ทำไม เซ็นทรัล ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ ?

1768

ข่าวการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของโรบินสัน (Robins) ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายอื่น ของกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณว่า ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกของเมืองไทย กำลังจะสร้างอีเวนท์ใหญ่เพื่อฉลองปีแซยิด ครบรอบ 72 ปี ด้วยการ นำ เซ็นทรัล รีเทล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กลายเป็นคำถามว่า ผู้นำในธุรกิจรีเทลที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์ สร้างห้างสรรพสินค้า และแบรนด์ค้าปลีก มากถึง 1,979 แห่ง ครอบคลุม 51 จังหวัด และมีสาขาอยู่ในอิตาลี และเวียดนาม รวม 134 แห่ง มีจุดขายรวมทั้งหมด 3,936 แห่ง สร้างแบรนด์เซ็นทรัลให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว

ทำไมยังต้องเลือกที่จะทรานฟอร์มตัวเองเป็นบริษัทมหาชน

 

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า มี 3 เหตุผลสำคัญที่ทำให้เซ็นทรัล รีเทลต้องเปลี่ยนเป็นบริษัทจดทะเบียน

  1. โลกที่ทุกประเทศเชื่อมโยงถึงกัน การทำธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล จำเป็นต้องมองหาพันธมิตรชั้นนำจากทั่วโลกมาช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อจากนี้ และบริษัทชั้นนำของโลกก็ต้องการคุยกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากกว่า

ซึ่งเรื่องนี้ บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ธุรกิจร้านอาหารของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่เพิ่งเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ เมื่อต้นปีนี้ ยืนยันได้ดี เพราะหลังจากนำ ZEN เข้าสู่ตลาดฯ ก็มีนักลงทุน และสถาบันต่างๆ ติดต่อเข้ามามากมายจนหัวกระไดไม่แห้ง

  1. การมองหาบุคลากร ที่มี Talent ในการพากลุ่มเซ็นทรัลสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีแรงดึงดูดคนเหล่านี้ ทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศได้ดีกว่า
  2. คือการสร้างแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ที่จะช่วยให้กลุ่มเซ็นทรัล เติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น

โดย ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า บริษัทฯ เวลาถึง 3 ปีในการปรับโครงสร้าง จากการเป็นบริษัทครอบครัวมาตลอด 72 ปี สร้างให้เซ็นทรัล เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก แต่วันนี้ โลกกำลังก้าวสู่ยุค New Economy ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ห้างสรรพสินค้าที่ต้องมีที่ดิน มีอาคาร กลายเป็นห้างสรรพสินค้าบนสมาร์ทโฟน ทำให้ เซ็นทรัล รีเทล วางแนวคิดสู่การเป็น “New Central New Retial”

ซึ่ง ญนน์ โภคทรัพย์ กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลรีเทลดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ รวมทั้งการขยายธุรกิจรูปแบบใหม่จากการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเซ็นทรัล รีเทลในการเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยความพร้อม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ความพร้อมของเซ็นทรัล รีเทล มีการสร้างโมเดลการดำเนินธุรกิจที่มีเอกลักษณ์จากธุรกิจค้าปลีก ซึ่งครอบคลุม 3 ด้าน คือ

Multi-category  ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจ

แฟชั่น มีแบรนด์หลัก คือ เซ็นทรัล โรบินสัน โรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ซูเปอร์สปอร์ต CMG และรีนาเซนเต ในอิตาลี

ฮาร์ดไลน์ มีแบรนด์หลัก คือ ไทวัสดุ บ้านแอนด์บียอนด์ เพาเวอร์บาย และเหงียนคิม ในประเทศเวียดนาม

ฟู้ด มีแบรนด์หลัก คือ ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่, ท็อปส์ พลาซ่า เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ แฟมิลี่มาร์ท บิ๊กซี และลานซีมาร์ท ในประเทศเวียดนาม

Multi-format หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์, สเปเชียลตี้ สโตร์, แบรนด์ช้อป, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, คอนวิเนียน สโตร์, รีเทลพลาซ่า และเซลล์เคาท์เตอร์ รวมจุดขาย 3,936 แห่ง มีพื้นที่ขายรวมมากกว่า 3 ล้านตารางเมตร และมีพื้นที่ให้เช่ารวมมากกว่า 5 แสนตารางเมตร มีฐานลูกค้าจาก Loyalty Program กว่า 27 ล้านรายทั่วโลก และสร้างโอกาสในการจ้างงานรวมกว่า 7 หมื่นราย

Multi-market ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

ทั้ง 3 ด้าน ได้ถูกพัฒนา ต่อยอด และเชื่อมทุกประสบการณ์ช้อปปิ้งของลูกค้า ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เรียกว่า  “Central Retail Experience”

ญนน์ กล่าวว่า ผู้คนมองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา Disruption ธุรกิจ แต่เซ็นทรัลมองว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคต่างหาก ที่เป็นตัว Disruption วันนี้โลกของออนไลน์ และออฟไลน์ แยกกันไม่ออก เพราะผู้คนอยู่ในโลกไฮบริด ชมสินค้าจากห้างสรรพสินค้า แล้วไปซื้อบนออนไลน์ หรือดูสินค้าจากออนไลน์ และไปเลือกซื้อในห้างสรรพสินค้า ทำให้เซ็นทรัล รีเทลต้องสร้าง Customer-Centric Omnichannel Platform ที่เชื่อมต่อและครอบคลุมโลกแห่งการช้อปปิ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว สร้างโอกาสในทางธุรกิจแบบไร้รอยต่อและสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งให้กับผู้บริโภคแบบไร้ขีดจำกัด

Customer-Centric Omnichannel Platform คือการนำเสนอสินค้าและบริการสำหรับเฉพาะบุคคลแบบ Personalization ที่ได้จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าที่มีกว่า 27 ล้านรายทั่วโลก ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี Machine Learning การพัฒนาบริการใหม่ๆ อาทิ Chat & Shop, e-ordering, Click & Delivery, Click & Express,

e-payment ฯลฯ รวมทั้งระบบการจ่ายเงินออนไลน์ในทุกรูปแบบ อาทิ QR code, E-wallet, Scan and Pay, Pay Now Pay Later ที่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภคทุกคนที่ทั้งมีตัวเลือกสินค้าที่มากกว่า ถูกใจและตรงใจมากกว่า และสะดวกสบายมากกว่า

ผู้บริหาร เซ็นทรัล รีเทล ตั้งเป้าหมายว่า การทำไฟลิ่งจะเสร็จสิ้นได้ในปีนี้ ซึ่งการเป็นบริษัทจดทะเบียน จะเป็นการนำ เซ็นทรัล รีเทล ไปสู่ความพร้อมในการต่อยอดและยกระดับศักยภาพการแข่งขันและเติบโตครั้งใหม่ ที่เรียกว่า Central Retail Economy ซึ่งประกอบด้วย 3 หัวใจหลัก ได้แก่

  1. Business Highlights ความโดดเด่นในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีก
  2. Thriving Ecosystem ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงแต่ละโมเดลทางธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันจนนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  3. Clear Positioning to Win กลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้

“เราใช้เวลา 3 ปี เพื่อสร้างเซ็นทรัล รีเทล ให้เป็นของดีที่สุดก่อนเข้าตลาดฯ สร้างจุดแข็งและกลยุทธ์การเติบโต มุ่งไปข้างหน้าสู่ New Central New Retail ด้วยแผนการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกระดับภูมิภาคและก้าวต่อไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกระดับโลก” ญนน์ กล่าว