3 อาการพึงสังเกตไว้ ก่อนโรคหัวใจวายถามหา

1027

ภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว เกิดจากการทำงานผิดปกติของหัวใจ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงได้เพียงพอ ความรุนแรงมีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ดังนั้นการสังเกตอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่รีรอไม่ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น การรู้เร็วย่อมดูแลตัวเองได้ถูกวิธีและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากหัวใจวายได้ 

นพ. วิชัย จิรโรจน์อังกูร

นพ.วิชัย จิรโรจน์อังกูร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หัวใจวายสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันเฉียบพลัน จึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง ลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง ทำให้การสูบฉีดเลือดลดลง หรือลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน ทำให้ปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลง กลุ่มของโรคต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ และผู้หญิงที่มีอาการของครรภ์เป็นพิษ ซึ่ง 3 อาการต่อไปนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าหัวใจกำลังจะวายหรือล้มเหลว ได้แก่

1) เหนื่อยง่าย อาการเหนื่อยอาจบ่งบอกว่าหัวใจมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง ความรุนแรงของโรคมักจะสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ หากมีอาการเหนื่อยอยู่ตลอดเวลาจะสื่อถึงความผิดปกติที่รุนแรง

2) แสบแน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ อาการแสบแน่นหน้าอกบ่งบอกว่าหัวใจเกิดการขาดเลือด ส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกแน่นบริเวณกลางหน้าอก อาจมีปวดร้าวจากคอขึ้นไปกราม มีอาการตึง ๆ ชาๆ ที่หัวไหล่ไปถึงช่วงแขน รู้สึกเหมือนมีของหนักทับ หากมีอาการเหล่านี้นานเกิน 20 นาที อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง

 3) อึดอัดเวลานอนราบ จะรู้สึกอึดอัดเวลานอนราบ อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าปริมาณน้ำในหัวใจเพิ่มขึ้นจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติค่อนข้างรุนแรง 

สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่เส้นเลือดหัวใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบกับสุขภาพในอนาคตได้ จึงควรตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Score หรือ CAC) เป็นการหาคราบหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องฉีดสี ใช้เวลาตรวจเพียง 10 – 15 นาที คะแนนที่ตรวจได้ไม่ควรเกิน 400 คะแนน เพราะอาจหมายถึงความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ โดยแพทย์จะทำการประเมินอาการและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด หากรู้ถึงความเสี่ยงได้โดยเร็ว จะสามารถปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม การพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กหัวใจเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ในระยะยาว และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจก่อนวัยอันควรได้ รวมถึงการการไม่ประมาท เลือกรับประทานอาหารและเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ที่สำคัญผู้ป่วยโรคหัวใจต้องพกยาติดตัวไว้เสมอและรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพมีแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานระดับสากล โดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและบุคลากรที่มีความชำนาญพร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยพร้อมทำหัตถการหรือผ่าตัดฉุกเฉินได้ทันที เพื่อลดความรุนแรงของโรคและให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 โทร.1719  หรือ Heart Care LINE Official : @hearthospital