จากไทยสู่อาเซียน ถึงเอเชีย ก้าวใหญ่ของยักษ์ตลาดสี TOA

2014

วันแรกของการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับแบรนด์เจ้าตลาดสีทาอาคารในเมืองไทย ทีโอเอ จากราคาเริ่มต้นหุ้นละ 24 บาท  ปิดตลาด 32.50 เพิ่มขึ้น 35.42% ในวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯคึกคักรับการประกาศช่วงเวลาเลือกตั้ง ทะลุ 1,700 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีสำหรับก้าวเดินครั้งสำคัญของแบรนด์ทีโอเอ

ทีโอเอ ถือเป็นแบรนด์สีของคนไทย 100% โดยบังเอิญ จากจุดเริ่มต้น ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ชักชวนเจ้าของแบรนด์สี โตอะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจค้าขายกันมานาน ให้มาตั้งบริษัท ขยายธุรกิจสู่ประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ แทนการซื้อมา-ขายไปเหมือนที่ผ่านมา แต่ด้วยโตอะไม่มีนโยบายในการขยายธุรกิจออกนอกประเทศ ประจักษ์จึงตัดสินใจตั้งบริษัท และโรงงานผลิตสีทาอาคารขึ้นเอง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตสีจากประเทศญี่ปุ่น และใช้ชื่อ ทีโอเอ ซึ่งเขียนเหมือนกับ โตอะ นั่นเอง

ส่วนสำคัญที่ทำให้ทีโอเอ ก้าวมาสู่การเป็นผู้นำในตลาดสีทาอาคารเมืองไทย แม้ในตลาดจะมีผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศมากมาย คือการเป็นผู้นำนวัตกรรมเรื่องสีทาอาคารมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นผู้นำในการผลิตสีปลอดสารตะกั่ว เป็นรายแรกตั้งแต่ปี 2520  และยังแบรนด์แรกที่คิดค้นนวัตกรรมสีน้ำ อะคริลิค ที่ทนแดด ทนความร้อน ประหยัดพลังงาน  สีปลอดสารพิษที่ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์  รวมไปถึงการนำเครื่องผสมสีเข้ามาใช้ทนแทนการสต็อคถังสี ฯลฯ

ปัจจุบันทีโอเอ มีส่วนแบ่งตลาดสีทาอาคารในประเทศไทยอยู่ 48.7%  ทิ้งห่างอันดับ 2 และ 3 ที่มีส่วนแบ่งอยู่รายละราว 13% อยู่ไกล พิสูจน์เส้นทางความสำเร็จในรอบครึ่งศตวรรษของแบรนด์สีทีโอเอ ในประเทศไทย จากฝีมือประจักษ์ ตั้งคารวคุณได้เป็นอย่างดี

แต่เส้นทางต่อจากนี้ภายใต้การดูแลของเจเนอเรชั่นที่ 2  จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ที่นำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เขาตั้งเป้าหมายที่จะไปให้ไกลกว่าวันนี้อีกขั้น

นั่นคือการเป็นเจ้าตลาดอาเซียน!

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของทีโอเอ นี้  มีมูลค่าราคาตลาด หรือ Market Capitalization สูงถึง 48,696 ล้านบาท ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 507.6 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 24 บาท มูลค่าระดมทุน 12,182 ล้านบาท

จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การระดมทุนครั้งนี้ ทีโอเอมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ที่ปัจจุบันทีโอเอมีโรงงานผลิตสีอยู่ใน 8แห่งใน 6 ประเทศ ประกอบด้วย ในประเทศไทย 3 โรงงาน, เวียดนาม, สปป.ลาว, มาเลเซีย, เมียนมา และกัมพูชา ประเทศละ 1 โรงงาน มีกำลังการผลิต 88 ล้านแกลลอนต่อปี

