ชี้พลังงานแสงอาทิตย์ไทย เดินช้า “ทรินา โซลาร์” พร้อมนำนวัตกรรมโซลาร์เซลล์รุกตลาด B2B 

150

ในเวลานี้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน คงระทึกขวัญกับค่าไฟฟ้าที่แพงลิ่วกันทั่วทั้งประเทศ ผลกระทบกับค่าไฟที่สูงขึ้น นอกเหนือจากผู้บริโภคที่โดนตรงๆ จากการใช้ไฟฟ้าในบ้าน แต่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนักหนายิ่งกว่า ทำให้มีการพูดกันถึงพลังงานไฟฟ้าทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ 

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ถูกพูดถึงกันมานาน และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่เริ่มมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน หากแต่ขาดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทำให้ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพียง 3.049 Gigawatt คิดเป็น 20% ของแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ขณะที่เวียดนาม ที่เริ่มตามหลังมา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตมากถึง 16.660 Gigawatt

เมื่อตลาดยังเติบโตได้ไม่มากเช่นนี้  ทรินา โซลาร์ บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรด้านเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานอัจฉริยะชั้นนำของโลก และเป็นผู้นำระดับท้อป 3 ในประเทศไทย จึงมองเป็นโอกาสสำคัญในการรุกตลาดในประเทศไทย

ลิม ชอง บูน

ลิม ชอง บูน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และการตลาดประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทรินา โซลาร์กล่าวว่า ทรินา โซลาร์ เป็นบริษัทสัญชาติจีน ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ก่อนจะมีการตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาเซลล์ ที่จังหวัดระยองเมื่อปี 2016  มีกำลังการผลิต 1 Gigawatt โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาสามารถรักษาตำแหน่งซัพพลายเออร์แผงโซลาเซลล์ Top 3 มาอย่างต่อเนื่อง 

ลิม ชอง บูน มองว่า ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก โดยแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานชีวมวล(Biomass) ทรินา โซลาร์จึงพร้อมให้การสนับสนุน โดยล่าสุด ทรินา โซลาร์ ประกาศเปิดตัวแผงโซลาร์เซลล์รุ่น Vertex DE19R อย่างเป็นทางการที่งานASEAN Sustainable Energy Week กรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นในวันที่ 14 -16 กันยายน ที่ผ่านมา

แผงโซลาร์เซลล์รุ่น Vertex DE19R ผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 580 วัตต์และมีประสิทธิภาพสูงสุดถึง21.5%  พัฒนาและผลิตขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเซลล์ 210 มม. แตกต่างจากรุ่น DE19 ก่อนหน้า ตัว ‘R’ แสดงให้เห็นว่าแผงโซลาร์เซลล์เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แทนที่จะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ช่วยประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง  มีการพัฒนาให้ปฏิบัติงานได้อย่างดีเยี่ยมยิ่งขึ้นกับอินเวอร์เตอร์ เหมาะกับการติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม  เนื่องจากพลังงานและประสิทธิภาพที่สูงจะช่วยให้ใช้พื้นที่บนหลังคาที่มีอย่างจำกัดได้อย่างเต็มที่ที่สุด ทำให้ค่าอุปกรณ์ประกอบระบบ (BOS) ลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ลดลงด้วย อีกทั้งยังมีความสเถียรอย่างสูง

สำหรับโครงการในประเทศไทยที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ทรินา โซลาร์นำเสนอรุ่น Vertex DE21 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 21.6% และผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 670 วัตต์ สถาบันระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer ISE) สถาบันวิจัยจากเยอรมนี ได้ดำเนินการประเมินอย่างละเอียดเมื่อปีที่แล้ว และได้ค้นพบว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ของรุ่น Vertex 670W ต่ำกว่ารุ่น 540W 4.2% ที่ใช้แผ่นเวเฟอร์เส้นผ่านศูนย์กลาง 182 มม. และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE)  ต่ำกว่า 4.1% Fraunhofer ISE ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 เป็นสถาบันวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

“ปัจจุบันการลงทุนติดตั้งแผงโซลาเซลล์มีต้นทุนลดลงมาใกล้เคียงกับการใช้ไฟฟ้าแบบเดิมๆ โดยลดลงมาถึง 80% จากเมื่อเริ่มมีการติดตั้งในยุคแรกๆ  ซึ่งการลงทุนติดตั้งจะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลา 6 ปี  ขณะที่อายุของแผงโซลาเซลล์มีอายุยาวนานถึง 25 ปี โดย ทรินา โซลาร์ มีนโยบายการทำตลาดเฉพาะกลุ่ม B2B  ทั้งการวางระบบให้ในเชิงพาณิชย์ กลุ่มอุตสาหกรรม และศูนย์การค้า  และการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าส่งให้กับโรงไฟฟ้า  ยังไม่ได้มองตลาดผู้บริโภค”

ลิม ชอง บุน กล่าวต่อว่า ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจะเติบโตได้ ต้องมองไปที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กรต่างๆ ว่า จะมองถึงอนาคตพลังงานของโลกที่พลังงานเดิมๆ มีราคาสูงขึ้น ผนวกกับอนาคตของพลังงานสีเขียวที่จะช่วงรักษ์โลกก็จะเป็นเทรนด์ที่ทำให้องค์กรต่างๆ หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น

ด้าน ทอดด์ ลี ประธานบริษัทของทรินา โซลาร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า “ในฐานะแบรนด์แผงโซลาร์เซลล์แรก ๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ทรินา โซลาร์ได้ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับตลาดไทยมาตลอดสิบปี  โดยการร่วมแสดงในงาน ASEAN Sustainable Energy Week ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากมองเห็นว่า ตลาดไทยเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญอย่างมากต่อทรินา โซลาร์ เราเป็นแบรนด์ที่ติดสามอันดับแรกในตลาดไทยเสมอ และต้องขอบคุณพันธมิตรธุรกิจในไทยทุกรายอย่างมาก ที่ทำให้เราครองอันดับนี้ได้” 

 โดยล่าสุด เอฟเวอร์ไชน์นิ่ง อินเกรเดียน ผู้ผลิตอาหารสัตว์จากจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รุ่นVertex DE21 ของทรินา โซลาร์ไปทั้งหมด 1,247 แผง ทำให้กลายเป็นลูกค้ารายแรกในทวีปเอเชีย นอกจากประเทศจีนที่ใช้รุ่นนี้

ทอดด์ กล่าวว่า ตลาดในประเทศไทยเป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว และมีลูกค้าที่มีความเชี่ยวชาญและกำลังมองหาเทคโนโลยีล่าสุด ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดแสดงผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ล่าสุดที่ทันสมัยที่สุดของเราที่งานนี้ และทรินา โซลาร์จะเปิดตัว DE21 รุ่นที่สองซึ่งเป็นแผงโซลาร์เซลล์รุ่นสองหน้า ใช้เซลล์เอ็นไทป์ ขนาด 210 มม.  ในไตรมาสแรกของปีหน้าในประเทศไทย