วิสัยทัศน์ บางกอกกล๊าส จากเบอร์ 1 ไทยก้าวสู่ผู้นำภูมิภาค

3595

บรรจุภัณฑ์ ถือเป็นอีกส่วนสำคัญของสินค้า เพราะไม่เพียงหีบห่อที่ดูสวย ดึงดูดความสนใจให้คนซื้อ บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องทำหน้าที่ดูแลคุณภาพสินค้าที่บรรจุนั้นให้มีคุณภาพ รสชาติ และอายุของสินค้าให้ยาวนานที่สุด

เหตุผลนี้เองทำให้บรรจุภัณฑ์แก้ว ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน และแม้จะมีบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้ามาทดแทน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วลดลงเลย

ศุภสิน ลีลาฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพาณิชย์ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ให้ความเห็นว่า ขวดแก้วมีคุณสมบัติหลายประการที่ทำให้บรรจุภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะพลาสติกไม่สามารถทดแทนได้ เช่น ขวดเบียร์, ขวดโซดา และขวดยาส่วนใหญ่ ที่หากใช้บรรจุภัณฑ์อื่นจะทำให้คุณภาพของสิ่งที่บรรจุลงไปลดลง หรือเสื่อมได้

ตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วมีปริมาณความต้องการอยู่ราวปีละ 1.2 หมื่นล้านขวด หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 10 ปีมานี้ บรรจุภัณฑ์แก้วได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการหันไปใช้ขวด PET ของกลุ่มน้ำอัดลม มีผลทำให้การเติบโตในแต่ละปี ที่เคยสูงกว่า 10%ต่อปีเมื่อกว่า 10 ปี ก่อน เหลือราว 4-5% ในช่วงหลายปีมานี้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ถือเป็นภาพบวกของธุรกิจที่สภาพเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะถดถอยลงจนถึงติดลบ

สถานการณ์ที่สดใสนี้ ทำให้ผู้นำในตลาดบรรจุภัณฑ์ขวด บางกอกกล๊าส มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการค้นคว้าวิจัย และการผลิต พร้อมมีการปรับโครงสร้างองค์กร กระจายธุรกิจต่างๆ ออกมาเป็นบริษัทเพื่อความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก้าวสู่ความเป็น Total Glass Solutions

โดยหนึ่งในบริษัทที่แยกออกมาอยู่ภายใต้บางกอกกล๊าสกรุ๊ป เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา คือ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (BGC) เพิ่ม เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วโดยเฉพาะ ภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็นผู้มอบประสบการณ์ดีๆ ในเรื่องผลิตภัณฑ์แก้วแบบครบวงจร และสร้างความพึงพอใจผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ใหม่ๆ โดยตอบโจทย์ในเรื่องการประหยัดพลังงาน ประโยชน์ใช้สอย ความสวยงาม และราคา

ปัจจุบัน บีจีซี มีส่วนแบ่งตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 39% ด้วยกำลังการผลิต 3,335 ตันต่อวัน คิดเป็นราว 1.2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 4,500 ล้านขวดต่อปี โดยมีโรงงานหลักอยู่เดิม 4 แห่ง ปทุมธานี , อยุธยา, ขอนแก่น และระยอง ซึ่งที่ตั้งส่วนใหญ่จะเลือกจากตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับโรงงานของลูกค้าที่ซื้อบรรจุภัณฑ์แก้ว หรือใกล้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแก้ว โดยในปีหน้า ก็เตรียมเปิดโรงงานแห่งที่ 5 ขึ้นที่ราชบุรี ด้วยกำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน  เสริมกำลังการผลิตร่วมให้เพิ่มขึ้นถึง 3,735 ตันต่อวัน

 

ศุภสิน ลีลาฤทธิ์

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพาณิชย์ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน)

 

