เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ชูกลยุทธ์ One Platform ผนึก 3 ธุรกิจ มุ่งสู่ Top 3 เรียลเอสเตทไทย

672

ถามคนรุ่นเก่าๆ คุณปู่ คุณย่า ถึงชื่อเฟรเซอร์ส แอนด์ นีฟ หรือ F&N คำตอบคือ น้ำดำซาสี่ ที่มีรสชาติหวานกว่าเป๊ปซี่ หรือโคคาโคล่า  ถ้าถามคนรุ่นพ่อแม่ F&N เจ้าของผลิตภัณฑ์นมตราหมี นมคาร์เนชั่น แต่วันนี้ เฟรเซอร์ส คือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ น้องใหม่ ที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

ย้อนหลังไปนานถึง 137 ปี เฟรเซอร์ส แอนด์ นีฟ คือบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มจากประเทศสิงคโปร์ ก่อนขยายไปสู่ธุรกิจอื่น โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่นอกจากในสิงคโปร์แล้ว ยังมีการลงทุนไปทั่วโลกกว่า 25 ประเทศ ในกว่า 70 เมือง ทั้งอาเซียน ออสเตรเลีย ยุโรป ตะวันออกกลาง จีน และแอฟริกา ในหลากหลายธุรกิจทั้งที่พักอาศัย ศูนย์การค้า โรงแรม  บิสสิเนสพาร์ค  อสังหาริมทรัพย์ในอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ รวมถึงเป็นเจ้าของ และผู้บริหารจัดการเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ และโรงแรม

จนในปี 2556 TCC Group ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของ F&N สิงคโปร์ นำสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์นมเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย จนมาถึงในปี 2561 F&N ภายใต้บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ก็เข้ามาเริ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยเริ่มจากการเทคโอเวอร์ ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น  เพื่อดำเนินธุรกิจคลังสินค้า ภายใต้ชื่อบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)

มาถึงปี 2562  เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ก็ขยายธุรกิจครั้งใหญ่ โดยการซื้อกิจการ แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้  ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย ที่มีทั้งโครงการที่พักอาศัยแนวราบ อาคารสำนักงาน โรงแรม และศูนย์การค้าย่านสำคัญของกรุงเทพฯ

วันนี้  เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” ก็พร้อมเปิดเกมรุกเดินหน้าธุรกิจในฐานะผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกในประเทศไทย 

ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country Chief Executive Officer) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผนึก 3 กลุ่มธุรกิจศักยภาพสูงเข้าไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน  กลยุทธ์ One Platform ที่ทำให้บริษัทฯสามารถให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างครอบคลุมตรงโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า  ทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย, อสังหาริมทรัพย์อุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์พาณิชยกรรมจะสร้างความแข็งแกร่งและส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ในบทบาทของผู้นำการขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย  ทั้งในด้านแผนการรุกตลาด และการรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ

การผนึก 3 กลุ่มธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน ทำให้เฟรเซอร์สฯ สามารถกระจายความเสี่ยง โดยจากประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่โครงการบ้านจัดสรรได้รับผลกระทบทั้งขายไม่ได้ และโอนไม่ได้ ซึ่งวันนี้นอกจากธุรกิจซื้อมาขายไปอย่างโครงการบ้านจัดสรร เฟรเซอร์สฯก็มีธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าเช่าทั้งคลังสินค้า อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ทำให้สามารถรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่เข้ามาได้ นอกจากนั้น ทั้ง 3 ธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ก็สามารถนำข้อมูลลูกค้ามา Synergy เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น และยังเป็นการสร้าง Economy of Scale ที่เพิ่มอำนาจต่อรองเพื่อการแข่งขันได้เป็นอย่างดี  โดย 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ผู้นำอันดับ Top 5 ของประเทศ ในกลุ่มธุรกิจเพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ มีโครงการที่พักอาศัยคุณภาพสูงรวม 59 โครงการในหลายทำเล ครอบคลุมทุกระดับราคา ภายใต้แบรนด์ ‘โกลเด้น’ เช่น โกลเด้นทาวน์, โกลเด้นซิตี้, โกลเด้น นีโอ,  โกลเด้น วิลเลจ, โกลเด้น อเวนิว, โกลเด้น เพรสทีจ และ เดอะ แกรนด์ ธุรกิจกลุ่ม‘โฮม’  มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 70,000 ล้านบาท และมีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กันยายน) รวม 11,100 ล้านบาท 

กลุ่มธุรกิจ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมแบบครบวงจร  มีสถานะเป็น ‘ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมยุคใหม่’   ที่มุ่งเน้นการส่งมอบโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งโรงงานและคลังสินค้าของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล มีทั้งแบบพร้อมให้เช่า (Ready-Built) และแบบสร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) บนทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์กว่า 50 ทำเล ทั้งในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในประเทศไทย  โดยปัจจุบันมีพื้นที่โรงงานรวม 1.2 ล้านตารางเมตร พื้นที่คลังสินค้ารวม 1.8 ล้านตารางเมตร คิดเป็นพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการรวม 3 ล้านตารางเมตร และมีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กันยายน) รวม 1,700 ล้านบาท 

และกลุ่มธุรกิจ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรมชั้นนำประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า รีเทล โรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส ที่ทั้งหมดล้วนตั้งอยู่ในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ โครงการที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ อาคาร โครงการสามย่านมิตรทาวน์, อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์,อาคารสาทรสแควร์, อาคารปาร์คเวนเชอร์, อาคารโกลเด้นแลนด์, โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ และ ดิ แอสคอท สาทร แบงคอก ปัจจุบันกลุ่ม ‘คอมเมอร์เชียล’ มีอาคารสำนักงาน และโครงการมิกซ์ยูสรวม 5 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 240,000 ตารางเมตร และมีห้องในโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ จำนวน 1,100 ห้อง และมีรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กันยายน) รวม 1,200 ล้านบาท

“ด้วยพอร์ตโฟลิโออสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรที่สุดในประวัติการณ์นี้ ทำให้บริษัทฯสามารถขยายขีดความสามารถในการส่งมอบสินค้าและบริการ พร้อมข้อเสนอทางการตลาดที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นในประเทศ ด้วยแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric) เราจะนำความเข้าใจลูกค้าและความเชี่ยวชาญในธุรกิจและตลาดอสังหาฯไทย ผสานเข้ากับความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย”

ธนพล กล่าวว่า กลยุทธ์ One Platform ที่ทำให้บริษัทฯสามารถให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างครอบคลุมตรงโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า โดยการรวมกันบนแพลตฟอร์มเดียวจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่บริษัทฯ เพราะจะมีรายได้จากหลายช่องทาง และรายได้ประจำ (Recurring Income) เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทฯสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจะดำเนินตามแผน ONE-TO-THREE ซึ่งหมายถึง “ONE platform TOwards being a trusted brand and the top THREE in all asset classes” หรือ การรวมธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวด้วยแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ที่เริ่มจากการสร้างความยั่งยืนของการเติบโตในปี 2564  และสร้างแบรนด์เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ ในปี 2565 เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับ Top 3 ของทุกกลุ่มธุรกิจ ในปี 2566

ธนพล กล่าวต่อว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ แต่ในปีนี้คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท และภาพรวมของธุรกิจปี 2564 ก็ยังคงตั้งเป้าที่จะรักษาระดับรายได้ไว้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ โดยจะเน้นการสร้างความแข็งแกร่งภายในขององค์กร ควบคู่ไปกับการควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้