“SASOM” แพลตฟอร์มซื้อขายของสะสมฯ รายแรกในเอเชีย รุกกลุ่มสินค้าใหม่ ใช้ AI บริการลูกค้าเฉพาะราย

391

SASOM (สะสม) ต่อยอดความสำเร็จแพลตฟอร์มซื้อขายของสะสม ของแบรนด์เนมและของหายากรายแรกในเอเชีย รุกเพิ่มพอร์ตกลุ่มสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกและขยายฐานลูกค้า รองรับเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดซื้อขายสนีกเกอร์ในไทยจาก 20% เป็นกว่า 80% ของมูลค่าตลาด เตรียมนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์ให้บริการแก่ผู้เข้าชมแพลตฟอร์มได้แบบเฉพาะราย และเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น วางแผนระดมทุนระดับ Series A ในปีหน้า พร้อมพัฒนาศักยภาพทีมงานคนรุ่นใหม่ ช่วยผลักดันขีดความสามารถในการขยายฐานลูกค้าและรองรับการทำธุรกรรมซื้อขายที่มากขึ้นนายกษิต งานทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สะสม จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม SASOM เปิดเผยว่า หลังจากเปิดตัว SASOM มากว่า 2 ปี โดยมีทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายของสะสม ของแบรนด์เนมรุ่นยอดนิยม สินค้าแฟชั่น สินค้าที่ผลิตจำนวนจำกัด และของหายากทั้งในและต่างประเทศ อาทิ รองเท้าสนีกเกอร์ NIKE ADIDAS ของเล่นสะสมอย่าง BE@RBRICK ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักสะสมและนักลงทุนจากทั่วโลก พร้อมรับประกันสินค้าทุกชิ้นผ่านการตรวจสอบว่าเป็นของแท้ ถือว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยปัจจุบันมีสินค้าให้เลือกซื้อ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ รองเท้าสนีกเกอร์ (รองเท้าผ้าใบ) ของสะสม และแฟชั่นสตรีทแวร์ (เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ) ล่าสุดจึงเตรียมขยายพอร์ตกลุ่มสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มความน่าสนใจให้แก่แพลตฟอร์ม อาทิ เทรดดิ้งการ์ด (การ์ดสะสมที่ได้รับความนิยม) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กล้องถ่ายรูป งานศิลปะ ฯลฯ“เรามองเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดซื้อขายของสะสมแบรนด์และของหายาก โดยปัจจุบันผู้บริโภค Gen Z อายุตั้งแต่ 25-34 ปี นิยมแต่งตัวหรือสะสมสินค้าแฟชั่นตามดาราหรือเซเลบริตี้ชื่อดัง รวมถึงการซื้อขายสินค้าเหล่านี้ยังถือเป็นการลงทุนที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าในอนาคต โดยประเมินว่าในปีที่ผ่านมาการซื้อขายสนีกเกอร์เพื่อการสะสมและลงทุนในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 700 ล้านบาท และ SASOM มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% ส่วนในปีหน้าเราตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย โดยต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็นกว่า 80% เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ เป็นสตาร์ทอัพรายแรกและรายเดียวในไทยที่พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายของสะสม ของแบรนด์เนมและของหายาก” นายกษิต กล่าวนายกันต์พจน์ เลิศโกมลสุข ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สะสม จำกัด กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ได้วางแผนพัฒนาเทคโนโลยีของเซิร์ฟเวอร์และศึกษาข้อมูลความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อยกระดับการให้บริการแพลตฟอร์ม SASOM อย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาระบบรางวัลและขยายการจัดส่งสินค้าให้ประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว และในเร็วๆ นี้ จะเริ่มใช้ระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ในแพลตฟอร์มเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าชมเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายรูปแบบการชำระเงิน E-Payment ในช่องทางอื่นๆ ที่หลากหลาย จากปัจจุบันที่สามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้ ก็เริ่มมีการเปิดประมูลสินค้า การเปิดออเดอร์ตั้งรับสินค้า และอยู่ระหว่างพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่ดีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้รองรับการให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มเพื่อความปลอดภัยในระบบยิ่งขึ้น คาดว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้ภายในช่วงต้นปี 2565นายหฤษฎ์ อัชนะพรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สะสม จำกัด กล่าวว่า ปีนี้บริษัทฯ ได้ระดมทุนระดับ Pre-Series A จาก Kream Corporation ประเทศเกาหลีใต้ ส่วนในปี 2565 ได้วางแผนระดมทุนระดับ Series A อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรมซื้อขายบนแพลตฟอร์ม จากปัจจุบันที่รองรับได้วันละ 300-500 รายการ เป็นวันละ 1,000-1,500 รายการ และภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 3,000-5,000 รายการ โดยในการเตรียมทรัพยากรดังกล่าวรวมไปถึงการพัฒนาและเตรียมพร้อมศักยภาพทีมงานในฝ่ายต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและมีความตั้งใจที่จะร่วมผลักดันให้บริษัทฯ สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้นายสรวิศ หลิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กล่าวถึงการขยายหมวดหมู่สินค้าเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าว่า “เป้าหมายของเราคือการรวบรวมสินค้าที่มีคุณภาพ น่าสะสม และเป็นที่ต้องการ โดยการร่วมมือกับนักขายมืออาชีพหรือนักสะสมที่ปล่อยของสะสมส่วนตัวมารวมอยู่ด้วยกันบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่หลากหลาย ได้มาซื้อผ่านบริการที่ปลอดภัยและสะดวกทั้งสำหรับคนซื้อและขาย จึงวางแผนเปิดตลาดใหม่ๆ ที่คิดว่าจะสามารถทำให้การซื้อขายปลอดภัยขึ้นได้และในราคาที่สมเหตุสมผล หนึ่งในหลักการที่ใช้ในการตัดสินใจการเลือกเข้าตลาดคือการฟังความต้องการของลูกค้าและเทรนด์ อย่างเช่น Surfskate, Playstation 5 หรือรองเท้ากอล์ฟไฮป์ๆ ที่ไม่มีขายในประเทศไทย แบรนด์ไทยเองก็มีแบรนด์ที่เจ๋งมากมาย และคิดว่าเราสามารถช่วยเป็นอีกแรงผลักดันให้สามารถออกไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศได้เพิ่ม”การขยายขีดความสามารถในด้านต่างๆ ของบริษัทฯ สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่ต้องการขยายฐานผู้ซื้อและผู้ขายในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็น  Destination of Secondary Market และตอบโจทย์การเป็น The Collectors Paradise of Asia เทียบชั้นระดับโลก โดยเฉพาะการขยายฐานผู้ซื้อและผู้ขายในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันประเทศดังกล่าวถือเป็นตลาดใหม่ที่ไม่มีผู้พัฒนาหรือนำเสนอแพลตฟอร์มนี้อย่างจริงจัง โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคยังไม่ได้รับความอำนวยสะดวกเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีโอกาสพบสินค้าลอกเลียนแบบได้ โดยบริษัทฯ วางแผนโปรโมตแพลตฟอร์ม SASOM ผ่านการทำตลาดรูปแบบใหม่เพื่อดึงดูดและเข้าถึงผู้ซื้อและผู้ขายต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบของสะสม ของแบรนด์เนมและของหายากในแต่ละประเทศ