บางจาก มั่นใจเชื้อเพลิงชีวภาพยังไปต่อ ผนึก KSL ตั้ง “BBGI” ต่อยอด Bio Industry

1696

ความตื่นตัวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV ในประเทศไทยวันนี้เริ่มเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งการเห็นรถยนต์เฉพาะกิจ อย่างรถยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงที่วิ่งในโครงการก้าวคนละก้าว จากใต้สุดขึ้นสู่เหนือสุดของประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หรือรถบัสขนาดเล็กรับ-ส่งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วิ่งกันเป็นประจำรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ค่ายรถยนต์เริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ทั้ง BMW  นิสสัน รวมถึงฮุนได ด้านสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ  จากผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน

กลายเป็นคำถามว่า ความร่วมมือกันระหว่าง กลุ่มบางจากฯ กับกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น(KSL)ในการจัดตั้ง บริษัท บีบีจีไอ  เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ เมื่อปีที่ผ่านมา เป็นดิวที่มีโอกาสมากเพียงใด

พงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (“BBGI” หรือ บริษัทฯ) ให้ความเห็นว่า แม้ตลาดรถ EV มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในเมืองไทย แต่คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะปัจจุบัน จำนวนรถยนต์ที่ใช้อยู่ในประเทศไทยราว 30 ล้านคัน มีรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงหลักแสนคัน  ทำให้เชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันยังมีต่อไปอย่างน้อยราว 10-20 ปี และเชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง เอทานอล และไบโอดีเซล ก็ยังมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น

โดยการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบางจากฯและกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น จัดตั้ง บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 60:40 ตามลำดับ ทำให้กลุ่มบางจากกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมวัตถุดิบในการผลิตหลากหลาย และบางจากเองก็ยังมีบทบาทเป็นผู้ซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันของตนอีกด้วย

ซึ่งโครงสร้างธุรกิจภายใต้บริษัท บีบีจีไอ ประกอบด้วย การถือหุ้นในบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ 1.) บมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น (KGI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ 2.) บริษัท บางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด (BBE) ผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลโดยใช้มันสำปะหลังสดและมันสำปะหลังเส้น และ 3.) บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ผู้ผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต

ปัจจุบันบีบีจีไอ มีกำลังการผลิตเอทานอลจาก 5 โรงงานผลิตของบริษัทย่อยในเครือราว 9 แสนลิตรต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตไบโอดีเซล จาก BBF สามารถผลิตได้ 9.3 แสนลิตรต่อวัน  รวมเป็น 1.83 ล้านลิตรต่อวัน  แต่ก็มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง 2 ประเภทนี้ให้ได้ถึงล้านลิตรต่อวัน รวมเป็น 2 ล้านลิตรต่อวัน หลังจากบริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

“แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตเอทานอลของประเทศโดยรวมสามารถผลิตได้วันละราว 6 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ราว 4.4 ล้านลิตรต่อวัน แต่ด้วยนโนบายการสนับสนุนการใช้แกสโซฮอล์ของรัฐบาลให้น้ำมัน E20 และ E85 ที่มีการผสมเอทานอลมากขึ้น แพร่หลายขึ้น  ก็จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอลจากปัจจุบัน 15% ของการผสมน้ำมันเฉลี่ยทั้งประเทศให้สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้เอทานอลเติบโตขึ้นอีกราว 7-8% ขณะที่ไบโอดีเซล มีกำลังการผลิตทั่วประเทศวันละ 7 ล้านลิตร มีความต้องการใช้วันละ 4.5 ล้านลิตร ถือว่ามีกำลังการผลิตมากพอ ขณะที่การสนับสนุนจากภาครัฐในกลุ่มไบโอดีเซล ยังมีน้อย  คาดว่าไบโอดีเซลจะมีการเติบโตช้าๆ เพียง 2%  เท่านั้น ทำให้บีบีจีไอ ไม่ได้ขยายกำลังการผลิตมากนัก”

พงษ์ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการขยายกำลังการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล รองรับความต้องการแล้ว การตั้งบริษัท บีบีจีไอ ยังมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทผลิตภัณฑ์ชีวภาพระดับนานาชาติด้วยนวัตกรรมสีเขียว และดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายที่จะขยายทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่โดยมุ่งไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Product) หรือ HVP เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว โดยนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ รองรับภาครัฐเร่งผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) แจ้งเกิดในประเทศไทยอีกด้วย

ด้าน ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBGI กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ มีความได้เปรียบทางธุรกิจจากการมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำของผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งจากกลุ่มบางจากฯ ที่มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และจาก บมจ.น้ำตาลขอนแก่น ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายรายใหญ่ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการการสั่งซื้อวัตถุดิบ และได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานกลุ่มบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขยายกำลังการผลิตเอทานอล (เฉพาะบริษัทย่อย) และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล  ซึ่งสอดคล้องนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศ นอกจากนี้ มีแผนลงทุนธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (HVP) รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ พลาสติกชีวภาพ  การผลิตน้ำตาลจากเซลลูโลส ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ฯลฯ

“เรามีศักยภาพในการรุกขยายการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ เนื่องจากมีองค์ความรู้และความพร้อมด้านความมั่นคงของวัตถุดิบ โดยมีแผนนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมาสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ธุรกิจวัสดุชีวภาพและเคมีชีวภาพ”ชลัช กล่าว