จากกระเบื้องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สู่งานศิลปะประยุกต์และต้นแบบแพนโทนของชุดสีผลิตภัณฑ์

330

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการ “การศึกษาชุดสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ” เพื่อจัดทำชุดโครงสี ผ่านมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประยุกต์ และต้นแบบแพนโทน สำหรับการใช้งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เคหะสถานและสิ่งทอ” เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปะและวัฒนธรรม ณ วัดราชบพิธฯ บริเวณศาลาราย 

ภายในงานได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติดร.ศรายุทธ แสนมี ผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากรรศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักวิจัยหลักของโครงการดร.จารุรัตน์ ชัยยศบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัทเบเยอร์ จำกัดดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ ปราโมทย์ ทวีตั๊งตระกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธฯ เข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และพระภิกษุสงฆ์ที่เข้าร่วมงาน

โครงการ “การศึกษาชุดสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ เพื่อจัดทำชุดโครงสี ผ่านมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประยุกต์ และต้นแบบแพนโทน สำหรับการใช้งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เคหะสถานและสิ่งทอ” มีที่มาและความสำคัญ

            รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักวิจัยหลักของโครงการฯ กล่าวว่า “วัดราชบพิธฯ ถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างมากทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรมไทย เป็นสถานที่ที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของศิลปกรรมในช่วงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะส่วนสำคัญที่ทำให้วัดราชบพิธฯ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือการนำกระเบื้องหลากหลายสีสัน มาประยุกต์สร้างอาคารศาสนสถานของวัด โดยลายกระเบื้องนี้เป็นฝีมือออกแบบของพระอาจารย์แดงแห่งวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเขียนลายต้นแบบและส่งไปผลิตที่ประเทศจีน แล้วส่งกลับใช้ในงานออกแบบผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมภายในวัด ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของกระเบื้องและชุดสีกระเบื้องนี้ ทางผู้วิจัยจึงทำการศึกษาสีและลวดลายกระเบื้องเหล่านี้ และนำไปต่อยอดการจัดทำฐานข้อมูลสี จัดทำชุดโครงสี ในรูปแบบแพนโทนสี สำหรับใช้งานประเภทแฟชั่น สิ่งทอ สื่อสิ่งพิมพ์ และสีสำหรับอาคาร ซึ่งเป็นการเก็บบันทึกและต่อยอดชุดสีกระเบื้องให้เป็นประโยชน์สู่การใช้งานด้านอื่น เช่น งานหัตถกรรมของชุมชน ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล รวมถึงอนุรักษ์และสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมต่อไปอย่างยั่งยืน”

            หลังทำการศึกษากระเบื้องของวัดราชบพิธฯ คณะผู้วิจัยของ รศ.ดร.น้ำฝน ได้ทำการถอดชุดสีจากกระเบื้องวัดราชบพิธฯ เพื่อจัดทำชุดโครงสีและต้นแบบแพนโทนของวัดราชบพิธฯ ขึ้น โดยจะมีการนำชุดโครงสีและแพนโทนนี้ไปต่อยอดออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อไป ภายในงานมีการนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้จากชุดโครงสีมาจัดแสดงให้ชม อาทิ ผลิตภัณฑ์จานกระเบื้องที่ใช้สีจากกระเบื้องของวัดราชบพิธฯ ปลอกหมอนและผ้าพันคอจากชุดสีวัดราชบพิธฯ รวมไปถึงแพนโทนสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ ที่แตกต่างออกไปจากแพนโทนสีทั่วไปที่ทุกท่านเคยเห็นกัน

“ทางคณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่า ชุดสีหรือแพนโทนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปะระดับสากลในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เราจึงได้จัดทำแพนโทนสีของวัดราชบพิธฯ ขึ้นมาใหม่ โดยถอดมาจากสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ ซึ่งแต่ละสีจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างไปจากแพนโทนสากลหรือไทยโทนซึ่งเป็นชุดสีของไทยที่มีแต่เดิม โดยครั้งนี้ เราได้คิดและตั้งชื่อแพนโทนขึ้นมาใหม่ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไทยและความเป็นวัดราชบพิธฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่และใช้ประโยชน์ในวงการศิลปะและการออกแบบต่อไป” รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล กล่าว