TCP Spirit เปิดโมเดลจัดการขยะชุมชนบ้านหาดทรายดำ ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน

554

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดของการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ว่าภาครัฐจะมีการลงทุนมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาลดลง แต่กลับมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ปัญหาขยะ 

เพราะการแก้ปัญหาขยะ ไม่ได้ง่ายเหมือนการสร้างขยะ ผู้เกี่ยวข้องที่มีหลายภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้ใช้  คนเก็บขยะ กระบวนการรีไซเคิล  กระบวนการกำจัดขยะ และจิตสำนึกของผู้คน ที่มองความสะดวกสบายมากกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้โครงการ TCP Spirit จากกลุ่มธุรกิจ TCP ในปีนี้ จึงมุ่งมาที่การจัดการขยะ ภายใต้แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำอาสาสมัครคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ในโครงการ TCP Spirit “คณะเศษสร้าง” มาเรียนรู้โมเดลการจัดการขยะของชุมชนบ้านหาดทรายดำ จังหวัดระนอง 

โมเดลการจัดการขยะ ชุมชนหาดทรายดำ จังหวัดระนอง เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ชุมชนบ้านหาดทรายดำ กลุ่มธุรกิจ TCP และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ(IUCN) ที่มีเป้าหมายในการจัดการขยะที่เคยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนเกาะทิ้งบ้านเกิดไปหางานทำบนแผ่นดินใหญ่ ให้กลายเป็นศูนย์  ไม่มีหลงเหลือตกหล่นอยู่ในธรรมชาติที่จะทำให้ท้องทะเลซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากิจของคนบนเกาะต้องเสื่อมโทรมลง

สราวุฒิ อยู่วิทยา

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า  โครงการ TCP Spirit ในปีนี้มาสู่การทำกิจกรรมด้านการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ หรือ “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี  เราจึงเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับพันธมิตร ชุมชน และอาสาสมัคร ผ่านกิจกรรมที่ให้ความรู้ ความเข้าใจการจัดการเศษขยะ มาสร้างให้เกิดประโยชน์ใหม่ นำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน 

“จุดประสงค์ของเรามีหลายมิติ ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์  สิ่งแวดล้อม และการเติบโตของธุรกิจ ประเด็นเรื่องบรรจุภัณฑ์ก็เป็นหัวใจส่วนหนึ่ง เพราะขยะมาจากสิ่งที่เราผลิต เริ่มต้นจากโรงงาน มาจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ ว่าเราจะออกแบบผลิตภัณฑ์แบบไหนให้ สามารถรีไซเคิลได้ 100%  พอออกมาขาย ผู้บริโภคดื่มแล้ว ในขั้นตอนสุดท้ายที่จะต้องไปเก็บบรรจุภัณฑ์นั้นกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ตรงนี้ยังเป็นความท้าทายอยู่”  

สราวุฒิกล่าวต่อว่า  TCP Spirit เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะช่วยสร้างโมเดลการจัดเก็บกลับบรรจุภัณฑ์และจัดการขยะ ซึ่งเป็นโครงการยกระดับแนวปฏิบัติการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility-EPR) ที่ทำงานร่วมกับ IUCN ทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าที่จะจัดเก็บขยะในประเทศไทยให้มากกว่า 730 ตัน รวมทั้งสร้างโมเดลต้นแบบความรับผิดชอบในการจัดการขยะของกลุ่มธุรกิจ TCP ภายในระยะเวลา 3 ปี 

ไพบูลย์ สวาทนันท์

โดยโมเดลต้นแบบที่ชุมชนบ้านหาดทรายดำ ผู้นำชุมชน ไพบูลย์ สวาทนันท์ แพทย์ประจำตำบลหงาว จังหวัดระนอง กล่าวว่า ขยะที่มีอยู่ในชุมชมสะสมมานาน 40-50 ปี โดยไม่มีการจัดการ  อบต.ใช้งบจัดการขยะปีละ 2-3 ล้านบาท แต่กลับมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พอถึงจุดที่ทรัพยากรหายไป คนในชุมชนก็ทิ้งบ้านออกไปหางานทำที่อื่น  

“ผู้นำชุมชนคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้กลับมา แรงจูงใจอันดับแรกคือ รายได้  เราจึงคุยกับหน่วยงานต่างๆ ทำปะการังเทียม ปล่อยสัตว์น้ำวัยอ่อน และบริหารจัดการพื้นที่ ระยะเวลาผ่านไป 3 เดือนผลตอบรับดีมาก  ที่นี่มีทรัพยากรมากกว่า 100 ชนิด  ถ้าระนองมี 100 ชนิด อยู่ที่นี่ทั้งหมด  กุ้งมังกร ปลาเต๋าเต้ย  อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านจับสัตว์น้ำสร้างรายได้ที่น่าพอใจ”   

