GPSC โชว์กำไร Q2/64 โต 21% ฝ่าโควิด-19 ชูศักยภาพครึ่งปีหลัง ดึงนวัตกรรมสร้างรายได้

288

GPSC สุดแกร่งผลประกอบการไตรมาส 2/2564 คว้ากำไร 2,302 ล้านบาท โต 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โชว์ศักยภาพแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง เดินหน้านวัตกรรมพลังงานเต็มสูบ รับรู้ผลการดำเนินงานจากพอร์ตพลังงานสะอาดในต่างประเทศทั้งอินเดีย และไต้หวัน พร้อมยกระดับมาตราการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ดูแลความมั่นคงระบบการผลิต ป้อนไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง

          วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2564 มีรายได้ทั้งสิ้น 18,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 โดยมีกำไรสุทธิ 2,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 (YoY) โดยสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี การรับรู้รายได้จากเงินชดเชย ค่าประกันภัยของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานระยะที่ 5 ปัจจัยบวกจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ากำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) จะลดลงในส่วนของโรงไฟฟ้าเก็คโค่วัน ที่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงในช่วงที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของไตรมาส 2/2564 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 (QoQ) มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 329 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17% เป็นผลการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเงินชดเชยจากค่าประกันโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงานระยะที่ 5 และมีกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้า IPP ถึงแม้ว่า กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า SPP ลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะเดียวบริษัทฯ ยังรับรู้มูลค่า Synergy ร่วมกับ GLOW จากการควบรวมกิจการสุทธิหลังภาษี จำนวน 436 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ รวมถึงการใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน ทั้งยังสามารถลดต้นทุนจัดซื้อจัดจ้าง และงานซ่อมบำรุงได้ตามเป้าหมาย

        สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 4,276  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23%  โดยมีรายได้ทั้งสิ้น 34,858 ล้านบาท หรือลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ยังคงแสวงหาโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน จากกลยุทธ์หลักในการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ วันที่ 13 ก.ค. 2564  บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่ง GPSC  ถือหุ้น 100% ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าลงทุนในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) สัดส่วนประมาณ 41.6% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 14,825 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  ประเทศอินเดีย กำลังผลิตรวม 3,744 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้วประมาณ 1,392 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนประมาณ 2,352 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอย COD ในปี 2564-2565 ทำให้สามารถรับรู้รายได้ทันที

นอกจากนี้ วันที่ 14 ก.ค. 2564 GRSC ยังได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับกองทุน CI-II และ CI-III ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) เพื่อเข้าลงทุนในสัดส่วน 25% ในโครงการ Changfang และ โครงการ Xidao (CFXD) ซึ่งเป็นโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore wind) ในไต้หวัน กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมจำนวน 595 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอย COD ในช่วงปี 2565-2567  CFXD มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ บริษัท Taiwan Power Company โดยคาดว่าการดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินการโอนหุ้นได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

          พร้อมกับความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน โดย GPSC ได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid กำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นการผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี 24M เป็นแบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็ง ที่มีความปลอดภัยสูง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหน่วยงานกักเก็บพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนในการเพิ่มประสิทธิภาพจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยังสามารถรองรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ายานยนต์แห่งอนาคต (EV)

          “แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด โดย GPSC ในฐานะผู้ผลิตสาธารณูปโภคในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคม ได้ยกระดับมาตรการป้องกันเข้มข้นสูงสุด ผ่านการดำเนินงานโดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส (GPSC G-COVID Center) ของบริษัทฯ โดยกำหนดให้พื้นที่กระบวนการผลิตเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ตั้งทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจของแต่ละโรงไฟฟ้า ห้ามบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตไฟฟ้า ไอน้ำและสาธารณูปโภคเป็นไปมีเสถียรภาพและความมั่นคง ตอบสนองความต้องการใช้ของกลุ่มลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง” วรวัฒน์กล่าว