20 ปี บราเดอร์ไทย ถึงเวลาเปลี่ยนสู่อนาคตสู่ความมั่นคง

1460

ย้อนมองกลับไปเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา โลกของเราเกิดเหตุการณ์ ความเปลี่ยนแปลงมากมายโดยเฉพาะโลกของการตลาด  ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน อย่างชอว์บราเดอร์ ล่มสลาย อุตสาหกรรมการถ่ายภาพที่เคยรุ่งเรือง แบรนด์ดังอย่าง โกดัก ก็ล้มลุกคลุกคลานจนไม่เหลือสภาพยักษ์ใหญ่ เช่นเดียวกับผู้นำในตลาดโทรศัพท์มือถือ ที่ไม่เหลือทื่ยืนในตลาดสมาร์ทโฟน  ทุกกรณีล้วนเป็นผลมาจากพัฒนาการขอเทคโนโลยี และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยองค์กรใหญ่ๆ เจ้าของแบรนด์เหล่านี้ตามไม่ทัน

ในประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการผลิตอย่างญี่ปุ่นเองก็เจอกับปัญหานี้ ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า แบรนด์เก่าแก่ที่เคยได้รับความนิยมอย่าง ซันโย  และชาร์ป ก็ต้องขายกิจการให้กับทุนจากจีนและไต้หวัน เพราะพ่ายแพ้กับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไล่ตามไม่ทัน

แต่สำหรับบราเดอร์ อีกหนึ่งแบรนด์จากแดนอาทิตย์อุทัย ที่แม้ไม่ได้มีแบรนด์ที่โด่งดังเหมือน 2 แบรนด์ดังกล่าว แต่อายุอานามก็บริษัท ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึงกว่า 109 ปี  และที่สำคัญคือ วันนี้ บราเดอร์ คือองค์กรที่มีความมั่นคงในระดับโลก

ส่วนสำคัญที่ทำให้บราเดอร์ เดินผ่านความเปลี่ยนแปลงมาได้อย่างยาวนานเช่นนี้ หนึ่งในเหตุผลหลัก คือการปรับพอร์ตสินค้าหลักตามยุคสมัย  จากจุดเริ่มต้น สมัยที่การเย็บปักถักร้อยยังเป็นสิ่งจำเป็นของทุกบ้าน จักรเย็บผ้าจึงเป็นสินค้าเปิดตัวของบราเดอร์  ต่อเนื่องมาถึงยุคของเอกสารการพิมพ์ เครื่องพิมพ์ดีดบราเดอร์ ก็เปิดตัว  และวันนี้ แม้บราเดอร์ยังมีผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 นี้จำหน่ายอยู่ แต่ ธุรกิจหลัก ก็คือ กลุ่มสินค้าพรินเตอร์

ในระดับโลก สัดส่วนรายได้ของบราเดอร์แบ่งออกเป็น กลุ่มงานพิมพ์  Printing and Solution Business คิดเป็น 59.8%, กลุ่มเครื่องจักรกล  Machinery Business คิดเป็น 14.2%, กลุ่มเครื่อพิมพ์อุตสาหกรรม Domino Business คิดเป็น 9.3%, กลุ่ม Network and Content Business คิดเป็น 7.8%, กลุ่มจักรเย็บผ้า Personal and Home Business คิดเป็น 6.9% และอื่นๆ อีก 2%

โดยผลการดำเนินธุรกิจในปีงบประมาณ 2559 (เมษายน  2559 – มีนาคม  2560) มียอดขายของบราเดอร์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทวีปที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา 31.6% รองลงมาคือยุโรป 25.1% เอเชียและอื่นๆ 24.6% และญี่ปุ่น 18.6%

