ออนแอร์ซบ คูลฟาเรนไฮต์มุ่งออนไลน์ ดึงนีลเส็นวัดเรตติ้งสร้างความเชื่อมั่นลูกค้า

1669

ถึงแม้จะไม่มีข่าวการจากลาของผู้บริหารคลื่นความถี่วิทยุให้ตกใจเหมือนการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ แต่สื่อวิทยุ ก็เป็นอีกสื่อที่อยู่ในช่วงขาลงมาพร้อมๆ กันกับสื่อสิ่งพิมพ์
งบโฆษณาในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) ได้สรุปมูลค่าการซื้อสื่อวิทยุตลอดครึ่งปีแรกนี้ว่า แบรนด์สินค้าต่างๆ มีใช้งบในสื่อวิทยุรวม 2,143 ล้านบาท ลดลงจาก 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาที่เคยใช้ไป 2,675 ล้านบาท ราว 19.89% และเป็นการลดลงต่อเนื่องมาตลอด 6 เดือน เมื่อกับ 6 เดือนของปีที่แล้ว

ความตกต่ำของสื่อวิทยุนี้ทำให้คลื่นใหญ่อย่าง “คูลฟาเรนไฮต์” ในเครืออาร์เอส หาทางออกด้วยการเดินตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่แม้จะฟังวิทยุอยู่ แต่ก็ไม่ได้กดหาคลื่น หรือหมุนหาจากวิทยุ แต่เป็นการฟังผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือการฟังผ่านออนไลน์ หันมาสร้างรายได้จากสื่อออนไลน์ที่มีโอกาสการเติบโตสวนทางสื่อวิทยุ สร้างชุมชนการฟังในกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งบูรณาการการสื่อสารไปถึงทั้งทางออนไลน์ และกิจกรรมออนกราวด์

ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ผู้บริหารสถานีเพลงคูล ฟาเรนไฮต์ ในเครืออาร์เอส เผยว่า บริษัทมองเห็นโอกาสจากเม็ดเงินโฆษณาในสื่อออนไลน์กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากรายได้ของบริษัทฯ เฉพาะส่วนออนไลน์ที่เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว จึงได้ทำการรีแบรนด์ธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยการสื่อสารผ่านแบรนด์ใหม่ “คูลฟาเรนไฮต์ (COOLfahrenheit)” เพื่อไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่บนหน้าปัดวิทยุ FM93 อีกต่อไป

ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด

“คูลลิซึ่มในวันนี้หันมาโฟกัสสื่อออนไลน์มากขึ้น ใช้งบประมาณในการรีแบรนด์ 20 ล้านบาทนำเสนอคอนเทนต์ส่งตรงถึงมือผู้ฟังครบถ้วนทั้งแพลตฟอร์ออนแอร์และออนไลน์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “คูลลิซึ่ม 4.0 บียอนด์ (COOLISM 4.0 Beyond)” ถือเป็นการตอบโจทย์นำพาธุรกิจก้าวข้ามสู่ยุค DIGITAL SOUNDATION อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าเจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์คน GEN C ที่มีพฤติกรรมชื่นชอบเสพสื่อออนไลน์ อายุระหว่าง 20-44 ปี”

ภายใต้แผนการรีแบรนด์ ในเฟสแรก ปริญญ์ได้วางกลยุทธ์ DIGITAL TRANSFORMATION มุ่งปรับเปลี่ยน 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

ส่วนแรก DIGITAL CONTENT RATING โดยร่วมมือกับ บริษัท นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ผู้ทำวิจัยชั้นนำระดับโลก นำตัวชี้วัด Radio Online Rating มาใช้เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย และแห่งที่ 3 ของโลก ต่อจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นเครื่องมือวัดเรตติ้งเรียลไทม์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของสินค้าและเอเยนซีที่สนใจซื้อโฆษณาสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการตัดสินใจโยกเม็ดเงินโฆษณามาใช้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะมีตัวชี้วัดระบุจำนวนผู้ฟังสะท้อนความคุ้มค่าและคุ้มราคาได้อย่าง แม่นยำ ชัดเจน และโปร่งใส

ส่วนที่ 2 คือการปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ในเว็บไซต์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ด้วยดีไซน์ใหม่ที่เรียบง่ายแต่สดใส เข้าถึงไลฟ์สไตล์คน GEN C ส่วนที่ 3 นำเสนอ PRESENTATION CLOCK ใหม่ โดยปรับเวลาเบรคโฆษณาให้สั้นและกระชับขึ้น เพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ฟังปัจจุบันที่ต้องการเสพย์คอนเทนต์ในทันที และส่วนที่ 4 การ CUSTOMIZE ปรับรูปแบบแคมเปญโฆษณาให้กับเจ้าของสินค้าและเอเจนซีที่ “คูลฟาเรนไฮต์”

นอกจากนี้ในส่วนของการสนับสนุนทางการตลาด คูลฟาเรนไฮต์ จะใช้งบประมาณอีก 20 ล้านบาท จัด 4 แคมเปญต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม ประกอบด้วย 2 กิจกรรมซิกเนเจอร์ ได้แก่ COOL Outing 12 Fun in the Jungle เพื่อพาผู้ฟังยกออฟฟิค 50 ชีวิต ไปเอ้าท์ติ้งแหล่งสูดอากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่หมู่บ้านคีรีวง นครศรีธรรมราช และกิจกรรม อิ๊งค์ EAT ALL AROUND ปี 7 โดยมีอิ๊งค์ ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัฒน์ เป็นผู้อาสาพาไปชิมอาหารเหนือที่ลำปาง รวมไปถึงจัดกิจกรรมโปรโมชั่นอย่าง COOL Prompt เปย์ ชวนผู้ฟังเข้ามาลงทะเบียนที่ www.coolism.net แล้วรอลุ้นรับการเปย์เงินรางวัล ง่ายๆทุกวัน และกิจกรรมใหญ่ในการเป็นสถานีเพลงแห่งแรกและแห่งเดียวที่เปลี่ยนทุกนาทีการรับฟังเป็นคะแนนสะสม รุกจัดกิจกรรม COOL Degree Beyond Rewards ชวนผู้ฟังทางออนไลน์มาสะสมเวลาการฟังบนแอพพลิเคชั่น COOLISM เพื่อนำมาแลกรับของรางวัลสุดคูลได้ตลอดปี

ปริญญ์ มั่นใจว่าการรีแบรนด์ในครั้งนี้จะทำให้เกิดการขยายฐานผู้ฟังไปยังกลุ่มสื่อออนไลน์มากกว่าเท่าตัว จากปัจจุบันมีผู้ฟังมากกว่า 5 ล้านราย แบ่งเป็น ผู้ฟังออนไลน์กว่า 3.5 ล้านราย และผู้ฟังออนแอร์กว่า 1.5 ล้านราย สิ้นปีนี้จะมีรายได้ ตามเป้าที่วางไว้ 515 ล้านบาท และยังคงครองแชมป์ผู้นำในกลุ่มคลื่นเพลงฟังสบาย 16 ปีซ้อน โดงผลสำรวจเดือนล่าสุดระบุว่าสามารถครองส่วนแบ่งผู้ฟังสูงขึ้นเป็น 43% ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 หลายเท่าตัว และคาดว่าสิ้นปีนี้สื่อวิทยุออนไลน์จะเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่สื่อวิทยุออนแอร์ยังเป็นสื่อที่มียังมีผู้ติดตามไม่ได้ลดลงไปกว่านี้