กลุ่มทุนเฉพาะกิจศิษย์จุฬา ปั้น “สเตเดียม วัน” “ไลฟสไตล์ สปอร์ต คอมมูนิตี้” แห่งแรก แห่งเดียวในเมืองไทย

2977

ถามคนรุ่นเก่าๆ ที่คุ้นเคยกับพื้นที่สามย่าน สวนหลวง จรดแยกเจริญผล พระราม 1  คงนึกถึงภาพของย่านการค้าตลอดแนวถนน  โรงหนังสแตนอะโลน สามย่าน  ย่านอาหารการกินในตลาดสวนหลวง  ย่านการค้าขายอะไหล่รถเก่า  ย่านขายเสื้อผ้ากีฬา และย่านร้านตัดเย็บเสื้อผ้า 2 ข้างถนนบรรทัดทอง

ภาพเหล่านั้นในวันนี้ น่าจะหลงเหลือเพียงไม่ถึง 10%  ของพื้นที่  เพราะสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการรีโนเวทพื้นที่ครั้งใหญ่  ปรับพื้นที่ที่อยู่ในการดูแล  ตั้งแต่ย่านถนนจุฬาฯ 42  ถูกสร้างเป็นอาคารหอพักนิสิตนักศึกษา และพื้นที่พาณิชยกรรม ประกอบด้วยร้านอาหาร ร้านขายของเบ็ดเตล็ด สถาบันกวดวิชา สถาบันสอนดนตรี ฯลฯ  โดยใช้ชื่อโครงการว่า U-Center

ย่านถนนจุฬาฯ 9 มีขนาดพื้นที่ 4 ไร่ 22 ตารางวา ถูกปรับเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ ในชื่อ  I’m Park ประกอบด้วยร้านอาหาร ร้านเสริมความงาม ร้านขายของเบ็ดเตล็ด สถาบันกวดวิชา

บริเวณถนนจุฬาฯ 5  ถูกสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ สไตล์จีน Sino-Portugues ชื่อ ZyWalk” ขณะที่หัวมุมแยกสามย่าน กำลังสร้างเป็นอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยสูง 26 ชั้น   “สามย่านมิตรทาวน์

และอีกหนึ่งโครงการที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมสี่แยกเจริญผล จนถึงด้านหลังสนามศุภชลาศัย  ถูกวางเป็นคอมมูนิตี้มอลล์รูปแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ไลฟ์สไตล์ สปอร์ต คอมมูนิตี้  Stadium One

สเตเดียม วัน บริหารโดย บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด ผู้รับสิทธิ์ในการเช่าเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งมีทีมผู้บริหารเป็นศิษย์เก่าคณะวิศวรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  4 คน ที่รวมก๊วนวิ่งออกกำลังกายกันเป็นประจำ มองเห็นโอกาสจากเทรนด์การออกกำลังกายของคนกรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มการเติบโตมาขึ้นทุกปี โดยมีการสำรวจพบว่า มีผู้วิ่งออกกำลังกายในกรุงเทพฯ อยู่ราว 500,000 คน ขณะที่ธุรกิจฟิตเนสก็เติบโตขึ้น มีแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาเปิดบริการในประเทศไทยมากขึ้น

ทันทีที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เปิดให้ยื่นประมูลสิทธิ์ในการบริหาร  ก็นำโครงการสเตเดียม วัน เข้าร่วมประมูล และได้รับสิทธิ์มาจากแนวคิดที่ทำให้ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ มั่นใจว่า “มาถูกทาง”

สิทธิชัย ศรีสงวนสกุล กรรมการผู้จัดการ โครงการ สเตเดียม วัน กล่าวถึงแนวคิดในการสร้าง  สปอร์ต เดสทิเนชั่น (Sports Destination) แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ว่า มีการออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับพื้นที่ออกกำลังกายหลากหลายชนิด ทั้ง Indoor และ Outdoor ตลอดจนบริเวณโดยรอบโครงการได้รวบรวมร้านค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาทุกประเภทไว้อย่างครบวงจร รวมถึงร้านอาหารอร่อยชื่อดังที่คัดเลือกมาให้กับลูกค้าได้ลิ้มรสชาติ และร้านกาแฟที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ครบถ้วนทุกมิติ เมื่อเข้ามาใช้บริการที่นี่ วางเป้าหมายให้สเตเดียม วัน เป็นไลฟ์สไตล์ สปอร์ต คอมมูนิตี้ ศูนย์กลางสำหรับคนรักการออกกำลังกายแห่งใหม่ที่นึกถึง

สเตเดียม วัน มีพื้นที่กว่า 10 ไร่  ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายอุปรณ์กีฬา 40%  พื้นที่ออกกำลังกาย 20%  ร้านอาหาร 20%  บริการอื่นๆ เช่น คลินิกสุขภาพ 5%  และเป็นส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการขาย 15%   โดยแบ่งพื้นที่โครงการฯ ออกเป็น 5 โซน ได้แก่

Stand A  โซนร้านค้าปลีกและค้าส่งเกี่ยวกับเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา อาทิ Warrix  เสื้อผ้ากีฬา, ERKE Thailand รองเท้าวิ่งนำเข้า , Star Award and Trophy ถ้วยรางวัล เข็มกลัด ของที่ระลึก, Nicety Sport ทำบล็อก-สกรีน เสื้อยืด และ Sport Euro เสื้อสำหรับกีฬา วิ่ง ฟิตเนส โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ

Stand B โซนแบรนด์กีฬาและไลฟ์สไตล์เป็นหลัก อาทิ ช้างศึกสโตร์  ชุดฟุตบอล สินค้าที่ระลึกทีมชาติไทย,  Playground 360 รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา ตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ NIKE,  PATHWILD อุปกรณ์เดินป่า ปืนเขา, Banana Run อุปกรณ์การวิ่ง ฯลฯ

Stand C โซนที่รวบรวมร้านอาหารสตรีท ฟู้ดชื่อดัง อาทิ   โจ๊กสามย่าน,  ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวเป็ด เจ๊เกียงสะพานเหลือง, ขนมน้ำแข็งใส เซ็งซิมอี้, เป็ดตุ๋น ห่านตุ๋น ตั้งชุ่ยเฮงโภชนา, ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาอันดับ 1 จส.100 บรรทัดทองโภชนา, หมูสะเต๊ะ มิงค์โภชนา, โอ้กะจู๋  ร้านผักสลัดชื่อดังจากเชียงใหม่ ฯลฯ

Stand D โซนร้านกาแฟ 24 ชั่วโมง WAKE Up และร้านอาหารเพื่อสุขภาพ  Muscular Coffee & Kolok Shop

Active Box โซนศูนย์บริการออกกำลังกายครบวงจร  อาคารเพดานสูง 5 ชั้น ประกอบด้วย ฟิตเนส สตูดิโอออกกำลังกาย อาทิ 911 by JT, RSM Muay Thai, Jetts Fitness ฯลฯ

นอกจากนั้นยังมี ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับการจัดงานหลากหลายประเภท มีขนาดกว่า 2,000 ตารางเมตร

พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย ผู้บริหารโครงการ กล่าวถึงจุดแข็งและกลยุทธ์ธุรกิจหลังการเปิดตัวว่า สเตเดียม วัน เป็นแนวคิดใหม่ของการสร้างคอมมูนิตี้ของคนเล่นกีฬา ที่ไม่มีพื้นที่ไหนในประเทศไทย เหมาะเท่ากับจุดนี้ เน้นจับกลุ่มลูกค้าที่รักการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นกีฬาในร่ม อย่างฟิตเนส คลาสเต้นต่าง ๆ หรือกีฬากลางแจ้งอย่าง วิ่งและปั่นจักรยาน เนื่องด้วยสถานที่ตั้งอยู่ในรัศมีอุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนลุมพินี และสนามศุภชลาศัย นอกจากนี้ยังมีร้านค้า ร้านอาหารและร้านกาแฟ รวมถึงพื้นที่สำหรับทำออฟฟิศขนาดเล็กให้เช่า และ Hostel ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องอาบน้ำ ล็อกเกอร์เก็บสัมภาระ  รวมไปถึงลานจอดรถที่รองรับได้มากถึง 150 คัน และที่จอดรถบริเวณโดยรอบโครงการฯ ราว ๆ 700 คัน

“ปัจจุบันมีตัวเลขผู้เข้าใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 2,000 คนต่อวัน จากผู้ใช้บริการฟิตเนส และลูกค้าร้านอาหารในโซนสตรีท ฟู้ด รวมไปถึงอีเวนท์ใหญ่ที่ทำให้สเตเดียม วัน เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น งาน Anessa Summer Run, งานวิ่ง Nike Running club, HIIT WALK ที่จัดขึ้นโดยคุณวู้ดดี้ มิลินทจินดา ฯลฯ ซึ่งคาดว่าตัวเลขจะสูงขึ้นหลังจากที่ร้านค้า และสตูดิโอออกกำลังกายต่าง ๆ เปิดให้บริการอย่างพร้อมเพรียงเต็มรูปแบบ”

โดยสเตเดียม วัน จะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ ภายในงานจะมีกิจกรรมไฮไลท์รวมกลุ่มคนรักการออกกำลังกาย ร่วมเต้นซุมบ้ากว่าพันคน ถือเป็นการรวมตัวที่มากที่สุดในประเทศไทย  โดยแผนงานต่อไป จะมีการขยายพื้นที่และเสริมร้านค้ามากขึ้น  รวมถึงการจัดทำระบบบัตรสมาชิก (Active Pass) ที่สามารถใช้บริการสตูดิโอ หรือ ฟิตเนส ภายใน Active Box ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในรูปแบบของรายวันและรายเดือน เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างสูงสุด

ทีมผู้บริหารสเตเดียม วัน วางเป้าว่า ต้องการให้มีผู้เข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน  ทั้งนี้รายได้ของสเตเดียม วัน 95% จะมาจากค่าเช่า ซึ่งคาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้พื้นที่ทั้งหมดจะสามารถเปิดให้บริการได้ครบ  ทำให้บริษัทฯ มีรายได้ราว 60-70 ล้านบาทต่อปี  คาดว่าภายในเวลา 5 ปี ก็จะสามารถคืนทุนได้ทั้งหมด

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการให้ผู้มาใช้บริการสเตเดียม วัน มีการจับจ่าย ซื้อสินค้าหรือรับประทานอาหารสร้างรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมของชุมชนให้อยู่คู่กับพื้นที่นี้ต่อไป