ชวนสังคม “สูงวัย” ปรับพฤติกรรมเสี่ยง ป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม

362

ปัจจุบัน ประเทศไทยพบผู้ป่วยมากกว่า 6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ วัย 65 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 50 โดยปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุคือโรคกระดูกและข้อ เพราะยิ่งอายุเพิ่มขึ้น ความสามารถในการซ่อมแซมของกระดูกอ่อนก็ลดลงไปทุกที

นายแพทย์นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน เผยว่าการเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกายมักจะเริ่มเกิดกับบุคคลที่มีอายุ 40 ขึ้นไป ซึ่ง “โรคข้อเข่าเสื่อม” (Knee osteoarthritis) เกิดจากการใช้งานผิวกระดูกอ่อนที่อยู่ในข้อเข่าเริ่มมีการสึก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง การเดิน การยืน เป็นต้น ดังนั้น ควรปรับพฤติกรรมที่ลดความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม และเพื่อช่วยชะลอกระดูกข้อเข่าให้ใช้งานได้นานมากขึ้น

วิธีป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม

  • การนั่ง หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ เพราะจะทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากขึ้น ท่าที่พับงอกระดูกอ่อนจะเสียดสีกันสูงกว่าปกติ อาจปรับด้วยการนั่งบนเก้าอี้ หรือสลับมานั่งเหยียดขา รวมไปถึงการเข้าห้องน้ำ ควรหลีกเลี่ยงสุขภัณฑ์แบบนั่งยองเพื่อลดแรงกดทับในข้อเข่าลง
  • การนอน ความสูงของเตียงให้เหมะสมกับระดับหัวเข่า เพื่อให้สามารถตะแคงตัวนอนได้ง่าย เวลาที่ลุกก็จะไม่ลำบาก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนอนห่อตัว หดเข่า เพราะมีโอกาสจะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากกว่าปกติ
  • การเดิน การขึ้น-ลงบันไดเป็นสิ่งที่ควรระวัง ห้องนอนผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่างเพื่อลดความเสี่ยงจากการขึ้น-ลงบันได และหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่หัวเข่า เดินในพื้นที่ราบ ไม่มีความชันมากจนเกินไป ผู้สูงอายุสามารถใส่รองเท้าสำหรับเดินในบ้านเพื่อลดแรงกระแทกต่อข้อเข่า หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง
  • การยืน ต้องฝึกการลงน้ำหนักที่ขาทั้งสองข้างให้เท่าๆ กัน ไม่ยืนทิ้งน้ำหนักไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะหัวเข่าอาจได้รับน้ำหนักที่มากเกินไป
  • การควบคุมน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักเยอะเกินไป เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ควรเกิน 25 เพราะหากเกินมาตรฐานจะทำให้หัวเข่าต้องแบกรับน้ำหนัก ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
  • การบริหารข้อเข่า ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พอเหมาะ และพอดี เช่น ฝึกงอ ยืดเหยียดข้อเข่า ยกเกร็งกล้ามเนื้อต้นขา การเดิน การวิ่ง ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าให้แข็งแรงได้
  • อุปกรณ์ช่วยพยุง ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีอาการปวดและเดินไม่ไหว สามารถนำมาใช้เป็นตัวช่วยได้เป็นครั้งคราว เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักตัวให้มีการทรงตัวที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุกล้าเดินอย่างมั่นใจ ช่วยลดการล้มและอุบัติเหตุ มีการเคลื่อนไหวของร่างกายมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้น

บริการข้อมูลโดยโรงพยาบาลนครธน โทร. 02-4509999 บริการคอนแทคเซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมงและออนไลน์แพลตฟอร์มทางเว็บไซต์ www.nakornthon.com