วีระพงษ์ มาลัย : มองโอกาสเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับการสนับสนุนจาก สสว.

1666

วีระพงษ์ มาลัย 

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ไวรัสมหาภัย โควิด-19 ไม่ได้เพียงทำให้ผู้คนป่วยไข้ ล้มตายไปนับล้าน แต่ยังทำให้หลายๆ ธุรกิจล้มครืน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มีสายป่านเงินทุนไม่มากนัก มีการคาดการณ์ว่า มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยที่มีอยู่ราว 3 ล้านราย ต้องเลิกกิจการไปในช่วงเวลายากลำบากนี้มากถึง 35%  แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังอยู่ ก็ไม่ใช่งานง่ายเลยที่จะฝ่าฝันวิกฤตในครั้งนี้ให้อยู่รอดต่อไปได้ 

ห้องรับแขก 362 degree  ได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. “วีระพงษ์ มาลัย” มาพูดคุยถึงบทบาทของ สสว.และข้อเสนอแนะ ที่จะช่วยพาเอสเอ็มอีไทย สร้างโอกาสเติบโตเพื่อรองรับกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังจะกลับมาเติบโตอีกครั้งวิกฤตโควิด-19 จบลง

ผู้อำนวยการ สสว. เริ่มต้นบทสนทนาว่า  “ผู้ประกอบการแต่ละรายมีศักยภาพ ความน่าสนใจ มีจุดแข็ง-จุดอ่อนไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ สสว.ดำเนินการได้เป็นส่วนใหญ่ก็คือ การดึงศักยภาพ ดึงจุดแข็งที่เขามี รวมถึงปรับแก้ในประเด็นที่เป็นจุดอ่อน หรืออุปสรรค และเป็นการทำงานที่บางครั้งไม่ได้เป็นการดำเนินการของ สสว.เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นเรื่องของการบูรณาการ และเชื่อมโยงหน่วยงาน องค์การอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย”

กลไกที่ สสว. เข้าไปต่อ และเติมเต็ม คือการให้ผู้ประกอบการโตจากฐานที่ตนเองมี แต่การทำงานแบบเหมาเข่ง มี 100 ราย ทำเหมือนกันทั้งหมด คงเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ดังนั้นสสว.จึงมีวิธีการส่งเสริมผู้ประกอบการจะเป็นการ Customized มากขึ้น 

“ไม่ใช่วันนี้ คุยเรื่องดิจิทัล คุยแต่เรื่องดิจิทัลกันหมด อีกวันคุยเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพ ก็คุยเรื่องนี้กันหมด แต่ละคนจะมีความสนใจไม่เหมือนกัน เราจึงใช้เครื่องมือที่มีความหลากหลายมากขึ้น เจาะเฉพาะกลุ่ม เฉพาะอุตสาหกรรม แต่บางประเภทอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ยังมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางคนอาจอยากได้เรื่องการคุมต้นทุน อีกคนอาจอยากคุมการบริการเพื่อให้บริการได้เร็ว ดังนั้น การให้การสนับสนุนผู้ประกอบการแต่ละรายจึงควรมีความแตกต่างกัน แม้จะอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน” 

วีระพงษ์เล่าว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มจากพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน ถ้าคนในพื้นที่มีของดี แต่อาจเล่าเรื่องไม่เป็น การให้องค์ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ การที่จะเล่าเรื่องออกมาได้ ต้องผ่านกระบวนการความคิด  ถ้าไปคุยกับชุมชนทั่วไปที่ไม่ผ่านการพัฒนาทักษะการเล่าเรื่อง ก็จะเล่ากลับไปกลับมา ดังนั้น สสว. จึงเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ ดึงจุดแข็ง นำเทคโนโลยี นำดีไซน์ การผลิต ใช้แต่ละโครงการเข้ามาเสริมตามความต้องการของผู้ประกอบการ

