โจทย์ใหญ่ ซุปเปอร์ริช สีเขียว บริการเด่น แต่แบรนด์ยังไม่เด้ง

3013

กลายเป็นภาพที่หลายคนอาจเห็นชินตา กับการต่อแถวเข้าคิวกันยาวในห้างสรรพสินค้า  แต่นั่นไม่ใช่การต่อคิวซื้อโดนัท หรือข้าวโพดคั่ว กลับเป็นการต่อแถวเพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงินหน้าเคาน์เตอร์แบรนด์ “ซุปเปอร์ริช”

ตลาดรับแลกเปลี่ยนเงินในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 6.6 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 54% ปัจจัยสำคัญคือ การแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์ ที่มีการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ทำให้ทั้งคนไทยที่เดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ทำให้แบรนด์ “ซุปเปอร์ริช” ที่มีจุดดึงดูดสำคัญ คือ การให้ราคาแลกที่คุ้มค่ากว่าการแลกเงินกับเคาท์เตอร์แลกเงินของธนาคาร ได้รับความนิยมในการใช้บริการเพิ่มมากขึ้นทั้งจากคนไทยและชาวต่างประเทศ

แต่ซุปเปอร์ริช ก็ไม่ได้อยู่เหนือการแข่งขัน  เพราะคู่แข่งสำคัญของ “ซุปเปอร์ริช” ก็คือ ”ซุปเปอร์ริช”

การตีความของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เกี่ยวกับชื่อแบรนด์สินค้า ที่เห็นว่า  “ซุปเปอร์ริช” เป็นชื่อสามัญที่ไม่สามารถจดสิทธิ์ไปใช้ส่วนตัว เหมือน คำว่า  บ้าน , สนุก หรือรวย ฯลฯ ทำให้ใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ทำให้วันนี้หากสังเกตให้ดีเราจะพบเคาน์เตอร์บริการรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินในชื่อ ซุปเปอร์ริช อย่างน้อย 3 แบรนด์ที่มีโลโก้ และสีแตกต่างกัน และ 2 แบรนด์ซุปเปอร์ริชที่น่าจะคุ้นตาผู้บริโภคมากที่สุด ก็คือ ซุปเปอร์ริซ สีส้ม และซุปเปอร์ริช สีเขียว

สิตามนันท์ สุสมาวัฒนะกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซุปเปอร์ริช(ไทยแลนด์) จำกัด ผู้บริหารซุปเปอร์ริช สีเขียว กล่าวว่า นอกเหนือจากความแตกต่างของสีที่จะแยกแบรนด์ออกจากการรับรู้ของผู้บริโภค ด้านการให้บริการ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของซุปเปอร์ริซ สีเขียว

โดยบริการที่เป็นจุดขายสำคัญของซุปเปอร์ริซ สีเขียว นอกเหนือจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ดีที่สุดแล้ว การวางระบบเพื่อสามารถให้บริการได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง อัตราแลกเงิน, การบริการ จนถึงความเชี่ยวชาญของพนักงาน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกด้าน ตั้งแต่การเพิ่มสกุลเงิน การเพิ่มสาขา และการเพิ่มบริการใหม่ๆ

ปัจจุบันซุปเปอร์ริช สีเขียว มีการให้บริการแลกสกุลเงิน 34 สกุลเงิน และพร้อมจะเพิ่มสกุลเงินให้มากขึ้น หากมีความต้องการเข้ามา เช่นในปัจจุบัน สกุลเงิน ลีราตุรกี , ดีนาร์บาร์เรน รวมถึงดอลลาร์บรูไน ก็เริ่มมีความนิยมมากขึ้น ขณะที่บริการแลกเงินผ่านบัตรเครดิต แลกเงินไทยเป็นเงินต่างประเทศ ก็มีให้บริการใน 6 สาขา และมีบริการตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนผ่านช่องทางออนไลน์และโมบาย  ทั้งบนเว็บไซต์  และเฟซบุ๊ก  ซุปเปอร์ริชไทยแลนด์  รวมถึงบนแอพพลิเคชั่น SuperrichTH ทั้งในระบบ iOS และ Android ก็สามารถดาวน์โหลดเพื่อตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนอัพเดทเรียลไทม์ได้ รวมทั้งมีการปรับปรุงคอลล์เซ็นเตอร์ และช่องทางการสื่อสารผ่าน LINE@ เพื่อการสื่อสารเข้าถึงลูกค้าได้ดีที่สุด

ธณัทร์ษริน สุสมาวัฒนะกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาองค์ร บริษัท ซุปเปอร์ริช(ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการแข่งขัน ท้าทายให้ซุปเปอร์ริช สีเขียวต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา  โดยปัจจุบันผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในประเทศไทย มีมากกว่า 2,000 ราย  โดย 50% ของผู้ให้บริการจะอยู่ที่ภาคใต้ ขณะที่เม็ดเงินส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ  และปริมณฑล ทำให้การแข่งขันสูง ซึ่งปัจจุบันสาขาทั้ง 12 สาขาของซุปเปอร์ริช สีเขียว ก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้บริษัทฯ ต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา มีการปรับปรุงขยายสาขาให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญคือความต้องการของลูกค้า

“วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคในการแลกเงินเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมมีการแลกเงินเมื่อต้องการเดินทาง แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคจะตรวจสอบราคาแลกเปลี่ยนตลอดเวลา หากพบว่าช่วงเวลาใดที่อัตราแลกมีราคาที่ดี ก็จะแลกเก็บไว้ในจำนวนน้อยๆ เช่น 2,000-3,000 บาท ซึ่งหากความต้องการของลูกค้ามีเข้ามา ต้องการเพิ่มสกุลเงินประเทศใหม่ๆ หรือต้องการให้เราไปเปิดสาขาที่จุดไหน เราก็จะพิจารณาเพื่อตอบรับความต้องการแน่นอน”

ปัจจุบันลูกค้าของซุปเปอร์ริช สีเขียว เป็นชาวไทย 60%  ชาวต่างประเทศ 40% โดยในปีที่ผ่านมาทำยอดการแลกเปลี่ยนสกุลเงินสูงถึง 112,000 ล้านบาท เติบโตทะลุเป้าถึง 43% มีกำไรเพิ่มขึ้น 25% คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดราว 17%  ผู้บริหารเจเนอเรชั่นที่ 2 ของซุปเปอร์ริช สีเขียว มองว่า โอกาสเติบโตในปีนี้ยังจะมีต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าไว้เบื้องต้น เติบโตไม่ต่ำกว่า 20%

แต่ธณัทร์ษริน ก็ยอมรับว่า การรับรู้ของผู้บริโภคในแบรนด์ซุปเปอร์ริช ที่เป็นบริการแลกเปลี่ยนเงินที่ให้ราคาคุ้มค่ากว่า  ยังมีมากกว่าการรับรู้เรื่องสีของแบรนด์ที่แยกผู้ให้บริการออกจากกัน  ดังนั้น หากผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีจากซุปเปอร์ริซ สีเขียว แต่ครั้งต่อไปกลับเดินเข้าไปใช้บริการกับซุปเปอร์ริซ สีส้ม เพราะคิดว่าเป็นแบรนด์เดียวกัน ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะสาขาของสีส้มมีมากกว่า ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากกว่า

ก็เป็นโจทย์ให้ 2 พี่น้อง เจเนอเรชั่นที่ 2 ของซุปเปอร์ริซ สีเขียว ต้องแก้กันต่อไป ว่าจะแข่งเพิ่มสาขาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค หรือจะสร้างแบรนด์สีเขียวให้โดดเด่นขึ้นกว่านี้