โดย : ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา
นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย นายกสมาคมบ้านปันรัก
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้คนมากมายมาถามผมว่า “จะทำอาชีพอะไรดี ที่ใช่ ได้เงิน และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ?” ผมไม่ลังเลเลยที่จะตอบว่า “สัมมาอาชีพเป็นจุดเริ่มต้น และคำตอบสุดท้ายครับ !” แล้วสัมมาอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตในทุกแง่มุม เริ่มต้นจากจุดไหน ? บทความนี้ ผมมีคำตอบ
ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ถ่ายทอดนวัตกรรมความคิดนี้ จากหัวข้อ “สัมมาอาชีพ” ในงานเสวนาของพระเดชพระคุณ หลวงพ่ออลงกต ติกขปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ซึ่งจัดขึ้น ณ บ้านอารีย์ ผมจึงขอนำ “องค์ความรู้” ที่บรรยายวันนั้นมาแบ่งปันทุกคน
องค์ความรู้นี้ เกิดจากการที่ผมได้ศึกษา “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” มากว่า 10 ปี จากมหาปราชญ์ที่ผมเทิดทูนสุดหัวใจ นั่นคือ ในหลวง รัชกาลที่ ๙
ผมขอเรียกเครื่องมือในการค้นหาสัมมาอาชีพในตัวเองนี้ว่า “3 ห่วง เปลี่ยนชีวิต สร้างสัมมาอาชีพที่ยั่งยืน!”
เรามาเริ่มกันเลยครับ ให้คุณตอบคำถาม 3 ข้อ ดังนี้
- คุณมีความสามารถอะไร ?
- สังคมมีปัญหาอะไร ?
- คุณมีใจรักอะไร ?
เมื่อคุณใคร่ครวญจนได้คำตอบแล้ว ให้เขียนออกมา จากนั้นก็วาดออกมาเป็น 3 ห่วง วางทับซ้อนกัน (แต่ละห่วง คือตัวแทนของคำถามข้างต้น) มันจะมีซับเซตตรงกลาง ซึ่งเป็นจุดร่วมของทั้ง 3 ห่วง นี่แหละ คือ “อาชีพของคุณ”
อย่างไรก็ดี หากจนแล้วจนรอด ก็ยังตอบคำถาม 3 ห่วงที่ว่า ไม่ได้เสียที ผมมี 2 ตัวช่วย ที่ช่วยให้คุณค้นพบตัวเองเพื่อสร้างสัมมาอาชีพได้ง่ายขึ้นไปอีกครับ
ตัวช่วยที่ 1 อนุญาตให้คุณถอดออกได้หนึ่งห่วง ห่วงนั้นคือ “ห่วงคุณมีใจรักอะไร” เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะสิ่งที่รักอยู่ที่ใจเราความจริงที่เป็นอมตะคือเราเปลี่ยนตัวเองง่ายกว่าเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมห่วงนี้จึงเปลี่ยนได้ง่ายที่สุดครับ เช่น สิ่งที่ทำในวันนี้เราอาจไม่ได้เริ่มจากความรัก แต่วันหนึ่งเมื่อสิ่งที่เราทำหรืองานนั้นๆ เกิดผลดีต่อคนอื่นหรือช่วยชีวิตคนได้เปลี่ยนจากแววตาหม่นเศร้ากลายเป็นแววตาแห่งความหวังเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งให้มีพลัง และดำเนินชีวิตต่อไปได้สิ่งดีๆ เหล่านี้จะทำให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ และแปลงมาเป็นความรักได้ในที่สุด เมื่อถอดห่วงนี้ออกไปแล้ว ให้เราดูที่เป็นจุดร่วมของ 2 วงที่เหลือนั่นแหละครับ คือ “อาชีพของคุณ”
ตัวช่วยที่ 2 อนุญาตให้ถอด “ห่วงความสามารถ” ออก ความสามารถเราสร้างได้ ฝึกได้ หรือทำซ้ำๆ และในที่สุดจะกลายเป็นความชำนาญครับ แต่ปัญหาสังคมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วสะสมและมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น เมื่อถอดห่วงนี้ออกไปแล้ว ให้เราดูที่เป็นจุดเดียวที่เหลืออยู่ คือปัญหาสังคมมีอะไรบ้าง ? นั่นแหละครับ คือ “อาชีพของคุณ”
เมื่อเราเหลือห่วงข้อสุดท้ายคือ “สังคมมีปัญหาอะไร ?” ให้คุณกลับมาถามตัวเองว่า คุณสนใจปัญหาสังคมไหนเป็นพิเศษ หรืออยากจะช่วยแก้ปัญหาใดให้สังคม หากพบคำตอบ ผมยินดีด้วยที่คุณได้ค้นพบ “สัมมาอาชีพ” เรียบร้อยแล้ว
จุดเริ่มต้นของสัมมาอาชีพที่แท้จริง จะเริ่มต้นขึ้น เมื่อคุณเห็นปัญหาของสังคมครับ !