เมกาบางนา เร่งเครื่อง ทรานฟอร์มสู่ “เมกาซิตี้”

959

ย้อนกลับไปในปี 2555 บนถนนบางนา-ตราด หรือถนนเทพรัตน์ในปัจจุบัน  ที่เคยเป็นเพียงทางผ่านของคนกรุงที่ต้องการมุ่งสู่ภาคตะวันออก เกิดแลนด์มาร์คขนาดใหญ่ ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ ของคนไทย กับ อิกาโน กรุ๊ป จากสวีเดน  ในชื่อ “เมกาซิตี้”   โปรเจ็คอสังหาริมทรัพย์รูปแบบ “มิกซ์ ยูส” เมืองขนาดใหญ่สำหรับการใช้ชีวิตที่ครบวงจร ทั้งพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย ออฟฟิศสำนักงาน โรงเรียน และสวนสาธารณะ โดยมีศูนย์การค้าเมกาบางนาเป็นศูนย์กลางของทุกไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมทั้งการช้อปปิ้ง รับประทานอาหาร และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ สำหรับทุกเจเนอเรชั่นในครอบครัว บนพื้นที่ 400ไร่

โดยโครงการ เมกาซิตี้ ถือเป็นโครงการระยะยาวที่รอการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC  ซึ่งจะทำให้บางนา กลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ที่จะเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ทำให้โครงการเมกาซิตี้ ทยอยสร้างทีละส่วน โดยส่วนของศูนย์การค้า เมกาบางนา และซูเปอร์สโตร์เฟอร์นิเจอร์ อิเกีย ถือเป็นจุดขายในช่วงแรก  ขณะที่โครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม จะโปรเจ็คที่ตามมา

ปพิตชญา สุวรรณดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การค้าเมกาบางนา เผยว่า บริษัทฯ ได้เริ่มเปิดให้บริการศูนย์การค้าเมกาบางนา มาตั้งแต่ปี 2555 โดยเป็นศูนย์การค้าแนวราบที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท จากนั้นในปี 2560 ได้ประกาศเริ่มต้นโครงการเมกาซิตี้ ซึ่งเป็นโปรเจ็คอสังหาริมทรัพย์รูปแบบ “มิกซ์ ยูส” ซึ่งจะมีศูนย์การค้าเมกาบางนาเป็นศูนย์กลาง และแบ่งการพัฒนาเป็นหลายเฟส โดยปัจจุบันมีการใช้ไปแล้วถึง 250 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ของศูนย์การค้าเมกาบางนา 200 ไร่ และส่วนต่อขยายต่างๆ ได้แก่ โซนเมกา ฟู้ดวอล์ค ศูนย์รวมร้านอาหารชื่อดังกว่า 40 ร้าน  ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และอาคารที่จอดรถ 2,000 คัน รวมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร, โซนเมกาสมาร์ทคิดส์ โรงเรียนเสริมทักษะความรู้ชั้นนำสำหรับเด็กๆ พื้นที่ 16,000 ตารางเมตร, รวมทั้ง สวนสาธารณะเมกาพาร์ค ที่ล้อมรอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษานานาชาติดิษยะศริน กรุงเทพ ซึ่งเป็นเครือเดียวกับโรงเรียน ดิ อเมริกัน สคูล ออฟ แบงค็อก และเดอะ มูฟเม้นท์เพลย์กราวนด์ ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่อีก 200 ไร่ สำหรับการพัฒนาในโครงการเมกาซิตี้

“โดยเฟสต่อไปคือการพัฒนาโรงแรมและอาคารสำนักงานภายในโครงการเมกาซิตี้ ทางบริษัทฯ และบริษัทพันธมิตรอยู่ในช่วงของการพัฒนารูปแบบของโครงการอยู่ ซึ่งจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในช่วงต้นปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแนวคิดเรื่องการหาองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่อยู่โครงการและเสริมศักยภาพของโครงการเมกาซิตี้ให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น” ปพิตชญา กล่าว

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ย่านบางนาได้พลิกจากพื้นที่พักอาศัยสู่ “ฮับ” ยุทธศาสตร์ ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ที่มี ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามาลงทุนโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งด้วยแผนการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐ ทำให้โครงการเมกาซิตี้เป็นหนึ่งในสุดยอดทำเลที่ตอบโจทย์ของการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนไม่มากเกินไป แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงได้ โดยทางบริษัทฯ ได้เปิดกว้างในรูปแบบของการลงทุนในโครงการเมกาซิตี้ ทั้งการซื้อที่ดิน การเช่าระยะยาว และการพัฒนาโครงการตามความต้องการของนักลงทุน

“นอกจากศักยภาพทำเลที่โดดเด่นมากที่สุดในโซนกรุงเทพตะวันออกแล้ว ส่วนหนึ่งของโครงการเมกาซิตี้ คือศูนย์การค้าเมกาบางนาที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการถึง 4.5 ล้านคนภายในปี 2562 นี้ เพิ่มขึ้นจาก 3.8 ล้านคนในปี 2561 รวมถึงยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อใบเสร็จที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,500 บาทต่อใบเสร็จในปีนี้ จากเดิม 1,000 บาทเมื่อปี 2560 ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครอบครัวของลูกค้าศูนย์การค้าเมกาบางนาอยู่ที่ 150,000 บาทต่อครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง”   

ปพิตชญา กล่าวต่อว่า  บริษัทฯ มีแผนในการรีโนเวทศูนย์การค้าเมกาบางนาทุกๆ 3-4 ปี เพื่อความทันสมัยและสามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและน่าประทับใจในทุกๆ ที่มีใช้บริการ และยิ่งไปกว่านั้นยังมีปรับปรุงการจราจรเพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยมีการสร้างถนนภายในโครงการที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องของการจราจร เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการเมกาซิตี้ และอาคารจอดรถใหม่ 2,000 คันที่จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2563 นี้ รวมไปถึงสะพานกลับรถบนถนนบางนา-ตราด ช่วงกิโลเมตรที่ 7 ที่เชื่อมเข้ากับโครงสร้างทางยกระดับบูรพาวิถี ซึ่งจะสามารถบรรเทาการจราจรโดยรอบ และเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงหลักในเส้นทางสายตะวันออก ซึ่งเมื่อเปิดใช้สะพานดังกล่าวแล้ว จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการที่เมกาบางนา พร้อมช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย แก่ผู้ใช้เส้นทางทั้งผู้มาใช้บริการเมกาบางนา และประชาชนทั่วไป

“การลงทุนในโครงการเมกาซิตี้ ถือเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์ของนักลงทุนได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตทางธุรกิจของย่านบางนา ศักยภาพของทำเลที่ตั้งโครงการ โครงสร้างสาธารณูปโภค และกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อที่เดินทางมาใช้บริการที่ศูนย์การค้าเมกาบางนาอยู่แล้ว โดยตั้งแต่เราได้เปิดตัวโครงการเมกาซิตี้ เราได้รับความสนในจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก และเราเชื่อมั่นว่ายังมีอีกหลายองค์ประกอบที่จะสามารถเติมเต็มความสมบูรณ์ของเมกาซิตี้ได้ ซึ่งทางบริษัทฯ พร้อมเปิดกว้างสำหรับนักลงทุน และพันธมิตรธุรกิจ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร่วมกันให้โครงการเมกาซิตี้ให้เป็นจุดนัดพบที่ยิ่งใหญ่ และครบวงจรอย่างแท้จริง” ปพิตชญา กล่าว