บราเดอร์ ได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจทั่วโลก เพื่อต่อยอดการเติบโตธุรกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) หรือ CSB 2018 : Challenge Strategy Brother 2018 ภายใต้คอนเซ็ปต์  Transform For The Future การปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตในอนาคตใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านแรก Business Transformation การขยายตลาดนอกเหนือจากตลาดเครื่องพิมพ์ไปยังตลาด  Multi Business Enterprise จำพวกอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจองค์กรมากยิ่งขึ้น ด้านที่ 2 Operation Transformation การปรับปรุงกระบวนการภายในองค์กร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และด้านสุดท้ายคือ Talent Transformation การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งทักษะการทำงานและความรู้ด้านต่างๆ เพื่อพร้อมสำหรับก้าวสู่การเป็นผู้นำในอนาคตต่อไป

ในประเทศไทย โทโมยูกิ ฟูจิโมโต กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  ปีนี้บราเดอร์ประเทศไทย มีอายุครบ 20 ปี  โดยยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ในตลาด Mono Laser Multi-Function อยู่ที่ 34.6% และเป็นอันดับ 2 ในตลาด Mono Laser Printer 28.3% จากการสำรวจของ Gfk  โดยกลุ่มสินค้าพรินเตอร์ถือเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 80% ของบราเดอร์ประเทศไทย

สำหรับการดำเนินธุรกิจ  ฟูจิโมโต ก็จะวางแนวทางไปในทิศทางเดียวกับ บราเดอร์ทั่วโลก ทั้งการรักษาฐานลูกค้าทั่วไปและขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร ปรับปรุงระบบการทำงานภายในให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคลากรเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

เชื่อว่า การขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปยังธุรกิจองค์กรเพิ่มขึ้น บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าธุรกิจองค์กรเดิมในปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 13% เพิ่มเป็น 20% ในปี 2561 โดยที่เหลือจะเป็นสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่ม SOHO  (Small Office Home Office) โดยใช้กลยุทธ์การนำเสนอผ่านระบบโซลูชัน และการทำสัญญาการค้ากับกลุ่มธุรกิจองค์กร นอกจากนั้น ยังมุ่งขยายไปในธุรกิจที่มีการเติบโตเร็ว อย่าง กลุ่มจักรเย็บผ้า

“บราเดอร์ ประเทศไทยเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ โดยคาดว่าทั้งปีงบประมาณจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตประมาณ 5% ซึ่งในไตรมาสแรกที่ผ่านมา (เมษายน-มิถุนายน 2560) สามารถทำยอดขายเติบโตกว่า 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเป้าหมายของเราคือการเป็นผู้นำในทุกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บราเดอร์ทำตลาด”

ด้าน ทาดะชิ อิชิกุุโระ ประธานบริหารอาวุโสและกรรมการบริษัทในกลุ่มบราเดอร์ กล่าวถึงภาพรวมด้านธุรกิจเครื่องพิมพ์ว่า แม้ผลสำรวจของ IDC จะสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมและเทรนด์ของตลาดเครื่องพิมพ์ Mono Laser และ Color Laser ทั่วโลกว่าจะไม่มีการเติบโต แต่บราเดอร์ กลับมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นสวนทางกับตลาดรวม โดยตลาดเครื่องพิมพ์ Mono Laser ของ บราเดอร์ จากเดิมอยู่ที่ 10% ในปี 2554 เพิ่มเป็น 15% ในปี 2559 และในส่วนตลาดเครื่องพิมพ์ Color Laser นั้น บราเดอร์มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2554 เป็น 12% ในปี 2559

โดย IDC คาดการณ์ว่าตลาดรวมเครื่องพิมพ์จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา จากเดิมอยู่ที่ 46% จะเพิ่มขึ้นเป็น 51% ในปี 2564 ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการเติบโตของบราเดอร์ เนื่องจากบราเดอร์มีการทำตลาดไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย ซึ่งการทำตลาดในส่วนของเครื่องพิมพ์จะสอดคล้องไปตามแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ในการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มธุรกิจองค์กรมากขึ้น โดยนำเสนอผ่านการขายโดยทำสัญญา (Managed Print Services หรือ MPS)