5 ข้อน่าเฝ้าระวัง รู้ทันโรคไข้เลือดออก

331
tiger mosquito on skin. proboscis inserted and feeding.

นอกจากโรคโควิด-19 ที่ยังสร้างความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากำลังจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นก็ตาม ตอนนี้ก็มีโรคฝีดาษวานรที่เราต้องเฝ้าระวังกันแล้ว หากจะกล่าวถึงหนึ่งในโรคระบาดที่อยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานคงไม่พ้นโรคไข้เลือดออก ภัยที่มากับยุงลายและภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้น บางรายมีอาการรุนแรงและอาจมีอาการแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงแม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับโรคไข้เลือดออก แต่ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจที่หลายคนอาจยังไม่รู้ เนื่องในโอกาสของ “วันไข้เลือดออกอาเซียน” หรือ ASEAN Dengue Day ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน มาดูกันว่า 5 ข้อน่าเฝ้าระวัง เพื่อรู้ทันโรคไข้เลือดออกมีอะไรบ้าง

1. อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ระบาดของโรคไข้เลือดออกขยายวงกว้างขึ้น

โรคไข้เลือดออกมีการระบาดตลอดปี แต่จะระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน พื้นที่น้ำท่วมขังและพื้นที่ที่มีอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เชื้อไข้เลือดออกสามารถส่งต่อผ่านยุงลายจากรุ่นสู่รุ่นในไข่ ไข่ของยุงลายสามารถทนอากาศ ทนความร้อน อยู่ได้นานหลายเดือน และกระจายไปได้ทั่วโลก ด้วยสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศในปัจจุบันที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส ทำให้บางพื้นที่ที่เคยมีอุณหภูมิต่ำ ยุงลายไม่สามารถวางไข่ได้ กลับอุ่นขึ้น และเริ่มพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เหล่านั้น บางประเทศที่ไม่เคยต้องรับมือกับโรคไข้เลือดออกจึงต้องสร้างความตระหนักให้กับภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงแนวโน้มของจำนวนประชากรโลกที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออกนั้นเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2562 โรคไข้เลือดออกถือเป็นภัยด้านสาธารณสุข 1 ใน 10 อันดับของโลก ประชากรโลกกว่าครึ่งอยู่ภายใต้ภัยคุกคามของโรคไข้เลือดออก ในละปีมีผู้ติดเชื้อกว่า 390 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน[1] [2]

2. โรคไข้เลือดออกไม่เลือกฐานะ สีผิว เชื้อชาติ หรืออายุ

โรคระบาดบางประเภท มักเกิดในพื้นที่แออัด หรือเกิดกับคนที่มีลักษณะทางกายภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดเชื้อชาติหรืออายุ เพียงแค่อยู่ในพื้นที่ที่มียุงลายก็สามารถเป็นได้ ใครเป็นแล้วก็เป็นซ้ำอีกได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีที่เป็นที่มาของโรคไข้เลือดออกมีถึง 4 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยอาการที่พบได้ทั่วไปคือ ไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดผื่นที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงมักพบว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึมหรือกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้ว จะไม่มีการติดซ้ำ แต่การติดเชื้อครั้งที่ 2 กับสายพันธุ์ใหม่จะมีอาการรุนแรงกว่าครั้งแรก

3. กรุงเทพฯ หนึ่งในแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายชั้นดี

นพ. ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เผยว่า กรุงเทพฯ อยู่ในลำดับที่ 6 ของพื้นที่ที่มีอัตราการป่วยจากโรคไข้เลือดออกสูงในประเทศไทย เนื่องจากความหลากหลายในภูมิอัตลักษณ์ ทั้งตึกสูง คอนโด พื้นที่สวน และมีจำนวนประชากรหนาแน่น ความเสี่ยงจึงสูงขึ้นตาม แนวทางการจัดการในกรุงเทพฯ จึงต้องเน้นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สวนสาธารณะ สาธารณสุข และโรงเรียน เป็นต้น ต้องมีการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่สามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่าย และตรงใจ เพื่อโน้มน้าวให้คนกว่า 10 ล้านคนที่อาศัยและเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นประจำได้รับรู้ถึงภัยของโรคไข้เลือดออก และช่วยกันเฝ้าระวัง

นพ. ชวินทร์ ศิรินาค

4. โรคไข้เลือดออกไม่มียารักษา

การดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกคือต้องคอยสังเกตอาการ เนื่องจากยังไม่มียารักษาจำเพาะ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อให้อยู่ในความดูแลใกล้ชิดของแพทย์และรักษาแบบประคับประคอง ศ. เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero ให้ข้อมูลว่าความรู้เรื่องการกินยาที่ถูกต้องเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากหนึ่งในอาการของโรคคือเกล็ดเลือดต่ำ การกินยาแอสไพรินเพื่อลดไข้จึงเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยงอย่างมาก เพราะจะส่งผลให้เลือดออกง่ายขึ้น และห้ามกินยาในกลุ่ม NSAIDs เป็นอันขาด 

ศ. เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี

5. การสร้างพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดี ต้องเริ่มจากเยาวชน

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นที่ยังไม่มีการป้องกันได้ 100% ทุกฝ่ายจึงต้องเฝ้าระวังและป้องกัน สิ่งแรกที่เราทำได้คือเริ่มจากตัวเราเอง การดูแลสภาพภายในบ้านและที่ทำงานไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง คอยเปลี่ยนแหล่งน้ำขังในบ้านให้สะอาด ไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ ซึ่งการสร้างพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้สามารถเริ่มได้เสมอ ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 อัตราป่วยอาจจะพบมากในเด็กวัย 5-14 ปีเป็นส่วนใหญ่ เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่เสี่ยงในการที่นักเรียนจะถูกยุงลายกัดตอนกลางวัน และผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกส่วนมากเป็นวัยรุ่น การสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรค จะช่วยลดอุบัติการณ์เกิดโรค ความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

วันไข้เลือดออกอาเซียน” หรือ ASEAN Dengue Day ในวันที่ 15 มิถุนายน จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยได้รับรู้เกี่ยวกับภัยของโรคไข้เลือดออก ในส่วนของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนเองได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero กับภาคีเครือข่ายจำนวน 11 องค์กรที่นำโดย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิยาลัยมหิดล  สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด มาตั้งแต่ช่วงต้นปี ด้วยเป้าหมายหลัก 3 ประการ ในการลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 การลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1:10,000 ราย และการควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2569) โดยมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติจริง มีการประสานงานเพื่อการรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อที่เร็วขึ้น เพื่อส่งหน่วยงานเข้าไปทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ การวิจัยเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงจากการสำรวจพื้นที่เสี่ยง การสร้างความตระหนักรู้ผ่านการสื่อสารและนวัตกรรมรูปแบบใหม่

ปีเตอร์ สตรีบัล

ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทาเคดา ในฐานะบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกที่มีความมุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ตระหนักถึงปัญหาของโรคไข้เลือดออกและไม่อยากให้คนไทยต้องสูญเสียจากโรคนี้ เรารู้ดีว่าการจะเอาชนะโรคนี้ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานหรือใครเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นเดียวกันในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก ทาเคดา มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Dengue-Zero นี้ โดยเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของทาเคดาในการสนับสนุนทุกความร่วมมือเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน