เกมรุก “โมโน” 3 จอ สู่ที่ 1 ทีวีดิจิทัล

1562

ในบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ฝ่าฟันแย่งชิงเรตติ้งแถวหน้า เพื่อสร้างโอกาสในการหาโฆษณามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา  หากไม่นับ 2 ช่องหลัก 3 และ 7 ที่อยู่คู่กับจอทีวีมาร่วม 30-40 ปี  ช่องที่ทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องที่สุด คงต้องยกให้  “โมโน 29”

ช่องทีวีดิจิทัล โมโน 29 ถือเป็นการลงทุนก้อนใหญที่สุดของ โมโน เทคโนโลยี ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสื่อออนไลน์อย่าง M Thai  ในยุคบุกเบิกของอินเทอร์เน็ตเมืองไทย  ราวปี 2541  ผ่านมา 20 ปี  วันนี้ โมโน ไม่ได้เป็นเพียงช่องทีวี หรือเจ้าของเว็บไซต์ แต่ โมโน เทคโนโลยี  คือ บริษัทผู้สร้างงานเอ็นเทอร์เทนเมนท์ ที่ก้าวเข้ามาแทนที่อดีต 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง GMM Grammy และอาร์เอส

ภายใต้องคาพยพของโมโน เทคโนโลยี มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ความบันเทิง และข้อมูลไลฟ์สไตล์ รวมอยู่ถึง 9 ธุรกิจ ประกอบด้วย  ธุรกิจสื่อทีวี, ธุรกิจเพลง, ธุรกิจภาพยนตร์, ธุรกิจบริการด้านไอที, ธุรกิจกีฬา, ธุรกิจบันเทิง, ธุรกิจเกม, ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการพยากรณ์

โดยในปี 2019 โมโน เทคโนโลยี  ได้ประกาศสร้างอาณาจักรของความบันเทิงให้เป็น Universe of Entertainment  ที่จะนำคอนเทนต์จากทุกธุรกิจมาบันเดิลเข้าด้วยกัน ผ่านสื่อ 3 จอ คือ Online – TV – Application

M thai ถือเป็นช่องทางออนไลน์ที่ถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน จนวันนี้มีผู้เข้าชมมากถึง 35 ล้านวิวต่อเดือน หรือคำนวณว่า มีมากถึง 3,000 ล้านวิวต่อปี

ช่องทีวีดิจิทัล โมโน 29 ที่วางคอนเซปต์เป็นช่องหนังและซีรีส์มาตั้งแต่แรก ความชัดเจนของช่องสามารถสร้างฐานผู้ชมจนมีเรตติ้งขึ้นมาอยู่ในระดับ Top 5 เวียนวนอยู่ในตำแหน่ง 3-5 มาโดยตลอด

ขณะที่แอพพลิเคชั่น ของโมโน ที่มีอยู่ 9 แอพพลิเคชั่น ทั้งแอพที่เปิดให้ใช้บริการฟรี และแอพที่ต้องเสียค่าบริการในการชม หรือในการรับบริการ  มียอดดาวน์โหลดรวมกันมากถึง 6.9  ล้านดาวน์โหลด

    ทั้งจอพีซี จอทีวี และจอมือถือ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากมายมหาศาลนี้ คือเครื่องมือในเกมรุกของโมโน ปีหน้า

โดยคอนเทนต์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โมโน จะเปิดเกมรุกในทุกธุรกิจ  เริ่มจากค่ายเพลง  ที่ได้ศิลปินชื่อดังหลายรุ่นมาอยู่ในสังกัด ทั้ง แมว-จีรศักดิ์ ปานพุ่น, นิโคล เทริโอ, โบ-สุนิตา , ไต้ฝุ่น KPN, คิง เดอะวอยซ์ ฯลฯ  นอกจากการออกอัลบัม หรือซิงเกิล  ยังจะมีการจัดคอนเสิร์ตให้มากขึ้น จาก 12 งานในปีนี้ เป็น 26 งานในปีหน้า

ด้านธุรกิจกีฬา นอกเหนือจากกีฬาบาสเก็ตบอล ที่โมโน มีทีม โมโนแวมไพร์ ส่งเข้าแข่งขันใน Asian Basketball League และถ่ายทอดการแข่งขันผ่านช่องโมโน 29  ในปีหน้าก็จะมีการจัดการแข่งขันเซปัคตะกร้อ เพิ่มขึ้นอีกรายการ

ธุรกิจภาพยนตร์  จะมีการซื้อภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาฉาย  10-12 เรื่อง และมีการสร้างภาพยนตร์เองจากบริษัท T-Moment  อีก 2-3 เรื่องในปีหน้า

ขณะที่โมโน 29 หลังจากประสบความสำเร็จในการนำภาพยนตร์ที่มีภาคต่อหลายตอน เช่น Fast and Furious, Mission Impossible  รวมถึง Harry Potter  มานำเสนอแบบต่อเนื่อง ทำเรตติ้งได้สูงถึง 2.80 มาแล้ว ก็จะมีการนำเสนอเรื่องใหม่ๆ ในปีหน้า พร้อมกับแคมเปญ Thailand Premier ที่จะนำภาพยนตร์ใหม่ออกจากโรง ภายในเวลา 1 ปีครึ่ง มาฉายที่ โมโน 29 เป็นช่องแรก สามารถสร้างเรตติ้งผู้ชมได้ ก็จะนำเสนอต่อไป

พิชญ์ โพธารามิก ประธานกรรมการ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ โมโน เติบโตได้ไม่มากนัก  จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์  และเพิ่มการลงทุนในการหาคอนเทนต์ขึ้นอีก 20%  หรือมากกว่า 1,000 ล้านบาท  โดยการซื้อคอนเทนต์ภาพยนตร์ ก็จะมีการนำมาบริหารจัดการผ่านทั้งช่องทีวีดิจิทัล โมโน 29 และช่องทางออนไลน์ Pay per View ในชื่อ Mono Max ที่เน้นการนำเสนอภาพยนตร์ใหม่ออกจากเพียง 1 ปี

“ที่ผ่านมาสื่อทีวีต่างต่อสู้กันเพื่อชิงเค้กก้อนเล็ก ๆ ปล่อยให้เงินก้อนใหญ่ราว 10,000 ล้านบาทต่อปีออกไปนอกประเทศจากสื่ออย่าง YouTube , Facebook  หรือแอพพลิเคชั่นดูหนังจากต่างประเทศ  เรานำสื่อที่มีอยู่มาบันเดิล เพื่อสร้างโอกาสในการขายใหม่ๆ  แทนที่จะมาแข่งกันลดราคาค่าโฆษณาจนตายกันไป”

พิชญ์ เชื่อมั่นว่า แผนการรุกด้วยแนวคิด Universe of Entertainment  นำคอนเทนต์จากทุกธุรกิจมาบันเดิลผ่าน 3 จอ Online – TV – Application  นี้จะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตได้ถึง 20-30% หลังจากพลาดเป้า 3,000 ล้านบาทที่วางไว้ในปีนี้ แต่จบได้เพียงกว่า 2,000 ล้านบาท

แต่เป้าหมายสำคัญที่พิชญ์มั่นใจว่า จะไปถึงให้ได้ คือการนำช่องโมโน 29 ขึ้นไปครองช่องเรตติ้งอันดับ 1 จากคอนเทนต์ที่มาจาก Universe of Entertainment

“เราไปถึงอันดับ 1 แน่นอน แต่ต้องใช้เวลา  เพราะโมโน 29 เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียง 5 ปี ขณะที่ช่อง 3 และ 7 ใช้เวลามาแล้วถึง 30-40 ปี”