รุกและรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง กับพาณิชย์ฯ จุฬา (ตอน 1)

1421

 

บูรณาการองค์กร 4.0 รับไทยแลนด์ 4.0

แล้วเราก็ก้าวมาถึงครึ่งหลังของปีไก่จนได้ ปีแห่งความหวังของใครหลายคนว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยับก้าวออกจากความเศร้าสลดของคนไทยทั้งประเทศได้ แต่ผ่านมาครึ่งปี หลายๆ ธุรกิจก็ยังหาทางกลับไม่เจอ และก็ยังไม่มีความมั่นใจว่า ทีมเศรษฐกิจของนายกฯตู่ จะคืนความสุขให้กับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้มากเท่าไร่

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณาจารย์ทุกภาควิชาจึงได้ร่วมกันจัดเสวนา “ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งปีหลัง 2650” เพื่อวิเคราะห์ทิศทางธุรกิจไทยเป็นแนวทางให้กับนักการตลาด นักธุรกิจเตรียมรับ และเตรียมรุกอย่างเหมาะสม

“ครึ่งปีหลังธุรกิจคงค่อนข้างเหนื่อย แม้มั่นใจว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีหลังของปีที่แล้วก็ตาม แต่คงไม่ดีเท่าที่ตั้งใจ กระแสความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเทคโนโลยี คู่แข่งใหม่ Start-up ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ คงเหนื่อย”

ความเห็นจาก รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเหมือนโจทย์ที่ทุกคนต้องแก้ให้ได้ ถ้ายังอยากหาโอกาสเติบโตให้กับธุรกิจของตน

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์

คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

               โดย รศ.ดร.พสุ  กล่าวว่า ธุรกิจครึ่งปีหลังไม่เพียงแต่มีการแข่งขันที่รุนแรงเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ เกิดขึ้น มีผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่เข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ ทำให้ทุกธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทาย ดังนั้น ข้อมูลธุรกิจจึงกลายเป็นปัจจัยที่ใช้ในการแข่งขันมากขึ้น ควบคู่กับการสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และปรับเปลี่ยนทิศทางการเติบโตผ่านการร่วมทุนและขยายสู่ตลาดเพื่อนบ้าน

“ผู้เล่นรายใหม่ๆ เหล่านี้ มีทั้งพวกที่เป็นสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่โดดขึ้นมารบบนสนามออนไลน์มากขึ้น หรือแม้แต่ผู้เล่นจากต่างประเทศที่บุกเข้ามาในไทย การเติบโตของธุรกิจไทยนับจากนี้ไปจึงต้องมองมิติใหม่ๆ ซึ่งต้ออาศัยคนรุ่นใหม่ เพื่อหลีกหนีจากกรอบความคิดเดิมๆ โดยการเข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีไอเดีย แต่ไม่มีเงินทุนจะต่อยอดให้เกิดความสำเร็จได้ด้วยตนเอง ขณะที่องค์กรใหญ่มีเงินทุน จึงสามารถสอดประสานและนำธุรกิจใหม่ๆ มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของตน เพื่อให้เกิดความเติบโตแบบยั่งยืน นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจยังต้องปรับทิศทางการเติบโตไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา ความต้องการภายในประเทศมีการเติบโตน้อยมาก”

สำหรับในครึ่งปีหลังนี้  รศ.ดร.พสุ  มองแนวทางในการบริหารจัดการว่า การบริหารจัดการต้องเน้น 3 เรื่องสำคัญ คือ องค์กร 4.0, ผู้นำ 4.0 และกลยุทธ์ 4.0 เพื่อให้ภาคธุรกิจมีการเติบโตที่สอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0

องค์กรในยุค 4.0 จะมีความหลากหลายมากขึ้นจากการมีบุคคลากรหลายเจนเนอเรชั่นมาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ เบบี้บูม เจน X  เจน Y และเจน Z ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องรับมือกับคนเจน Z  ซึ่งจากผลการสำรวจในต่างประเทศ ระบุว่า เป็นเจเนอเรชั่นที่ไม่มีความผูกพันกับอะไรง่ายๆ  ซึ่งหมายความว่า คนเหล่านี้พร้อมที่จะลาออกไปหาความท้าทายใหม่ๆ ได้ทุกเมื่อ

