‘ซีวิลเอนจีเนียริง’ โชว์ผลงานเด่นก่อนเข้าตลาดฯ ชูแนวคิด Economy of Speed พาเติบโต

1438

แม้จะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แต่สำหรับนโยบายการวางเครือข่ายเส้นทางคมนาคมของรัฐบาลตั้งแต่ช่วง คสช. มาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเข้าตามากที่สุด ทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมเป็นถึงถนนหนทางที่จะเชื่อมต่อจังหวัดให้สะดวกสบาย หรือเชื่อมต่อเศรษฐกิจให้ไหลรื่น

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา(ทางหลวงหมายเลข 6) ก็เป็นเส้นทางใหม่ที่คนไทยรอคอย เพราะวันนี้ทุกเสาร์อาทิตย์ หรือช่วงวันหยุดยาว ถนนพหลโยธินที่มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถนนมิตรภาพจากสระบุรีถึงนครราชสีมา จะหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางขึ้นเขาใหญ่ ปะปนไปกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขนส่งสินค้าขึ้นลงจากรุงเทพฯไปถึงอีสาน

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา มีความยาว 196  กิโลเมตร ถูกแบ่งสัญญาจ้างออกเป็น 40 สัญญาเพื่อให้การก่อสร้างเร็วขึ้น  โดยหนึ่งในบริษัทที่ได้รับสัญญาก่อสร้าง คือ  ซีวิลเอนจีเนียริง’  บริษัทวิศวกรรมโยธาไซส์กลาง ที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม และระบบสารณูปโภค มาร่วม 54 ปี มีผลงานมากกว่า 1,000 โครงการ คิดเป็นมูลค่าจากอดีตจนปัจจุบันรวมกว่า 40,000 ล้านบาท  ที่เป็นที่รู้จัก เช่น โครงการทางแยกต่างระดับรัชวิภา กรุงเทพฯ  ทางแยกต่างระดับห้าแยกน้ำกระจายทางหลวงหมายเลข 407 ตัดทางหลวงหมายเลข 408 ตัดทางหลวงหมายเลข 414 จังหวัดสงขลา, โครงการก่อสร้างสนามบินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และร้อยเอ็ด, โครงการพระราชดำริในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ได้แก่ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา, โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในพื้นนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา   

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด กล่าวว่า  ซีวิลเอนจีเนียริ่ง  ปัจจุบันถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่มีทีมผู้บริหารคนรุ่นใหม่  มีวิสัยทัศน์มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตและร่วมขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้า ด้วยการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานคมนาคมและสาธารณูปโภค ผ่านหลักบริหารงานภายใต้แนวคิดค่านิยม C-I-V-I-L  คือ (C-Commitment)  เน้นความยึดมั่นที่จะทำตามสัญญา (I-Integrity)  ซื่อสัตย์โปร่งใส  (V-Value People)ให้ความสำคัญกับผู้อื่น (I-Innovation)  นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาใช้ในการก่อสร้าง และ(L-Learning) ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ของบุคลากร เพื่อส่งมอบงานที่มีคุณภาพภายใต้กรอบสัญญาที่กำหนด และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยก้าวสู่ระดับสากล

“ค่านิยม C-I-V-I-L   ทำให้ บริษัทฯ สามารถส่งมอบงานก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่ได้รับมาในสัญญาที่ 29, 30 และ 31 ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน จากสัญญาที่ระบุไว้ 3 ปี หรือ เร็วกว่ากำหนดถึง 9 เดือน แม้พื้นที่ก่อสร้างจุดนี้ มีความท้าทายด้านงานวิศวกรรมโยธา เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างเป็นชั้นหิน แนวเส้นทางบางช่วงเป็นเหวลึกและพาดผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำใต้ดิน  ด้วยการใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาผนวกกับการบริหารจัดการที่ดี จึงสามารถส่งมอบงานให้แก่กรมทางหลวงได้ก่อนกำหนด”

ปิยะดิษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของบริษัทฯ จะใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากบุคลากรที่เป็นคุณภาพ และนำเทคโนโลยีก่อสร้างขั้นสูงพร้อมการบริหารจัดการ Supply Chain อย่างครบวงจร มาสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ส่งมอบงานได้ตามมกำหนด โดยมีฐานการผลิตพร้อมสนับสนุนดำเนินโครงการ ได้แก่ เหมืองหินที่ได้รับประทานบัตร โรงงานแอสฟัลท์ติก โรงงานคอนกรีต โรงผลิตชิ้นส่วนคอสะพานสำเร็จรูป กระจายอยู่ในหลายภูมิภาครวมทั้งหมดกว่า 10 แห่ง และมีศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องจักรรวม 4 แห่ง พร้อมเปิดกว้างความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาและการบริหารจัดการระหว่างกัน ช่วยผลักดันซีวิลเอนจีเนียริงก้าวเป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศไทยที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ซีวิลเอนจีเนียริ่ง  มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน มูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร,โครงการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ–หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 2-1 งานโยธาสำหรับช่วง สีคิ้ว –กุดจิก รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร สัญญาที่ 16 และ สัญญา 29, 30 และ 31 บริเวณเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้ส่งมอบไปเรียบร้อยแล้ว

ปิยะดิษฐ์มองกว่า แนวคิดการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของซีวิลเอนจีเนียริ่ง คือการมองที่ Economy of Speed ที่จะช่วยให้บริษัทสามารถส่งมอบงานได้เร็วขึ้น เพื่อโอกาสให้ประเทศมากขึ้น รวมถึงบริษัทเองก็สามารถรับงานได้มากขึ้น  โดยมีแนวทางการทำงาน 3 ส่วนคือ 1) ต้องมีบุคลากรที่ดี ด้วยการให้การอบรมเทรนนิ่งพัฒนาทักษะในทุกระดับ 2) ต้องมีการทำงานกับ Sub Contact ที่ดี มีการร่วมมือกับพันธมิตร ที่จะช่วยทั้งการยกระดับศักยภาพและการให้ผลตอบแทนที่ดี  และ 3) มีการทำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น

ปัจจุบัน ซีวิลเอนจีเนียริ่ง มีรายได้จากการรับงานภาครัฐ 100% ปิยะดิษฐ์กล่าวว่า ปีนี้เชื่อว่าบริษัทฯ มีโอกาสในการรับงานจากภาคเอกชนเป็นรายได้อีกส่วน โดยปัจจุบันได้เข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างอุโมงค์โครงการ One Bangkok  และยังมีงานภาคเอกชนอีกหลายโครงการที่เคยเห็นผลงานของซีวิลเอนจีเนียริ่ง และต้องการให้บริษัทฯ เข้าร่วมประมูล

ในปีที่ผ่านมา ซีวิลเอนจีเนียริ่งทำได้ราว 3,500 ล้านบาท แต่ในปีนี้คาดว่างานที่อยู่ระหว่างดำเนินงานจากมูลค่าทั้งหมดราว  20,000 ล้านบาท  จะเริ่มมีบางส่วนสามารถส่งมอบงาน ก็จะทำให้ปีนี้คาดว่าจะทำรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และเติบโตไปถึง 6,000 ล้านบาทได้ในปีต่อไป ซึ่งปิยะดิษฐ์ก็มั่นใจว่า รัฐบาลจะมีการลงทุนด้านเส้นทางคมนาคม และระบบสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง

โดยในปีนี้ ปิยะดิษฐ์ วางเป้าหมายจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ราวช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ที่จะช่วยให้ซีวิลเอนจีเนียริ่ง มีโอกาสในหาแหล่งทุนใหม่ๆ ที่ทำให้ต้นทุนการบริหารงานลดลง มีการลงทุนด้านเครื่อจักร เพื่อสร้างโอกาสในการหางานใหม่ๆ

“เราคงไม่ได้รีบเร่งในการเข้าตลาดฯ ซึ่งหากตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อ-ขายได้ในราวเดือนกันยายน หรือตุลาคมปีนี้ แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมในเวลานั้น ทั้งสถานการณ์ของเศรษฐกิจ และสถานการณ์ตลาดหลักทรัพย์ หากมองว่าไม่เหมาะสมก็อาจขยับออกไปได้”  ปิยะดิษฐ์กล่าว