“ปวิณ ภิรมย์ภักดี” พา BG ก้าวสู่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง

4005

เส้นทางเดินทางธุรกิจของบางกอกกล๊าส หรือ BG ตั้งแต่เมื่อกว่า 40 ปีก่อน คือการเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ก่อนที่ในอีก 7 ปีหลังการตั้งบริษัท บางกอกกล๊าสก็ถูกยักษ์ใหญ่ตลาดเบียร์ไทย บุญรอดบริวเวอรี่ เข้ามาซื้อหุ้นส่วนใหญ่ จนปัจจุบัน บางกอกกล๊าสคือบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในอาเซียน ภายใต้การดูแลของ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC มีลูกค้าเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของประเทศ ทั้งโอสถสภา, เสริมสุข, ไทยน้ำทิพย์ เป็นต้น

แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ตลาดเครื่องดื่มในเมืองไทยกลับซบเซาลง ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าง เหล้า เบียร์ ที่ถูกรณรงค์จากภาครัฐให้ลดการมอบเป็นของขวัญ และลดการดื่ม ขณะที่น้ำอัดลม ก็ถูกเทรนด์การดูแลสุขภาพกดให้ตลาดไม่เติบโต ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์แก้วลดน้อยลง

แนวโน้มการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วที่ถดถอยนี้ นอกจากการออกไปหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ อีกส่วนสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัทและการขยายฐานธุรกิจ จากในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา บีจี เน้นธุรกิจบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก จากบรรจุภัณฑ์แก้ว ขยายสู่บรรจุภัณฑ์กระดาษ และพลาสติก มาถึงเมื่อปี 2557 บีจีก็เปิดธุรกิจใหม่ บีจี โฟลต กล๊าส หรือ BGF ที่ทำธุรกิจแผ่นกระจกเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และในปี 2560 ก็จัดตั้ง บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น หรือ BGE Solution เพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจที่เริ่มถดถอย สู่ธุรกิจที่มีอนาคตและเดินหน้าธุรกิจได้ครอบคลุมภาพรวมยิ่งขึ้น

โดยหลังจากมีการนำธุรกิจหลักผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ในปีนี้ หัวเรือใหญ่ บีจี ปวิณ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด(มหาชน) ก็ประกาศรุกใน 2 ธุรกิจที่ขยายออกไปใหม่ ทั้ง BGF และ BGE Solution

ปวิณ ภิรมย์ภักดี วางเป้าหมายว่าในปีนี้การลงทุนของบีจีจะมองไปที่การลงทุนที่คุ้มค่า เห็นโอกาสการเติบโตที่ชัดเจน โดยงบลงทุนที่วางไว้ 5,000 ล้านบาท จะถูกใช้ในการลงทุน 2 บริษัทนี้เป็นหลัก

ในส่วนของ BGE Solution ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน แม้ปีที่ผ่านมาจะพลาดการประมูลโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดใหญ่ในเวียดนาม แต่ในปีนี้ยังมีอีกโครงการใหญ่ ที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในเวียดนามเข้าร่วมประมูล ซึ่งหากชนะการประมูลก็น่าจะรับรู้รายได้ในปีหน้า โดยในปีนี้มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 10 เมกะวัตต์ เป็น 30 เมกะวัตต์

ขณะที่ BGF ปวิณ มีนโยบายที่จะขยายธุรกิจจากกระจก ต่อยอดสู่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ที่เน้น 3 ส่วน คือ พื้น ผนัง และเพดาน โดยในปีที่แล้วได้ทำการซื้อกิจการ ยูแซม อินเตอร์กรุ๊ป ผู้ผลิตอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัดรายใหญ่ของเมืองไทย และจะมีการมองหาธุรกิจแผ่นยิปซั่มบอร์ด ที่จะเข้าไปร่วมทุนหรือซื้อกิจการต่อไป เพื่อเติมเต็มธุรกิจวัสดุก่อสร้างในพอร์ตของ BGF

“การขยายธุรกิจทุกครั้งเราจะมีการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทดสอบตลาด มองหาความต้องการ และความคุ้มค่าในการที่จะผลิตเอง หากเห็นโอกาสก็จะใช้การซื้อกิจการโรงงานที่ผลิตสินค้านี้อยู่แล้ว เพราะหากเริ่มตั้งโรงงานเองต้องใช้เวลา ไม่ทันการณ์”

ปวิณ มองโอกาสของบีจีในปีนี้ว่า ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว มีโอกาสเติบโตได้จากการเปิดตัวสินค้าใหม่ หรือการกระตุ้นการใช้ขวดแก้วแบบวันเวย์ ขณะที่ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง BGF หลังจากได้วัสดุอะลูมิเนียมเข้ามาเสริมกับกระจก ก็จะทำให้รายได้เติบโตได้ถึง 4,000 ล้านบาท และหากได้แผ่นยิปซั่มบอร์ดเข้ามาเสริมในเร็วๆ นี้ ก็เชื่อว่าภายใน 3 ปี จะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 5,000-6,000 ล้านบาท และภายในเวลา 3-5 ปี จะนำ BGF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทต่อไป

“ปีนี้บีจีอยากกลับมาเติบโตให้ได้ 2 หลักอีกครั้ง หลังจากปีที่ผ่านมาเติบโตเพียง 4% จากปีก่อนหน้า โดยเป้าหมายรายได้ปีนี้คาดว่าจะอยู่ราว 17,000 – 20,000 ล้านบาท เชื่อว่าโรงงานอะลูมิเนียมที่ซื้อกิจการมา จะทำให้บีจีกลับมาเติบโตได้” ปวิณกล่าว