โดยเงินลงทุนก้อนใหม่จากตลาดหลักทรัพย์นี้ ราว  1,184 ล้านบาท จะใช้ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ โรงงานผลิตแห่งแรกในอินโดนีเซีย เปิดดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 , โรงงานผลิตแห่งใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษละวา ประเทศเมียนมา ที่จะย้ายจากโรงงานเดิมในเมืองย่างกุ้ง  เปิดดำเนินการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 และโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ในกัมพูชา ที่คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561  เมื่อเปิดเครื่องดำเนินการผลิตได้ทุกโรงงาน จะทำให้ทีโอเอ มีกำลังการผลิตรองรับการจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนได้ถึง 102.5 ล้านแกลลอนต่อปี สามารถรองรับความต้องการได้ไม่ต่ำกว่า 5  ปี

จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)

จตุภัทร์กล่าวว่า หลังจากโรงงานผลิตแห่งใหม่ทั้ง 3 โรงงานเปิดดำเนินการได้ จะส่งผลดีต่อเป้าหมายการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสีในอาเซียนให้กับทีโอเอ โดยปัจจุบันทีโอเอ มีส่วนแบ่งอยู่ราว 13% จากการเข้าไปบุกตลาดมาราว 5-6 ปี แต่ในบางประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น อินโดนีเซีย ที่ยังไม่มีโรงงานทีโอเอ  ทำให้ต้องใช้การส่งสินค้าเข้าไปจำหน่าย มีต้นทุนการขนส่งเสียเปรียบแบรนด์อื่น ไม่สามารถทำราคาแข่งขันได้ ซึ่งเมื่อมีโรงงานเข้าไปตั้ง รวมถึงการขยายโรงงานทั้งเมียนมา และกัมพูชา ก็จะสามารถผลิตสินค้าหลากหลายให้กับตลาดต่างประเทศได้เช่นเดียวกับตลาดในเมืองไทย

“ตลาดอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากมีจำนวนประชาก่อนกว่า 250 ล้านคน และมีโอกาสในการเพิ่มยอดขายสีเกรดพรีเมียมได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเมียนมา และกัมพูชา ที่มีภาพรวมของเศรษฐกิจดี มีการขยายตัวสูงจากเงินลงทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน”

ปัจจุบัน ทีโอเอมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย ช่องทางจำหน่ายหลัก ประกอบด้วย ช่องทางผู้ค้าปลีกประมาณ 6,217 ราย ใน 77 จังหวัด ประมาณ 790 อำเภอทั่วประเทศ และมีผู้ค้าปลีกใน AEC (ไม่รวมประเทศไทย) อีกประมาณ 1,854 ราย ช่องทางธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และช่องทางอื่นๆ อาทิ งานโครงการ ส่งออก เป็นต้น รวมถึงมีเครื่องผสมสีอัตโนมัติ (Auto Tinting Machine) ที่ติดตั้งในร้านค้าปลีกและธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยจำนวน 4,140 เครื่อง และใน AEC อีก 1,791 เครื่อง ซึ่งสามารถสร้างเฉดสีต่างๆ ได้มากกว่า 10,000 เฉดสี ภายใน 3 นาที ช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างสรรค์เฉดสีได้ตามต้องการและเพิ่มโอกาสในการขาย

จตุภัทร์ ยังมั่นใจว่า แม้ในปีนี้เป้าหมายรายได้ของทีโอเอจะต่ำกว่าที่ตั้งไว้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ตั้งแต่ปีหน้า ที่โรงงานใหม่ทั้ง 3 แห่งในอาเซียน เริ่มเปิดสายการผลิต ตลาดต่างประเทศจะช่วยให้รายได้โดยรวมของทีโอเอ เติบโตปีละ 2 หลักได้ทุกปีแน่นอน และเชื่อว่าภายในเวลา 3-5 ปี ทีโอเอจะขยายส่วนแบ่งตลาดเอเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 18-20% ได้

แต่แน่นอนว่า ก้าวเดินครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของทีโอเอ ที่ยอมทิ้งภาพธุรกิจครอบครัว มาสู่การเป็นบริษัทของมหาชน เป้าหมายความสำเร็จในการเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน  คงเป็นแค่เป้าหมายเริ่มต้น

เพราะ ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ เคยตั้งโจทย์ไว้แล้วว่า วันหนึ่ง  ทีโอเอ จะต้องเป็นผู้นำแห่งสีของเอเชียให้ได้