แกร็บ เปิดเกมรุกสมรภูมิ  “Quick Commerce”  วางกลยุทธ์ คุ้ม-ครบ-คูล นำ “แกร็บมาร์ท”ชูธงผู้นำตลาด

299

เชื่อว่าวันนี้ คนกรุง คนหัวเมืองใหญ่ และหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศไทย คงคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery กันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งชื่อของผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ที่คุ้นเคยถูกเรียกใช้บริการเป็นชื่อแรกๆ แกร็บฟู้ด น่าจะเป็นชื่อลำดับต้นๆ  ซึ่งส่วนสำคัญที่สร้างความสำเร็จให้กับแกร็บฟู้ด นอกเหนือจากจำนวนไรเดอร์ผู้ส่งอาหารมีจำนวนมากกว่า จำนวนร้านอาหาร ทั้งร้านใหญ่ ร้านน้อย ร้านเล็กก็มีให้เลือกมากกว่าแล้ว ยังมีดีลพิเศษมานำเสนออยู่ตลอดเวลา

ความสำเร็จนี้ถูกนำมาต่อยอดกับอีกหนึ่งบริการที่ แกร็บ เปิดตามหลังมา คือ แกร็บมาร์ท บริการส่งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่แกร็บ เริ่มทดลองทำตลาดในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในปลายปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19  ศึกษาพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้คน ก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2563 โดยปัจจุบันเปิดให้บริการ  7  ประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งในประเทศไทย ก็ถือเป็นตลาดสำคัญลำดับต้นๆ ของแกร็บ

จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม

จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจแกร็บมาร์ท แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บมาร์ท บริการสั่งซื้อสินค้าแบบออนดีมานด์จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไป ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยในช่วงไตรมาสสองของปี 2563 เนื่องจากเป็นบริการที่ช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหาความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยและความรวดเร็วในการจัดส่งแบบทันที ประกอบกับอิทธิพลจากสถานการณ์โควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์การสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากและมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้ รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (e-Conomy SEA Report 2021) ระบุว่า ในปี 2564 ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึงตลาด Quick Commerce ที่แม้ความนิยมและมูลค่าตลาดอาจจะยังไม่สามารถเทียบเท่ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ แต่ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของสดและของชำ (Online grocery) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเข้าถึง (penetration rate) หรืออัตราการซื้อสินค้าประเภทนี้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพียง 2% เท่านั้น

ในตลาด Quick Commerce ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลักเมื่อต้องเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันแบบออนดีมานด์ นั่นคือ การมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกสรร การจัดส่งที่รวดเร็ว และราคาที่เข้าถึงได้  ซึ่งปัจจุบันแกร็บมาร์ทครอบคลุมพื้นที่การให้บริการใน 68 จังหวัด ด้วยแกร็บไรเดอร์มากกว่าแสนคน  มีร้านค้าพันธมิตรรวมกว่า 15,000 สาขา ตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงสเปเชียล สโตร์ แบรนด์ใหญ่ อาทิ เทสโก้โลตัส ท้อปส์ กรูเม่มาร์เก็ต แฟมิลี่มาร์ท  ซีพีมาร์ท เบทาโกร บู๊ทส์  วัตสัน  บีทูเอส บุญถาวร และมูจิ ฯลฯ รวมไปถึงร้านโชห่วย ร้านขนาดเล็ก ที่ในช่วงโควิดมีเข้ามาร่วมมากกว่า 9,000 ร้าน  มีสินค้าให้เลือกซื้อมากกว่า 180,000 รายการ  และใช้เวลาในการส่งสินค้าจากร้านค้าถึงบ้านผู้บริโภคเฉลี่ย 25 นาที

จันต์สุดา กล่าวต่อว่า เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดควิกคอมเมิร์ซ แกร็บมาร์ทจึงเดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจและขยายฐานผู้ใช้บริการผ่านกลยุทธ์ “คุ้ม ครบ คูล” ซึ่งครอบคลุมการเสริมความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน คือ

คุ้ม (Affordability): นำเสนอความคุ้มค่าให้กับผู้ใช้บริการผ่านการทำแคมเปญการตลาดและส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรร้านค้าและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ พร้อมมอบดีลส่วนลดต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือโมเมนต์พิเศษ รวมถึงส่วนลดขั้นกว่าจากแพ็กเกจสมาชิกรายเดือนหรือ GrabUnlimited

ครบ (Wide Selection): เพิ่มหมวดหมู่ของสินค้าให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ของสดของชำ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป สินค้าด้านสุขภาพและความงาม สินค้าสำหรับแม่และเด็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

คูล (User Experience): พัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน ตลอดจนระบบการให้บริการและมาตรฐานการจัดส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหา เลือกซื้อ และสั่งสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิ การใช้ระบบ AI ในการนำเสนอดีลส่วนลดจากร้านค้าในรัศมีของผู้ใช้บริการ การจัดอันดับร้านค้าในแอปพลิเคชันตามคะแนนความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และ การจัดให้มีไอคอนในแกร็บมาร์ทสำหรับประเภทสินค้าตามเทศกาล

“นอกเหนือจากกลยุทธ์หลักใน 3 ด้าน ในปีนี้ แกร็บยังเตรียมเดินหน้าขยายพันธมิตรและการเข้าถึงสินค้าไปยังกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร้านโชว์ห่วย ร้านขายของชำในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้แพลตฟอร์มของแกร็บในการเข้าถึงฐานลูกค้าในวงกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายโอกาสในเชิงธุรกิจให้กับกลุ่ม MSMEs ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยสร้างงานให้กับไรเดอร์ เพื่อให้มีรายได้มากกว่านอกเหนือจากการส่งอาหาร  ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ GrabForGood ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคม”  จันต์สุดา กล่าว