แต่เมื่อประชากรกลับเข้ามาทำมาหากินบนเกาะมากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาขยะก็กลับมาอีกครั้ง ประชากรบนเกาะที่เคยมีอยู่ 100-200 คน เพิ่มขึ้นเป็น 400-500 คนแล้ว ทำให้ขยะที่หมักหมมเริ่มส่งผลกระทบ สัตว์น้ำเริ่มหายไป เพราะปัญหาน้ำเน่าเสีย ไพบูลย์ จึงไม่อยากให้ชุมชนหาดทรายดำ กลับไปอยู่ในสภาพรกร้างเหมือนเดิม จึงต้องมีการบูรณาการจัดการขยะ

ไพบูลย์ เล่าถึงการจัดการขยะในชุมชนหาดทรายดำว่า อันดับแรกคือ เรื่องขยะ มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน  ขยะขายได้   ขยะที่ต้องทำลายโดยการเผา และขยะเปียกที่สามารถย่อยสลายได้ แยกทิ้งลงแต่ละถัง โดยกำหนดเป้าหมายในการรณรงค์ลำดับแรกที่ ร้านค้าบนเกาะ ซึ่งเป็นต้นตอของการสร้างขยะ ให้ปรับเปลี่ยนสินค้าที่จำหน่ายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ลำดับต่อไปคือ กลุ่ม อสม.ที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ที่จะต้องเป็นตัวอย่างของความสะอาด แยกขยะอย่างถูกต้อง เมื่อมี 2 กลุ่มใหญ่นี้เป็นแกนนำ การรณรงค์กับชุมชนที่เหลือก็เป็นเรื่องง่าย

“เราทำเรื่องจัดการขยะไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหารายได้จากการขายขยะรีไซเคิล เพราะหากเทียบกับอาชีพหลักในการจับสัตว์น้ำ ถือว่าน้อยมาก แต่อยากจะบอกว่า หากไม่มีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง เมื่อขยะลงสู่ท้องทะเล ก็หมายถึงแหล่งสร้างรายได้หลักของชุมชนจะหายไป สุดท้ายเชื่อว่าขยะบนเกาะจะถูกบริหารจัดการจนหด ไม่เป็นภาระให้ อบต. ต้องนำไปทิ้ง ได้ภายในเวลา 1 ปี”  ผู้นำชุมชนบ้านหาดทรายดำ กล่าว 

ด้าน สราวุฒิ กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ภายใต้แผนงาน ESP ที่กลุ่มธุรกิจ TCP กำลังทำอยู่ เป็นธีมใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่ก็คือ Circular Economy ทำอย่างไรให้สิ่งที่เราผลิตออกมา สามารถกลับมาสร้างคุณค่าได้อีก กลับมาขายได้อีก  ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งชุมชนบ้านหาดทรายดำ เป็นโมเดลทดลองที่แข็งแรงมาก ที่และหากโมเดลนี้สามารถเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ก็จะเกิดพลังในจังหวัดอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ร่วมถึงมีบริษัทอื่นๆ มาร่วมกันมากขึ้น

โดยในบทบาทของผู้ผลิต สราวุฒิกล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TPC มีการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง 60% ขวดแก้ว 35% และพลาสติก 5%  ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ราว 90% ขณะที่อีก 10% ที่รีไซเคิลไม่ได้ เช่น เช่นฝาขวด ขวดแก้วบางส่วน รวมถึงซองซันสแน็ก ก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้ง 100% ภายในปี 2567

“ผมว่าในส่วนของผู้ผลิต หลายๆ บริษัทรู้ตัวกันหมดแล้วว่าต้องทำอะไรกันบ้าง ในเรื่องความรู้ ความเข้าใจในการจะเรียกมันกลับมา ระบบการรีไซเคิลเราทำได้อยู่แล้ว มีโรงงานงานรีไซเคิลใหญ่ๆ อยู่หลายโรง ถ้าสามารถนำขยะกลับมาก็จะรีไซเคิลได้ แต่เรายังเก็บกลับมาได้ไม่มากพอ เหมือนเช่น กระดาษ ที่วันนี้ต้องนำเข้าขยะกระดาษจากต่างประเทศมาผลิต  หากมีระบบเก็บกลับที่มีประสิทธิภาพ เหมือนเช่น ความร่วมมือกันของชุมชนบ้านหาดทรายดำ ตรงนั้นก็จะเกิด Circular Economy ได้จริง” สราวุฒิกล่าว