ด้านการพัฒนาบุคลากร สำหรับองค์รยุคใหม่ ต้องเปลี่ยนจากรูปแบบเทรนนิ่ง มาเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ความรู้ ความสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ปัจจุบัน องค์กรที่มีความสามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้ดีที่สุด จะมีศักยภาพารข่งขันมากที่สุด ซึ่งการเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก และการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ  เหตุนี้แทบทุกองค์กรในยุคสมัยนี้จึงต้องมีแผนก Big Data Analytic  ไว้คอยนำเสนอผู้บริหารเพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ

และเมื่อองค์กรมีความหลากหลาย สิ่งที่ ผู้นำยุค 4.0 ต้องมีคือความสามารถในการทำงานภภายใต้ความไม่แน่นอน  จึงต้องมีทักษะ ความถ่อมตนทางปัญญา เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา การตัดสินใจต้องแม่นยำ ที่สำคัญคือ ลงมือทำทันทีที่มีไอเดีย เพราะยุคนี้ช้าเพียงก้าวเดียวคนอื่นก็นำหน้าไปแล้ว

ขณะที่ กลยุทธ์ 4.0  คือการใช้มุมมองใหม่ๆ มาสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมๆ กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร โดยมองหานวัตกรรมใหม่ๆ จากภายนอกเพื่อนำมาประยุกต์เข้ากับธุรกิจหลักที่ทำอยู่ เช่น การเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ  ซึ่งมักจะมีการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ หรือการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของคนยุคดิจิทัล  เช่นการที่กลุ่มธนาคารเข้าไปสนับสนุนกลุ่ม Fintech เพื่อสร้างเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ ทั้งที่เป็นแอปพลิเคชั่น หรือเครื่องมือดิจิทัลเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมของตน

รศ.ดร.พสุ  ยังได้กล่าวถึงการตอบสนองไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลมุ่งให้เป็นดิจิทัล ต้องไม่มองว่าเป็นเทรนด์ระยะสั้น แต่ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์เอามาเป็นหัวใจหลักในการสร้างธุรกิจ  ดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียง Tool ในการสื่อสาร หรือเชื่อมโยงถึงลูกค้าเท่านั้น แต่สามารถเป็น Core Business ได้ การติบโตของตลาดิจิทัล หรือออนไลน์ จะรวมกับตลาดออฟไลน์เป็นการเติบโตควบคู่กันในบทบาทที่เสริมศักยภาพกัน ส่งผลให้การสร้างแบรนด์ผ่านดิจิทัล(Global Digital Branding) คือหัวใจสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจไทยก้าวสู่ระดับโลก  เพราะผู้บริโภควันนี้ ได้กลายเป็น Digital Consumers ดังนั้น หลักการตลาดและการสร้างแบรนด์ จึงไม่ได้เน้นแค่การพัฒนาสินค้า (Product Centric) หรือการเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) แต่เป็น Human Centric สู่ยุคดิจิทัลที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ารอบด้านของชีวิต

รศ.ดร.พสุ กล่าวสรุปว่า การปรับตัวของธุรกิจในครึ่งปีหลังนี้ คือ การมองหาตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย  แต่หากธุรกิจต้องการสร้างการเติบโตในประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจ หันมาจับเซ็กเมนต์ที่ชัดเจน โดยอุตสาหกรรมที่ยังมีการเติบโตอยู่ คือ กลุ่มเกษตร, ท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนด้านเทคโนโลยี ที่เริ่มเห็นบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยมีการตั้งบริษัท Venture Capital เป็นของตนเอง เพื่อหานวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้กับธุรกิจของตน ก็ถือเป็นทางออกที่จะพาองค์กรธุรกิจเติบโตได้