยวางแผนจัดสรรการลงทุน  โปรแกรม Retirement-Checkup สำหรับประเมินจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้หลังเกษียณ  รวมถึงให้ทดลองใช้และดาวน์โหลด mobile application “Start to Invest” เครื่องมือที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ สอดคล้องกับเป้าหมายของ ก.ล.ต. ที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ลงทุน ต้องการให้ผู้ลงทุนรู้จักทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย และเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุนประเภทต่าง ๆ ผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งยังมีคลิปความรู้การเงินการลงทุนที่นำเสนอให้เข้าใจง่ายอีกด้วย

นอกจากนี้ ก.ล.ต มุ่งให้ความรู้แก่กลุ่มนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องกับ PVD โดยกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการสะสม PVD ของสมาชิกเพื่อรองรับการเกษียณอย่างเพียงพอ และจัดทำเครื่องมือสำหรับอธิบายความสำคัญของ PVD เพื่อให้นายจ้างนำไปสื่อสารหรือให้ความรู้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่ง ควบคู่ไปกับการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการออม โดยออมให้พอ ออมให้เป็น และออมให้นาน

เลขาธิการ ก.ล.ต. ยอมรับว่า  การกระตุ้นให้คนทำงานสนใจการออม และการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดย ก.ล.ต. ก็ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรหลายแห่ง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ไปแล้ว แต่ในส่วนของนายจ้างที่จะเป็นกลไกลสำคัญในการแนะนำ และช่วยเหลือให้ลูกจ้างของตน มีการออม และการบริหารจัดการเงินกองทุน PVD ของตนให้เพิ่มมูลค่า ก็ต้องเป็นสำนึกที่องค์กรเอกชนจะลงมือช่วย เพราะ ก.ล.ต. คงไปสั่งการไม่ได้  นอกจากนี้ในส่วนของภาคธนาคารที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับลูกจ้าง  ก็ต้องให้ความรู้ในการบริการเงินกองทุน PVD ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการจะเน้นขายสินค้าของตน

เลขาธิการ ก.ล.ต. ตั้งเป้าหมายว่า การปรับตัวการทำงานให้ทันยุคด้วยการสร้างแอพพลิเคชั่น  “Start to Invest” ก็มุ่งหวังที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้เหมือนแอพพลิเคชั่นยอดนิยมสั่งซื้อสินค้า หรือสั่งซื้ออาหาร เพื่อที่ลูกจ้างทุกคนจะสามารถวางแผนการเงินของตน กำหนดเงินออมที่เหมาะสม และเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงอายุของตน เพื่อการสะสมเงินไปสู่เป้าหมายวันเกษียณ ให้มีเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตโดยไม่ต้องเป็นภาระของใคร

สำหรับผลงาน ก.ล.ต. ในรอบปีที่ผ่านมา นอกจากการส่งเสริมความรู้ให้ผู้ลงทุนแล้ว ได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่

1) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี โดย ก.ล.ต. มีนโยบายในการเปิดรับเทคโนโลยีฟินเทคเพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในยุคดิจิทัล

2) การสร้างมาตรฐานการกำกับดูแลที่เป็นสากลเตรียมความพร้อมสู่การประเมิน FSAP และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนทั่วโลก ออกเกณฑ์รองรับการระดมทุนของสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านพร้อมกับออกแนวปฏิบัติ CG Code และ I Code เพื่อยกระดับสินค้าในตลาดทุนไทยและคุณภาพผู้ลงทุนที่เน้นการกำกับดูแลกิจการที่ดี

3) การสร้างระบบนิเวศการกำกับดูแลให้มีความเป็นมืออาชีพทั้งในเรื่องของแนวปฏิบัติที่เหมาะสมของกรรมการบริษัทจดทะเบียน ที่ปรึกษาทางการเงิน ผลักดันการออกกฎหมายเพื่อพิจารณาลงโทษด้วยวิธีทางแพ่ง

4) การสร้างผู้ลงทุนที่มีคุณภาพโดยปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบ smart disclosure (5) การสร้างวัฒนธรรมขององค์กรให้เข้าใจระบบนิเวศในตลาดทุน และพัฒนาบุคลากรบนพื้นฐานของค่านิยม เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง