ไทยเครดิตฯ เลือกทางถนัด รุก Nano Finance เจาะรากหญ้า

1873

แม้ไทยประกันชีวิตจะเป็นบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่สุดของคนไทย และมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ด้วยอายุยาวนานถึง 76 ปี แต่สำหรับธุรกิจธนาคาร  ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด(มหาชน) ที่ไทยประกันชีวิตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อายุเพียง 11 ปี ถือเป็นน้องเล็กที่สุดในธุรกิจธนาคารไทย

ด้วยการเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยรายเดียวในธุรกิจธนาคารไทย  ทำให้ขอบเขตการให้บริการได้เฉพาะแก่ประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีการจำกัดวงเงินการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้แต่ละราย โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

แต่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) วิญญู ไชยวรรณ ก็มองว่า นี่คือตำแหน่งการทำที่เหมาะสมของไทยเครดิต  และแม้อนาคตไทยเครดิตอาจเติบโตขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ ก็ยังคงไม่ทิ้งการทำตลาดรายย่อย ที่วันนี้ถือว่า ไทยเครดิตฯ คือธนาคารที่มีความชำนาญที่สุด

ไทยเครดิต วางวิสัยทัศน์ของธนาคารให้เป็น Micro Finance Bank ที่จะสนับสนุนให้ลูกค้าผู้ประกอบการรายเล็ก และรายย่อย เติบโตทางธุรกิจ ด้วยการนำเสนอสินเชื่อนาโน และไมโคร ไฟแนนซ์ ที่ธนาคารอื่นๆ ไม่มี  โดยมุ่งเจาะ 2 กลุ่มลูกค้า

กลุ่มแรก เป็นลูกค้าตลาดหลัก คือ กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายของแบบดั้งเดิม หรือแผงค้าในตลาดสดที่ค้าขายมาเป็นเวลานาน  แต่มักต้องเผชิญกับปัญหาการเงิน  เช่น กระแสเงินสดไม่เพียงพอ การสูญเสียรายได้เมื่อเจ็บป่วย และประสบกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ทำให้เกิดความจำเป็นต้องใช้เงินในครอบครัว ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินในระบบ หลายคนจึงเลือกใช้เงินกู้ที่มีค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยสูง หรือจากแหล่งเงินกู้ที่ไม่เป็นทางการ รวมถึงผู้ให้กู้ยืมนอกระบบ

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มลูกค้าไมโครเอสเอ็มอี(ไมโครไฟแนนซ์) ธุรกิจที่บริหารงานโดยเจ้าของที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ร้านขายยา คลินิกขนาดเล็ก ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งปกติมักเป็นธุรกิจครอบครัวที่ทำธุรกรรมด้วยเงินสดเท่านั้น มีประวัติเครดิตคลุมเครือ และไม่มีการจัดทำงบการเงินอย่างเป็นระบบ ทำให้การขยายธุรกิจ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และประสบปัญหากระแสเงินสดเป็นครั้งคราว

“ธุรกิจรายย่อยและธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีหลายล้านแห่งเหล่านี้ เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย พวกเขาทำงานหนักเพื่อให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีประวัติการเงินที่แข็งแกร่งนัก นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้หันไปพึ่งสินเชื่อในช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เช่น เงินกู้นอกระบบ โรงรับจำนำ กู้ยืมจากเพื่อนหรือญาติพี่น้อง เพราะธนาคารในระบบไม่ให้ความสนใจและถูกละเลยจากสถาบันการเงินทั่วไป การได้สินเชื่อจากธนาคารไทยเครดิตฯ จึงช่วยให้พวกเขาสามารถจ่ายคืนเงินกู้จากเจ้าหนี้ที่ไม่เป็นทางการเหล่านั้นได้” วิญญูกล่าว

ปัจจุบัน ธนาคารไทยเครดิตฯ มีสาขาที่ให้บริการในการฝาก-ถอน และบริการสินเชื่อ 21 แห่ง และมีจุดให้บริการสินเชื่อ 295 จุด ด้วยผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือเซลล์  1,200 คน กระจายอยู่ตามตลาดสดทั่วประเทศ 2,700 แห่ง  มีลูกค้ารวม 174,000 ราย  ปล่อยสินเชื่อไปแล้วราว 45,000 ล้านบาท  ซึ่งสินเชื่อที่จะปล่อยให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ นาโนไฟแนนซ์  จะอยู่ราว 50,000 – 60,000 บาท  ส่วนผู้ประกอบการรายเล็ก ไมโครไฟแนนซ์ จะอยู่ราว 2-3 ล้านบาท

รอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ลูกค้าสามารถสมัครขอใช้สินเชื่อสำหรับลูกค้านาโนและไมโครได้ที่สาขาของธนาคารซึ่งมีมากกว่า 300 สาขาทั่วประเทศ โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน หรือหลักประกัน กระบวนการให้สินเชื่อของธนาคารเป็นเรื่องง่ายและโปร่งใส ลูกค้าจะได้รับใบเสร็จรับเงินและการยืนยันทาง SMS สำหรับการชำระเงินกู้ทั้งหมด เพื่อให้สามารถเก็บบันทึกรายละเอียดของเงินกู้ได้ โดยผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ของธนาคาร หรือ RMs จะไปพบปะลูกค้าอยู่เสมอ ลูกค้าจึงไม่ต้องเสียเวลาไปที่สาขา

รอย กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเดือนละราว 5,000 ราย  โดยธนาคารฯ มีแผนในการขยายจุดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500 แห่งในปี 2562 เข้าถึงตลาด 5,000 แห่งทั่วประเทศ  พร้อมเปิดตัวแคมเปญโฆษณาเพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้มากขึ้น ด้วยภาพยนตร์โฆษณา “ใครไม่เห็น เราเห็น” ภายใต้แนวคิด “ทุกคนคือคนสำคัญ”  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารฯมีภาพยนตร์โฆษณา

นอกจากนี้ ยังวางโครงการเพื่อสังคมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ในชื่อ “โครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียร รู้ขยัน รู้ออม รู้วินัย” จัดอบรมให้ความรู้ด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสินเชื่อนาโนและไมโครไฟแนนซ์ เพื่อให้สามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่กิจการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวในอนาคต  โดยแผนงานทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายที่จะขยายลูกค้าให้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 8,000-10,000 คน และทำให้ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารฯ เติบโตได้ถึง 15%

โดยวิญญู ไชยวรรณ กล่าวว่า แม้การปล่อยสินเชื่อนาโน และไมโครไฟแนนซ์ ของธนาคารไทยเครดิตฯ จะไม่มีการวางหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน แต่ก็มั่นใจว่า สินเชื่อที่ปล่อยไปจะไม่เป็นหนี้สูญ  เพราะลูกค้าเป้าหมายจะเป็นผู้ที่ทำมาค้าขายอยู่ในตลาดมาเป็นเวลานาน มีแผง หรือร้าน เป็นช่องทางทำมาหากินหลัก คงไม่มีใครทิ้งที่ทำกินของตนแน่นอน