“งานของ สสว. ถ้าเราใจร้อน อยากให้ผลเร็วๆ มันไม่มี ถ้าสังคม ประชาชน รัฐบาล บอกว่าอยากเห็นเร็วๆ ไม่มี เหมือนการเรียนหนังสือ กว่าจะโตต้องเริ่มจากอนุบาล ต้องมีการพัฒนา มีความต่อเนื่อง เริ่มจากง่ายไปยาก ต้องเก่งขึ้นทุกปี แต่ปัญหาคือการหยุดพัฒนา เหมือนเรียนถึง ป.4 แล้วเลิก เลิกก็ได้ แต่ก็ต้องไปดิ้นรนทำอย่างอื่น ดิจิทัลทำให้เราทำตลาดได้ง่ายขึ้น แต่องค์ความรู้ก็มากขึ้นเช่นกัน ปัญหาคือประเทศเราวันนี้ความสามารถในการหาข้อมูลจากดิจิทัลยังมีน้อย  การเล่าเรื่องทุกคนอยากจะเล่าเรื่อง แต่ก็เล่าเหมือนๆ กัน มองประเด็นไม่ออก เรื่องแบบนี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป”  

วีระพงษ์ มาลัย

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายไม่ประสบความสำเร็จ ผอ.สสว. เล่าว่า “ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเติบโตขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดของตนว่า ถ้าต้องลงทุนเองจะไม่ออกตลาด แต่จะรอให้รัฐมาดำเนินการให้ทั้งหมด บางคนจะรอให้รัฐเปิดตลาด ปีละ 3 ครั้ง ถ้าต้องออกตลาดบ่อยๆ ต้นทุนเดินทางต้องเสียเอง จะไม่ไป รอที่เขาเปิดขายฟรี ปีละ 2-3 ครั้ง พอมีรายได้ แต่ไม่โต  หรือบางรายออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้แล้ว แต่ขอรอบแรก  ถ้ารัฐจ่ายให้หมื่นชิ้น ก็ทำแค่หมื่นชิ้น พอขายหมด ไม่ทำต่อ ที่ไม่โตส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้”

“คนที่เติบโตได้ส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่า จะต้องมีการออกในส่วนของเจ้าของบ้าง และในความเป็นจริงรัฐก็ไม่สามารถอุ้มได้ทุกราย ทำให้โตได้หมด  ดังนั้น หลักเลย เจ้าของเป็นส่วนสำคัญ รัฐลงมาช่วยเท่านี้ เขาก็ต้องลงมาด้วย รัฐให้เครื่องมือมา ก็ต้องเอาไปคิดต่อ นี่สำคัญ เพราะถ้าทุกคนจบแค่ที่รัฐสนับสนุน ก็จะจบแค่นี้ รายที่ไปได้ ส่วนใหญ่ต้องออกแรงเอง”  

ด้านความช่วยเหลือจาก สสว.  ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า “สสว.มีโครงการหลากหลาย บางท่านอ่านชื่อโครงการอาจไม่เข้าใจว่าเป็นการให้ความรู้ด้านใด ก็สามารถติดต่อกับประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัด แต่ส่วนใหญ่ สสว. จะมุ่งเน้นในเรื่องใหญ่ๆ  อย่างการตลาด ช่องทางในการทำมาค้าขายให้ ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์   อีกเรื่องคือ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เสริมศักภาพ”

“ฟังดูเหมือนเป็นองค์ความรู้ แต่เรานำเสนออยู่ในรูปของการประกวด ที่ผู้ประกอบการจะได้เรื่องกระบวนการคิด เหมือนการเรียนหนังสือ ถ้าจะสอบก็ต้องนำเสนอ เหมือนกันถ้าคุณจะประกวด ก็ต้องหาข้อมูลมาใส่เอกสาร ก็จะพบว่า บางเรื่องคุณไม่มี ไม่เคยทำแผนก็ต้องทำ ถ้าคุณอยากได้รางวัล คุณอาจจะพบว่าในโจทย์ 20 ข้อ เราไม่เคยวิเคราะห์ลูกค้าเลย เป็นการสอนทางอ้อม  ไม่ต้องประกวดให้ชนะเลิศ คุณก็ได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ รางวัลการประกวดเป็นร้อยรางวัล ก็เหมือนคุณแข่งกับตัวเอง ไม่มาตรฐานด้านไหนก็ได้รับรางวัล เหมือนการสอบใบอนุญาต  รางวัลเป็นเหมือนการสอบทานวิธีคิดของคุณเอง ไม่ได้แข่งกับใคร ถ้าคุณตอบได้หมดทุกข้อ ทุกด้าน คุณก็ไปต่อได้”  

 แต่ผู้อำนวยการ สสว. ก็ยอมรับว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆ ราย มองวิธีการสนับสนุนของ สสว. เป็นเรื่องใหม่ที่แม้ตนเองจะทำธุรกิจมานานก็ไม่เคยพบ ไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้  “บางคนเหนื่อยมาก ผู้ประกอบการอาจถามว่า ต้องตอบเรื่องนี้ด้วยหรือ ตั้งแต่ทำธุรกิจมาไม่เคยต้องตอบ แต่ถ้าเขาพยายามตอบให้ได้ ก็จะรู้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการจะทำให้เขาชนะตลาด ชนะคู่แข่ง เห็นทางสว่าง อาจจะคิดว่าไร้สาระ แต่รายที่ประสบความสำเร็จก็จะเห็นว่า เป็นคำถามที่ Challenge เขา ตาสว่างเมื่อได้ทำ แต่ถ้าคุณแอนตี้ ไม่ต้องรู้ ก็ทำอยู่ได้ปีละ 20-30 ล้านบาท คุณก็จะไม่มีวันก้าวถึงร้อยล้าน”

สำหรับคำแนะนำ ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือ วีระพงษ์ มาลัย ผอ.สสว. ให้แนวทางว่า “สถานการณ์แบบนี้ เวลาใครจะมองหาความหวัง หันมาเห็นชื่อเรา “ส่งเสริมวิสาหกิจ” ก็คิดว่าน่าจะช่วยเขาได้ เหมือนเรามีลูกอยู่ 3 ล้านกว่าคน แต่ละคนก็มีความพร้อมไม่เหมือนกัน ความเข้าใจ ดื้อ ซน ไม่เหมือนกัน งบประมาณที่เรามีไม่มาก เอามาหารเหลือคนละหลักร้อย จะช่วยทั้งหมดคงไม่ได้ แต่ถ้าคิดแบบคนจีนสมัยก่อน ก็ต้องช่วยคนที่ตั้งใจทำมาหากินก่อน เพราะ 3 ล้านกว่าราย ก็ต้องเลือกคนที่พอจะไปได้ ช่วยกันพอประมาณ ต้องโฟกัส ผู้ประกอบการก็ต้องขยับยกระดับขึ้นมา ส่งลูกไปเรียน อาจไม่มีเสื้อผ้าใหม่ แต่ก็ต้องขยันให้เห็นกันหน่อย ผู้ประกอบการที่เข้ามา ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความขยัน เราก็พยายามเชื่อมต่อกับสิ่งที่ทำให้เขาได้ก่อนเบื้องต้น”  ท้ายที่สุด ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่พร้อมจะเติบโตจากความช่วยเหลือจาก สสว.ว่า  “สสว.ไม่สามารถเตรียมอุปกรณ์การสอนได้แบบพร้อมมือ คนทำเหมือนกันมีเป็นร้อย เราก็เล่าเรื่องเดียวกัน ดังนั้น ความตั้งใจกับพยายามที่ไม่เท่ากัน สุดทางก็ไปได้ไม่เหมือนกัน ความสำเร็จในแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการต้องเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน 60-70%  ต้องข้ามเส้นครึ่งหนึ่งไปเยอะเลย และ สสว.จะช่วยเติมให้เต็มร้อย”