ศุภสิน กล่าวว่า แม้ตลาดในประเทศจะยังเป็นตลาดสำคัญอง บีจีซี เนื่องจากมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทก็เริ่มวางแผนการในการนำบรรจุภัณฑ์แก้วส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม CLMV ที่ยังไม่มีโรงงานผลิตแก้วตั้งอยู่ ทั้งกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์  โดยแผนงานของบีจีซี จะใช้การส่งสินค้าผ่านทางรถขนส่งสินค้าเป็นหลักซึ่งถือเป็นช่องทางที่สะดวก และสามารถส่งสินค้าให้ปลอดภัยที่สุด

“ตลาด CLMV ถือเป็นตลาดที่มีอนาคต บรรจุภัณฑ์แก้วของบีจีซี ก็ถือว่ามีคุณภาพไม่เป็นรองสินค้าจากคู่แข่งประเทศไทยใด ด้วยมาตรฐานจากเยอรมัน  ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือจีน ก็จะมีปัญหาด้านการขนส่งที่ไกลกว่าเรา  คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะเริ่มทำการส่งออกได้  ส่วนการจะเข้าไปตั้งโรงงาน ก็เป็นแผนที่มองไว้ โดยเฉพาะในประเทศเมียนมาร์ ที่มีก๊าซธรรมชาติอยู่มาก แต่ทั้งนี้ต้องรอระบบสาธารณูปโภคของประเทศให้มีความพร้อมมากกว่านี้ก่อน”

ปัจจุบัน บีจีซี มีสัดส่วนยอดขายในประเทศมาจาก บรรจุภัณฑ์ประเภท เบียร์ 39%  โซดาและน้ำอัดลม 38% อื่นๆ 19%  และเป็นการส่งออก 4% โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ พม่า เวียดนาม และออสเตรเลีย นอกจากนั้นยังมี สเปน, แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ ที่มีการส่งบรรจุภัณฑ์แก้วเข้าไปจำหน่าย

แต่ในบทบาทผู้นำ บางกอกกล๊าสก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่ในด้านการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะในด้านการคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ โดยมีการใช้งบประมาณถึง 50 ล้านบาท ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ขึ้นที่โรงงานปทุมธานี

โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่คิดค้นล่าสุด เป็นบริษัทแรกที่ใช้การขึ้นรูป Mock up ของบรรจุภัณฑ์และฝาขวดด้วยเครื่อง 3D Printer ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม สามารถสร้าง Mock up บรรจุภัณฑ์ได้เหมือนบรรจุภัณฑ์จริง และเครื่องวัดปริมาตรขวดที่คิดค้นและผลิตเอง  ซึ่งศุภสินกล่าวว่า แนวโน้มพัฒนาการของบรรจุภัณฑ์แก้ว คงเป็นไปในแนวทางการขึ้นรูปได้บางลง ผลิตได้เร็วขึ้น เพราะการผลิตได้มากขึ้น ก็หมายถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ผลิตแก้วมองหาอยู่ เนื่องจากปัจจุบัน ต้นทุนด้านพลังงานมีความผันผวน ราคาปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้นทุนการผลิตแก้วที่ใช้ก๊าซธรรมชาติก็สูงตามไปด้วย

สำหรับกลยุทธ์การตลาดและความท้าทายของบีจีซี  ในช่วงครึ่งปีหลัง ศุภสินมองว่า วงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศไทยมีคู่แข่งค่อนข้างน้อย จึงได้วางยุทธศาสตร์เจาะกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าบีจีเองยังคงวางให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็น กลุ่มอาหาร เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และยา ซึ่งปัจจุบันบีจีซีผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วให้กับบริษัทแม่ 50 % และอีก 50 % คือลูกค้าอื่นๆ

โดยบีจีซี ตั้งเป้ายอดขายปี 2560 อยู่ที่ 920,000 ตันต่อปี และมีแผนจะนำ บีจีซี เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนในการสร้างโรงงานราชบุรี ในเร็วๆ นี้