สกสว. และ “มหิดล” ร่วมหารือการวิจัยด้าน Health safety 

160

สกสว.ร่วมหารือ ม.มหิดล ถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยมูลฐาน และ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ พร้อมชูงานวิจัยทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ยกระดับสุขภาพและความปลอดภัยของสังคมไทย   

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ สกสว. ร่วมประชุม หารือนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณด้าน ววน. ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ.ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศ. (วิจัย), ดร.เจตสุมน ประจำศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน, มณีรัตน์ จอมพุก ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย และ นักวิจัย ม.มหิดล ให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ และกิจกรรม ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 
1. โครงการพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนตัวใหม่ต่อเชื้อพลาสโมเดียมไวแวกซ์ระยะเข้าสู่ตับ (Development of novel mRNA vaccine against P. vivax pre-erythrocytic stage) โดย ศ. (วิจัย) ดร.เจตสุมน ประจำศรี และคณะ 
2. โครงการพัฒนานวัตกรรมการรักษาเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ที่ดัดแปลงให้แสดงออกโปรตีนตัวรับที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง โดย ศ. นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง และคณะ

รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล

โอกาสนี้ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งแบ่งออกงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง ตามแนวนโยบายระดับชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ แผนด้าน ววน. หรือ ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็นที่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง และงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวม 177 หน่วยงาน ซึ่ง ม.มหิดล เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

นอกจากงบประมาณ FF เพื่อดำเนินการตามพันธกิจแล้ว นักวิจัย ยังสามารถ เสนอของบประมาณ เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ ทั้งในส่วนของการต่อยอดจากโครงการวิจัยเดิม และการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยอ้างอิงตามแผนด้าน ววน. ปี 2566-70 ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ตามจุดมุ่งเน้นของนโยบายของแผนงานสำคัญ และ 25 แผนงานหลัก อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าล้ำยุคสู่อนาคต และเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ (Earth Space Technology) รวมทั้งดาวเทียม เพื่อการประยุกต์ใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศด้านภูมิสารสนเทศ และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ทุกคน ให้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่จำเป็นควบคู่กับการมีสมรรถนะสูงด้านวิชาชีพและวิชาการ ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้น และตรง ตามความต้องการของประเทศ และ พัฒนาการเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของอาเซียน รวมถึงด้านศาสตร์โลกตะวันออกและมรดกทางวัฒนธรรม ฯลฯ

ศ.ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน

ด้าน ศ.ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน กล่าวว่า การดำเนินงานด้านการวิจัยของ ม.มหิดล มีความโดดเด่นหลายมิติ ทั้งในมิติด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย ต่อการสร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรมบนพื้นฐานของคุณธรรม เพื่อสังคมไทยและประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ และสอดคล้องกับการขับเคลื่อน ววน. ยกตัวอย่างการพัฒนากำลังคนระดับสูงทางด้านการแพทย์สุขภาพ ที่ม.มหิดล พร้อมประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนยกระดับการวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health safety) ตามเป้าหมายสำคัญของแผนด้าน ววน. ที่ รศ.ดร. คมกฤตได้นำเสนอ  คือ ให้ประเทศเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยี (Front Runner) ในระดับสากลสำหรับสาขาเป้าหมายของประเทศ และในระดับอาเซียนสำหรับอุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคต  และกำลังคนของประเทศมีผลิตภาพและศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ สูงขึ้น รวมถึงปริมาณงบลงทุนด้านวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการกระตุ้นของการลงทุนของรัฐ ตลอดจนสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนเป้าหมายมีความตระหนักรู้ในความสำคัญ ประโยชน์ และคุณค่าจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