ศอ.บต. จับมือ สสว. เปิดศูนย์ “OSS สสว.” ยกระดับ SME ชายแดนใต้

1296

หนึ่งในภารกิจสำคัญนอกเหนือจากการดูแลความสงบเรียบร้อยของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. คือ การทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่าง สงขลา ปัตตานี และยะลา ต่างเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากมาย และมีผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศอยู่มากมาย  เพียงแต่การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ สามารถสร้างผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีกลไกการทำธุรกิจที่ถูกต้อง มีแหล่งเงินทุน มองเห็นตลาด และสามารถก้าวออกไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น ยังคงต้องการความช่วยเหลือ

จึงกลายเป็นที่มาของการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และหน่วยงานพันธมิตร อาทิ ธนาคารออมสิน ในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยการเปิดศูนย์ OSS สสว. ขึ้นที่จังหวัดยะลา

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ศูนย์ OSS สสว. เป็นศูนย์ประสานงานการบริการ และการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร โดยนายกรัฐนตรี พล.เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาเปิดเมื่อปีที่ผ่านมา  เพื่อเป็นศูนย์กลางของประชาชนผู้ประกอบการ  SME ทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อม ลงไปถึงขนาดย่อย ซึ่งเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญและมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก  เป็นการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งการขยายองค์ความรู้ การใช้กระบวนการผลิตสนับสนุน การประสานการเข้าถึงแหล่งทุน อย่างธนาคารออมสิน การมองหาช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์  ช่วยให้ SME ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประตูของโอกาสที่มากขึ้น

“เดิม ศอ.บต. ก็พยายามสนับสนุนส่งเสริม และมีหน่วยงานหลายหน่วย ได้เข้ามาช่วยดำเนินการ แต่วันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือ เพื่อให้การสนับสนุนมีความเป็นรูปธรรม ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการร่วมมือระหว่า ศอบต. กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดย สสว.จะมีสำนักงานส่วนหน้ามาให้บริการ จึงอยากเชิญชวนน้องๆ เยาวชนที่จบการศึกษาใหม่ๆ  เดินเข้ามาที่นี่ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด แต่นี่อาจเป็นโอกาสที่ดีของท่าน เพราะแผ่นดินใต้มีทุกอย่างพร้อม รอการเชื่อมต่อเท่านั้น เราพร้อมสนับสนุน”

ด้าน วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)  กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ SME   ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ สสว. ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่  ด้วยการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ได้รับการยกระดับเสริมศักยภาพ และสร้างโอกาสทางธุรกิจและการค้าตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละราย สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

ผอ. สสว. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสว.มีศูนย์ปฏิบัติการครบวงจร อยู่ในทุกจังหวัด แต่ครั้งนี้เป็นการยกระดับความร่วมมือกับ ศอบต. ทำให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการครบวงจรที่จะทำหน้าที่รับเรื่องไปดำเนินการ ทั้งการส่งเสริมโดยตรงจาก สสว. เอง และการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการบรรลุเป้าหมาย

“โดยหลัก สสว.จะส่งเสริมเรื่องการตลาด เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน การเชื่อมโยงกับแหล่งทุน  ในแต่ละปี กรอบกำลังของ สสว. ทั่วประเทศ สามารถให้บริการผู้ประกอบการอยู่ราว 2 แสนราย แต่ด้วยการมีผู้ประกอบการSME ที่อยู่ในระบบกว่า 3 ล้านราย  ด้วยความร่วมมือนี้จะทำให้เราสามารถโฟกัสกลุ่มเป้าหมาย และยกระดับแบบเป็นขั้นตอนได้อย่างชัดเจนขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้ทำอย่างมุ่งจุด หรือมุ่งเป้า ผลสัมฤทธิ์ก็อาจจะเห็นภาพไม่ชัด ความร่วมมือเช่นนี้จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น”

ผอ.สสว. กล่าวถึงเป้าหมายในให้บริการผู้ประกอบการ SME ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ว่า จะสามารถให้บริการผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 200 ราย ต่อเดือน  โดยในหนึ่งปีหากมีผู้เข้ามาใช้บริการราย 2,000 ราย ก็ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำ ซึ่งด้วยการเป็นศูนย์ที่เปิดกว้าง จึงอยากให้พี่น้องประชาชนผู้ประกอบการ SME เข้ามาใช้บริการให้มากๆ

และนอกจากความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้แล้ว ในปีนี้ สสว. ก็จะเริ่มมีการขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ SME ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการทำการ LIVE สด ขายสินค้าผ่านเฟสบุ๊ก  “สสวconnext-ตลาดออนไลน์”  โดยผู้ประกอบการ SME สามารถมาใช้บริการได้ที่ศูนย์ OSS สสว. ได้ทุกจังหวัด  

“ผมเชื่อมั่นว่าสินค้าแต่ละชนิดจะเป็นที่สนใจของตลาด หลายๆ ธุรกิจ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ก็สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ อาหารการกิน สามารถไปได้ถึงตลาดญี่ปุ่น  เพียงแต่บางครั้งเราอาจประชาสัมพันธ์ไม่ถึงกัน จึงอยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า พวกท่านมีของดี  เราพร้อมที่จะช่วยกันหยิบขึ้นมา แล้วสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน  ศูนย์ OSS สสว. ที่จังหวัดยะลานี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีมาก”