บิ๊กมูฟ “ไทยแอร์เอเชีย” เมื่อ “ธรรศพลฐ์” ทิ้งเก้าอี้ CEO มุ่งลุยโปรเจ็กต์ยักษ์บูมอู่ตะเภา

4555

นับเป็นการขยับตัวครั้งใหญ่ของกลุ่มสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” เมื่อบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ทำหนังสือรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเช้าวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมบอร์ดครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 มีมติแต่งตั้งให้ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และแต่งตั้ง “สันติสุข คล่องใช้ยา” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์และรายได้พิเศษ ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

 สันติสุข คล่องใช้ยา CEO คนใหม่ล่าสุดของ ไทยแอร์เอเชีย

จัดทัพครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปี

นับเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจสายการบินได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั้น “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ผู้ปลุกปั้นสายการบินแห่งนี้นั่งบริหารในตำแหน่ง “CEO” มาโดยตลอด ขณะที่ “สันติสุข คล่องใช้ยา” ก็เป็นมือขวาที่เข้ามาช่วยปลุกปั้น “ไทยแอร์เอเชีย” มานานกว่า 10 ปี

โดยหลังจากบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ทำหนังสือรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเช้าวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในช่วงเที่ยงของวันเดียวกันนั้น 2 บิ๊กแห่ง “ไทยแอร์เอเชีย” ก็จัดเวทีนัดแถลงข่าวเปิดใจพร้อมพูดคุยถึงแผนงานและทิศทางในอนาคตทันที

โดย “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชัน (AAV) และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) บอกว่า การจัดทัพใหม่ของไทยแอร์เอเชียครั้งนี้จะทำให้การบริหารคล่องตัวขึ้น โดยตนจะยังทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบาย ภาพรวมการบริหาร ให้เป็นไปเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท

พร้อมยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ไปไหน ยังคงอยู่กับไทยแอร์เอเชีย เพียงแค่ขยับมาดูงานการบริหารในภาพรวมและกำหนดทิศทางของบริษัท และมีเวลามองหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจให้เติบโต พร้อมทั้งร่วมขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐและร่วมมือกับเอกชนเพื่อให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการบินต่อไป

ภาพจาก : Bangkok Bank SME

เตรียมลุย 3 โปรเจ็กต์ใหญ่

โดยโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนและต้องทุ่มเทอย่างมากในขณะนี้ประกอบด้วย 3 โครงการใหญ่ คือ 1. ศูนย์ซ่อมบำรุง หรือ MRO อู่ตะเภา ซึ่งทางรัฐบาลได้เข้ามาคุยพร้อมบอกว่ารัฐบาลมีแผนทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหลัก ประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และอยากให้ไทยแอร์เอเชียมีส่วนเข้าไปช่วยทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าอู่ตะเภาให้เพิ่มมากขึ้น ตามแผนที่จะผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินแห่งที่ 3 (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา)

ทั้งนี้ จากการเจรจาพูดคุยขณะนี้ทางรัฐบาลของไทยได้จัดสรรพื้นที่ให้ไทยแอร์เอเชียแล้วประมาณ 60 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียเองก็ได้พูดคุยกับพันธมิตรที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว 3 ราย หากได้ข้อสรุปกับทางรัฐบาลภายในเดือนนี้ก็พร้อมเดินหน้าทันที ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณช่วงปลายปี 2562

2.ลงทุนอาคารผู้โดยสารสายการบินราคาประหยัด หรือ Low-cost Terminal ที่สนามบินอู่ตะเภา และ 3. ลงทุนสร้างอาคารสำนักงานและศูนย์ฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ สำหรับผลิตป้อนให้กลุ่มไทยแอร์เอเชียโดยตรง บนที่ดิน 19 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถลงเสาเข็มได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีครี่ง

ย้ำหัวใจสำคัญของโลว์คอสต์คือ “การบริหารต้นทุน”

ธรรศพลฐ์ ย้ำว่า ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวข้างต้นนี้ทุกโครงการจะตอบโจทย์ในเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนที่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นของกลุ่มไทยแอร์เอเชีย โดยในส่วนของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) อู่ตะเภานั้น คาดว่ามูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนโมเดลการลงทุนนั้นมองไว้หลายรูปแบบ ทั้งร่วมลงทุน และให้พันธมิตรลงทุนทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม “ไทยแอร์เอเชีย” จะยังเป็นเจ้าของโครงการ ทำข้อตกลงใช้บริการในราคาที่ถูกกว่า นั่นหมายความว่า สิ่งที่ไทยแอร์เอเชียจะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนคือ ต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องบินจะลดลงได้มหาศาล เพราะที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุง รวมถึงค่าน้ำมันและค่าตัวนักบินที่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมบำรุงที่อื่นในแต่ละปีจำนวนมาก

และแน่นอนว่า หากโครงการ MRO ดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้ “ไทยแอร์เอเชีย” สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการบริหารโลว์คอสต์แอร์ไลน์คือ การบริหารจัดการต้นทุนที่ดีและมีประสิทธิภาพ

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร ไทยแอร์เอเชีย

กวาดกำไรไตรมาส1 ไปแล้วกว่า 1 พันล้าน

ธรรศพลฐ์” ยังกล่าวดึงผลการดำเนินของบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA)  ด้วยว่า ในไตรมาส 1/2561  AAV มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,642.8 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิ 1,004.1 ล้านบาท ในขณะที่ TAA มีรายได้รวม 11,642.8 ล้านบาท และทำสถิติกำไรสุทธิที่ 1,834.6 ล้านบาท

ขณะที่อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ร้อยละ 91 เพิ่มขึ้น 2 จุด โดยขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 5.64 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 สูงกว่าปริมาณที่นั่งที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวเป็นผลจากการรุกตลาดภายในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะในเส้นทางเมืองรองตามนโยบายรัฐบาล และการเพิ่มความแข็งแกร่งในฐานปฏิบัติการการบินต่างๆ โดยในไตรมาส 1/2561 นี้ “ไทยแอร์เอเชีย” เปิดเส้นทางบินใหม่รวม 7 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ไประนอง, ยะโฮร์ บาห์รู, เฉิงตู และชุมพร รวมถึงจากภูเก็ตไปมาเก๊าและคุนหมิง อีกทั้งจากเชียงใหม่ไปอุดรธานี เพิ่มความถี่บินใน 12 เส้นทางที่ออกจาก กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) และ พัทยา (อู่ตะเภา)

ขณะเดียวกันก็ได้ยกเลิกการให้บริการเส้นทางบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ติรุจิรัปปัลลิ, เชียงใหม่-อุบลราชธานี และอุบลราชธานี-พัทยา (อู่ตะเภา) เพื่อการจัดการรายได้และบริหารการใช้เครื่องบินอย่างเหมาะสม

สำหรับตลาดระหว่างประเทศนั้น “ไทยแอร์เอเชีย” ยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLMV ผ่านการเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้โดยสารหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งมองโอกาสในตลาดอินเดีย ซึ่งมีศักยภาพสูง เพื่อมาเสริมทัพตลาดจีนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เพื่อให้สายการบินสามารถเติบโตและมีรากฐานที่พร้อมแข่งขันทุกตลาดในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังประเมินว่า ไตรมาส 2 นี้ “ไทยแอร์เอเชีย” ยังจะเดินหน้าต่อไปอย่างดีตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม โดยปี 2561 นี้ ไทยแอร์เอเชียยังตั้งเป้ายอดผู้โดยสารสูงที่ 23.2 ล้านคน

นักวิเคราะห์แนะนำให้ “ซื้อ”

“เบญจพล สุทธิ์วณิช” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัดระบุว่า บริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส1/2561  อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 111% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าดีกว่าคาด 50% จากต้นทุนรวมที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่รายได้เติบโตจากค่าโดยสารและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น บวกกับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 77 ล้านบาท

ขณะที่ต้นทุน (ไม่รวมต้นทุนเชื้อเพลิง) ปรับลดลง เป็นผลมาจากการเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินจาก 11.9 ชม.ต่อวัน ในไตรมาส 1/2560 เป็น 12.5 ชม.ต่อวัน ในไตรมาส 1/2561

อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นมีความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าที่จะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ โดยทิศทางของค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาอ่อนค่า ขณะที่ราคาน้ำมันเครื่องบินยังคงทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตามภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยหนุนรายได้ โดยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยคาดว่า ในไตรมาส 2/2561 นี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9.1 ล้าน

โดย AAV ยังมีแผนที่จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางการบินที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาล โดยทั้งปี 2561 นี้ยังคงเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารรวมที่ 23.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2560

แนะนำให้ “ซื้อ” แต่ปรับวิธีการประเมินมูลค่าเหมาะสมจาก DCF เป็น PER ได้มูลค่าเหมาะสมใหม่ที่ 6.50 บาท