กลุ่ม“โลว์คอสต์ แอร์ไลน์” เสริมแกร่งเน็ตเวิร์คทั่วเอเชียแปซิฟิกรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก-คาดอีก 3 ปีทะลัก 500 คน

1547

คาดการณ์กันว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าใหญ่ที่สุดในโลก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเก็บประสบการณ์ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ โดยมีการคาดว่าภายในปี 2563 นี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาราว 500 ล้านคน

จากการแนวโน้มนี้ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่นับว่าทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจสายการบินในกลุ่มสายการบินราคาประหยัด หรือ “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์” ในช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา

ผุดโมเดล “VALUE ALLIANCE”

โดยครั้งนั้นกลุ่มสายการบินโลว์คอสต์จำนวน 8 สายการบินได้ผนึกกำลังกันเปิดตัวกลุ่มที่เรียกว่า VALUE ALLIANCE”  ประกอบไปด้วย สายการบินเซบูแปซิฟิก (รวมไปถึงสายการบิน Cebgo) สายการบินเจจูแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินนกสกู๊ต สายการบินสกู๊ต สายการบินไทเกอร์แอร์ สิงค์โปร์ สายการบินไทเกอร์แอร์ ออสเตรเลีย และสายการบินวานิลลาแอร์

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนั้นได้มีการแบ่งปันเครือข่ายเส้นทางการบินภายในกลุ่มพันธมิตร เพื่อสร้างคุณค่าและเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เชื่อมโยงเส้นทางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ รวมไปถึงเชื่อมโยงเส้นทางไปยังทวีปออสเตรเลีย โดยจะทำให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

ผู้โดยสารจะสามารถเลือกเที่ยวบินและสำรองบัตรโดยสารได้โดยตรงจากเว็บไซต์ของแต่ละสายการบิน และสามารถสำรองที่นั่งจากสายการบินหนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ของสายการบินในกลุ่มพันธมิตรได้ ซึ่งระบบจะทำการเลือกเที่ยวบินที่ดีที่สุดจากทุกสายการบิน เชื่อมโยงเข้าด้วยกันในการทำรายการเพียงครั้งเดียว

โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำซึ่งพัฒนาโดย บริษัท  Air Black Box (ABB) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ก่อตั้งขึ้นโดย บริษัท สกู๊ตไทเกอร์แอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มสายการบินสิงคโปร์, บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท เอเอ็นเอ โฮลดิ้งส์, กลุ่มบริษัทเซบูแปซิฟิก จำกัด และบริษัท โวล์ทแพด จำกัด

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่สายการบินโลว์คอสต์รวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตร

ที่สำคัญ การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม Value Alliance ทำให้กลุ่มสามารถให้บริการครอบคลุมเส้นทางการบินถึง 1 ใน 3 ของโลก และมีจุดหมายปลายทางมากกว่า 160 แห่ง ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีจำนวนเครื่องบินรวมกันกว่า 176 ลำ

“เจจูแอร์” ร่วมทุน “Air Black Box” เสริมแกร่ง

และล่าสุดเมื่อ 28 กันยายนที่ผ่านมา บริษัท เจจูแอร์ จำกัด จากประเทศเกาหลีใต้ ได้เข้าร่วมในฐานะผู้ร่วมลงทุนใหม่ในบริษัทแอร์ แบล็ค บ็อกซ์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด (Air Black Box: ABB)

โดย “เจจูแอร์” จะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท ร่วมกับบริษัท สกู๊ตไทเกอร์แอร์ จำกัด, กลุ่มบริษัท เอเอ็นเอ โฮลดิ้งส์, บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน),กลุ่มบริษัทเซบูแปซิฟิก จำกัด และบริษัท โวล์ทแพด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุน

การร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเพิ่มความเชื่อมั่นของ “แอร์ แบล็ค บ็อกซ์ (Air Black Box: ABB) ในภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การรวมตัวของพันธมิตรสายการบินและการลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ Value Alliance เป็นกลุ่มผู้นำด้านสายการบินราคาประหยัดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างแท้จริง

โดย “เจจูแอร์” เป็นผู้ริเริ่มสายการบินราคาประหยัดที่มีจำนวนผู้โดยสาร ฝูงบิน รวมทั้งรายได้และกำไรมากที่สุดในประเทศเกาหลี ให้บริการผู้โดยสารกว่า 10 ล้านคนต่อปี โดยครอบคลุม 42 เส้นทางผ่านเครือข่ายการบินในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กวม และไซปัน ด้วยจำนวนเฉลี่ย180 เที่ยวบินต่อวัน

“ทุนเดิม” เปิดทางลดสัดส่วนถือหุ้น Air Black Box

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังเรื่องสือแจ้งการลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Air Black Box Asia Pacific Pte.Ltd. ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยระบุว่า ตามที่บริษัทได้เข้าร่วมทุนในบริษัท Air Black Box Asia Pacific Pte.Ltd. (ABB)  จำนวน 1,012,500 หุ้น หรือร้อยละ 15

ABB ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 6,750,000 หุ้น มูลค่า  5,600,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 7,762,500 หุ้น มูลค่า 6,804,875 ดอลลาร์สหรัฐ และจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวจำนวน 1,012,500 หุ้น ให้แก่ สายการบิน JEJU AIR ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา Joint Venture Agreement และให้สายการบินผู้ถือหุ้นทุกรายมีสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน ABB ลดลงจากเดิมร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 13.0435

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้น ที่ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน ABB ลง แต่ทุกสายการบินที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมต่างก็ปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นจากเดิมร้อยละ 15 ลงมาเหลือ ร้อยละ 13.0435 เท่ากันทั้งหมด

นับเป็นการขยับตัวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งครั้งสำคัญอีกรอบสำหรับกลุ่ม “โลว์คอสต์ แอร์ไลน์”  อีกทั้งเป็นยุทธศาสตร์ในการต่อกรกับกลุ่ม “พรีเมี่ยม แอร์ไลน์” และขยายฐานตลาดในกลุ่มที่ชื่นชอบการเดินทางราคาประหยัด โดยมีเป้าหมายก้าวเป็นกลุ่มผู้นำด้านสายการบินราคาประหยัดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก!