ถอดบทเรียน! เมื่อญี่ปุ่นกำลังจะบอกลา “ปัญหาคนไร้บ้าน”

6800
ภาพจาก: https://www.tokyotimes.com/shibuya-homeless/

เรื่องโดย : ผศ.ณัฐธเดชน์ ชุ่มปลั่ง ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ International University of Health and Welfare ประเทศญี่ปุ่น

ท่ามกลางกระแสของการพัฒนาในระบบทุนนิยม “ปัญหาคนไร้บ้าน” หรือ Homeless ถือเป็นปรากฏการณ์และเป็นประเด็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ในทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองใหญ่ที่มีมานานหลายทศวรรษ ประเทศที่มีสวัสดิการสังคมสงเคราะห์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง “ญี่ปุ่น” เองก็ประสบกับปัญหานี้มานาน และได้เพียรพยายามในการหาหนทางแก้ไขเพื่อช่วยเหลือให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถช่วยเหลือและพึ่งตนเองได้

พัฒนาการที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคือ การออกกฎหมายพื้นฐานพิเศษเพื่อช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ที่ไร้บ้านในปี 2002 และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาให้สอดคล้องตามสภาพสังคมแวดล้อม กลุ่มคนไร้บ้านที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป ให้พวกเขาสามารถเรียนรู้และพึ่งตัวเองให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งผลจากความพยายามแก้ไขอย่างจริงจังพบว่าขณะนี้ยอดของคนไร้บ้านมีจำนวนน้อยลงทุกๆ ปี

จึงเป็นที่น่าสนใจที่ว่าญี่ปุ่นมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

โฮมูเลสุ” หรือ “คนไร้บ้าน” ได้ถูกจำกัดความที่บัญญัติอยู่ใน “กฎหมายว่าด้วยมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือให้โฮมเลสพึ่งพาตนเอง” (ホームレスの自立の支援等に関する特別措置法) ว่า “โฮมูเลสุ คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตประจำวันโดยไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง โดยไม่ทราบสาเหตุ และใช้ชีวิตอยู่ตามสวนสาธารณะในเมือง ริมแม่น้ำ ริมถนนตามสถานีรถไฟ หรือตามสถานที่สาธารณะต่างๆ”

โดยในอดีตนั้น ญี่ปุ่นเคยมีคำว่า Furousha” (浮浪者) หรือ “คนเร่ร่อน” แต่เนื่องจากมีสภาพที่ต่างกับโฮมเลสปัจจุบันซึ่งคล้ายกับโฮมเลส (Homeless) ในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกามากกว่า จึงเกิดคำเรียกคนไร้บ้านเหล่านี้ตามรายงานของสื่อมวลชนตามศัพท์คำว่า Homeless ในภาษาอังกฤษ โดยออกเสียงให้เป็นแบบญี่ปุ่นว่า “Furousha”  แทน

วิธีการอยู่อาศัยของเหล่าโฮมเลสก็มีอยู่หลากหลายแตกต่างกันออกไป เช่นการใช้ “บ้าน” กล่องกระดาษแทนที่พักอาศัยยามพักแรมตามสถานีหรือใช้วิธีกางเต๊นท์อาศัยอยู่ริมแม่น้ำหรือสวนสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้เริ่มแรกจะอยู่ตามเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว โอซาก้า นาโงยะ โยโกฮามา และคานางาวะ แต่หลังจากปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นไป โฮมเลสได้กระจายตัวไปอาศัยอยู่ทั่วประเทศจวบจนปัจจุบันนี้

คนไร้บ้านในญี่ปุ่นหลายคนมีรายได้จากงานอิสระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บกระป๋องอะลูมิเนียมตามที่ต่างๆ เก็บหนังสือ-นิตยสารเก่านำไปวางแผงขายต่อ กลุ่มนี้จะมีรายได้เฉลี่ยอย่างมากเดือนละ 10,000-30,000 เยน หรือบางคนอาจเอาเงินที่มีไปเสี่ยงโชคโดยการเล่นการพนันอย่างปาจิงโกะหรือสลอทที่อยู่ไกล้ตามสถานีรถไฟต่างๆ ในส่วนของอาหารการกิน สามารถรับการบริจาคจากมูลนิธิต่างๆ หรือรับอาหารเหลือจากร้านอาหาร รวมไปถึงการเก็บเศษเหรียญตกหล่นจากตู้สินค้าอัตโนมัติต่างๆ ด้วย

แน่นอนว่า รัฐบาลของญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับการดูแลคนกลุ่มนี้ซึ่งมีมาตรการหลายอย่างที่พยายามออกมาเพื่อทำให้เกิด Homeless ตามเมืองต่างๆ น้อยที่สุด ซึ่งก็ดูเหมือนว่าความพยายามเหล่านี้ก็พอจะเห็นผลอยู่บ้างเพราะจากตัวเลขหลักหมื่นในปี 2011 สามารถลดจำนวนลงมาเหลือแค่หลักพันในปี 2017 ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในประเทศโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เดือนมกราคม ปี 2017

จากผลการสำรวจของกระทรวงแรงงานฯ ญี่ปุ่นเกี่ยวกับจำนวนคนไร้บ้านในประเทศเมื่อเดือนมกราคม ปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนคนไร้บ้าน 5,534 คน เทียบกับการสำรวจของเดือนเดียวกันในปี 2016 มีจำนวนน้อยลง 11.2% หรือลดลงจำนวน 701 คน ในจำนวนตัวเลขล่าสุดสามารถแบ่งเป็นเพศชาย 5,168 คน เป็นเพศหญิง 196 คน และไม่สามารถระบุเพศได้อีก 170 คน

หากแยกตามจังหวัดจะพบว่า โตเกียวมีจำนวนมากถึง 1,397 คนเทียบกับการสำรวจเมื่อครั้งปีก่อน จากเดิมที่โอซาก้าเคยครองแชมป์ที่ 1,303 คน ไล่มาอยู่ที่ลำดับที่สอง ถัดมาคือจังหวัดคานากาว่า 1,061 คน จังหวัดไอจิ 271 คน และฟุกุโอกะ 270คน แยกตามเมืองใหญ่ 3 เมืองคือ โตเกียว โอซาก้า และโยโกฮามา จะมีปริมาณ 54% จำนวนคนไร้บ้านทั้งหมด

และหากแยกตามแหล่งพักพิงอาศัย บริเวณริมแม่น้ำลำคลองจะเป็นที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ 1,720 คน รองมาคือบริเวณสวนสาธารณะ 1,273 คน(23.0%) ถัดมาคือ บริเวณริมถนน ฟุตบาธ 996 คน(18.0%) และตามแหล่งที่พักสาธารณะต่างๆอีก 1,315 คน(23.8%)

เหตุผลที่จำนวนคนไร้บ้านในญี่ปุ่นมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะการช่วยเหลืออย่างจริงจังของหน่วยงานราชการตามเมือง และตามเขตต่างๆ โดยให้ความสำคัญในการให้คนไร้บ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และกระตุ้นสภาพแวดล้อมในการจ้างงาน

ยกตัวอย่าง เช่น ที่โตเกียวมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเพื่อการพึ่งพาตนเอง เพื่อรับดูแลผู้ไร้บ้านและผู้กำลังจะเป็นผู้ไร้บ้านชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีการจัดการบริการด้านที่พักอาศัย อาหาร การบริการอบรมวิชาชีพ และการช่วยเหลือหาและแนะนำงานด้วย แต่ทว่าผลการสำรวจดังกล่าวข้างต้นนี้ ยังไม่ได้นับรวมกับคนไร้บ้านที่เข้าใช้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งถ้าหากมีการสำรวจอย่างจริงจังแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนยอดของคนไร้บ้านที่แท้จริงอาจมีจำนวนมากเป็น 3 หรือ 4 เท่าของจำนวนที่มีอยู่จริงก็เป็นได้

Strategies: Definitions and policies on homelessness are mixed among and within nations, as some governments lump the problem with poverty; homelessness does not exceed 1 percent in wealthy nations while rates in poor nations can go into the double digits (Source: OECD)

หันมาดูผลสำรวจและรวบรวมข้อมูลจำนวนของคนไร้บ้าน ของ OECD หรือสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุดในปี 2015 เราจะพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้วญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราคนไร้บ้านน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศ OECD ที่มี 30 กว่าประเทศ  ซึ่งจำนวนในขณะนั้นมีประมาณ 6,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในฝั่งยุโรปหลายประเทศที่มียุทธศาสตร์ในการรองรับปัญหานี้ ก็มีตัวเลขที่น่าตกใจกว่าญี่ปุ่นหลายเท่า

ในที่นี้ผู้เขียนจะขอไม่วิเคราะห์ประเด็นการเคลื่อนย้ายประชากรในทวีปยุโรป หรือการอพยพผู้คนจากต่างถิ่นเข้าสู่ยุโรป เพราะปัจจัยดังกล่าวนี้ชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มปริมาณของคนไร้บ้านและคนเร่ร่อนในแต่ละประเทศ   เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นเกาะ การก้าวข้ามดินแดนของคนจากต่างถิ่นต่างท้องที่เพื่อทำการอพยพย้ายถิ่นนั้นทำได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนที่ผู้คนอพยพผ่านทางเรือ ดังนั้น กลุ่มคนไร้บ้านส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจึงถูกจำกัดเฉพาะเพียงคนญี่ปุ่นเท่านั้น

นิยาม “คนไร้บ้าน” ในแต่ละประเทศมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ในสังคมญี่ปุ่นก้าวข้ามและมีพัฒนาการจากการมองปัญหาจากตัวบุคคลจาก “คนเร่ร่อน” เป็นประเด็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมการจ้างงานตลอดชีพ ส่งผลกระทบไปยังตัวบุคคลจนกลายเป็น “คนไร้บ้าน”  ซึ่งรัฐบาลเองถือเป็นทางปัญหาสังคมที่ต้องแก้ไข

เราได้บทเรียนจากญี่ปุ่นในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านว่า การแก้ไขต้องไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตเท่านั้น  แต่ต้องสนับสนุนให้คนไร้บ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมไปถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐภายใต้การใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการของรัฐ  เฉกเช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นได้นำร่องเอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของไทยในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน