Disruptive Technology จุดเปลี่ยนธุรกิจ ในยุค Digital Transformation

14792

ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังมีบทบาทแบบจัดหนัก Internet of Things (IOT) ที่เข้ามาช่วยสร้างความลงตัวและสะดวกสบายให้กับการใช้ชีวิตประจำวันของคน ชีวิตรูปแบบใหม่ในโลกดิจิทัลกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกือบทุกธุรกิจต้องหันมาทำ Digital Transformation เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดจาก Disruptive Technology, Disruptive Innovation รวมไปถึง Digital Disruption 

และอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทมากๆ โดยเฉพาะกับตลาดแรงงานคือ  Artificial Intelligence (AI) หรือในภาษาไทยที่เราเรียกกันว่า ปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึง Big Data กำลังคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบการทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เกิดจาก นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่า ให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี จนทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง (disrupt) ต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม

รวมทั้งอาจจะทำให้ธุรกิจแบบเดิมๆ ต้องล้มหายตายจาก ดังนั้น การทำ Digital Transformation ในระบบธุรกิจจึงไม่ใช่เพียงแค่เทรนด์ แต่กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจในวันนี้ 

 

ภาพจาก : youtube

ธุรกิจถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยี

ธุรกิจที่เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการถูก Disrupt อย่างเห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้น ธุรกิจธนาคาร ที่มีการลดพนักงานจำนวนมาก มีการปิดสาขาย่อยลงไปหลายจุด เกิดนวัตกรรมไร้เงินสด ที่ทำให้เกิดเทรนด์ Digital Wallet หรือการใช้ดิจิทัลในการชำระเงินแทนการพกพาเงินสดหรือไร้เงินสดผ่านนวัตกรรม “Digital Wallet” เริ่มก่อตัวขึ้น

ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเลือกใช้แอพพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ ในการทำธุรกิจสารพัด โดยไม่ต้องเดินไปแบงก์ให้เสียเวลา ทำให้ทุกวันนี้ยอดการใช้งานแอพพลิเคชั่นธนาคารบางแห่ง เทียบเคียงได้กับ LINE, Facebook, Facebook Messenger และ Instagram

แบงก์ต่างๆ ทำ Digital Transformation เกิดบริการผ่านระบบดิจิทัลมากมาย อาทิ E-Wallet, E-Money, Block Chain, Cloud รวมไปถึงระบบ Promptpay ที่ออกมายกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารก่อนหน้านี้ ทำให้บริการระบบชำระเงินเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ล่าสุด นโยบาย National e- Payment Master Plan” ของภาครัฐ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการชำระเงินให้อยู่ในรูปแบบของระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เกิดเทรนด์การแข่งขันที่มาแรงคือ “ฟรีค่าธรรมเนียม” กันเป็นทิวแถว

ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า เป็นอีกธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบ แม้จะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็มีเสียงบ่นจากผู้ประกอบการหลายรายแล้วว่า ยอดขายตก เพราะคนไม่เดินห้าง แต่หันไปช้อปออนไลน์กันมากขึ้น แถมยังมีอีคอมเมิร์ซระดับสากล อย่าง Shopee, Lazada, 11street, Line Man เข้ามาสร้างมาตรฐานการช้อปออนไลน์ ทำให้คนเกิดความมั่นใจ แถมยังได้ความสะดวกสบาย

บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายที่ว่าแน่ๆ ก็ยังต้องหาทางออก ลดความเสี่ยง ก่อนที่จะถูก Disrupt แบบเบ็ดเสร็จ ด้วยการสร้างแอพพลิเคชั่น เปิดสโตร์ออนไลน์ เพิ่มช่องทางการขายเอาใจขาช้อปที่ต้องการความสะดวก

วรรณชัย ไพบูลย์บารมี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป

“วรรณชัย ไพบูลย์บารมี” ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป แสดงความคิดเห็นว่า Digital Transformation ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ อย่างธุรกิจธนาคารที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ทำให้บางธนาคารต้องลดพนักงาน หรือบางธุรกิจที่ต้องใช้คอลเซ็นเตอร์ รูปแบบการให้บริการคอลเซ็นเตอร์ก็เปลี่ยนไป

จากเดิมที่เคยใช้ Voice เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันต้องมีคอลเซ็นเตอร์ผ่านเว็บไซต์ เป็นคอลเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่ ที่ต้องการทักษะใหม่จากแรงงาน

จากความคิดเห็นนี้ทำให้เห็นได้ว่า บรรดาแรงงานทั้งหลาย หากไม่พัฒนาทักษะคุณก็ถูก AI เข้ามาแทนที่ได้ง่ายๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงงานคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น แต่ตอนนี้ยังรวมไปถึงแรงงานฝีมือ แรงงานช่าง ที่ต้องการทักษะด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างออกไปจากเดิม ในอนาคตงานประจำ (Routine) จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ

ภาพจาก : MThai News

 หุ้นธนาคารร่วงยกแผง-หุ้นค้าปลีกติดลม

ทั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่าหลักจากที่กลุ่มแบงก์ออกมาประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมโอน-จ่าย และเติมเงินผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้หุ้นแบงก์ใหญ่ SCB-KBANK-KTB-TMB ปรับตัวลดลงทันที เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมที่หายไปนั้น จะกระทบประมาณการของรายได้และกำไรในช่วงสั้น

โดยบล.เคทีบี ได้แสดงความเห็นว่า การยกเลิกค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของแบงก์โดยตรง เช่นเดียวกับรูปแบบของ promtpay ที่ภาครัฐต้องการให้ทำ เพื่อลดค่าธรรมเนียมของกลุ่มแบงก์อยู่แล้ว ซึ่งได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าหากมีการใช้ promtpay เต็มรูปแบบจะกระทบรายได้ราว 4-5% จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มแบงก์ออกไปก่อน

ในทางตรงกันข้าม หุ้นกลุ่มค้าปลีกกลับคึกคัก โดย “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมของหุ้นในกลุ่มค้าปลีกสำหรับปี 2561 นี้ไปได้ดีมาก เชื่อว่ากำไรสุทธิโดยรวมจะโตได้ 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงยอดขายในช่วงไตรมาส1/2561 โดยรวมที่เติบโตได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงแนะนำให้ลงทุนหุ้นในกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะ CPALL, CPN, HMPRO เป็นต้น

เช่นเดียวกับ “สุวัฒน์ วัฒนพรหม” ผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส หรือ APS ที่ประเมินว่า ภาพรวมหุ้นกลุ่มค้าปลีกในช่วงไตรมาส 1/25461 มีทิศทางการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมทั้งประเมินว่าทั้งปีกำไรโดยรวมของหุ้นกลุ่มค้าปลีกจะเติบโตได้ 16% โดยมีปัจจัยหนุนจากผู้ประกอบการได้เปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงยอดต่อสาขาที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ  โดยหุ้นเด่นที่แนะนำคือ BJC เป็นต้น

สอดรับแหล่งข่าวในวงการค้าปลีกรายใหญ่ที่มองว่า ในปี 2561 นี้ ภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในไทยจะทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการรุกเข้ามาของกลุ่มตลาดกลางออนไลน์ (E-Market Place) ต่างชาติรายใหญ่ เช่น จีน เกาหลีใต้ ที่มีแผนรุกตลาดออนไลน์ของไทยรวมถึงอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ

อีกทั้งสัญญาณการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ที่คาดว่าในปี 2561 น่าจะขยายตัว 20-25% ต่อเนื่องจากปี 2560 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดราว 256,000 ล้านบาท ยังจูงใจให้บรรดาธุรกิจต่างๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจค้าปลีก (Non-Retail) มีการแตกไลน์ธุรกิจและสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ด้วย

ภาพจาก : PeerPower

“ดิจิทัล” สร้างโอกาสธุรกิจ

การถูก Disruptive จากเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผลเสียเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกัน บางธุรกิจก็เติบโตได้ดีจากการอาศัยเทคโนโลยีเป็นใบเบิกทาง อย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากปี 2560 ตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกขยายตัวและมีมูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 10.1% ของขนาดตลาดค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564

ส่วนอีคอมเมิร์ซไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ประเมินมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยปี 2560 อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาทในปี 2560 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.86% และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในปีนี้อีกอย่างน้อย 25%

ขณะที่แรงงานที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่หากรู้จักปรับตัวเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดก็ถือเป็นโอกาสทองได้เช่นกัน โดย “ไมเคิล เพจ ประเทศไทย” เผยผลสำรวจพบแนวโน้มบริษัทในประเทศไทยมีความต้องการพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบหุ่นยนต์ ไอโอที การพัฒนาซอฟต์แวร์และการตลาดดิจิทัลเพิ่มขึ้น

จากรายงานภาวะการจ้างงานในประเทศไทยปี 2561 โดยไมเคิล เพจ (Michael Page Thailand Employment Outlook 2018) อ้างอิงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในภูมิภาคนี้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบดิจิทัลของเศรษฐกิจไทย และแรงส่งจากการลงทุนของต่างประเทศ ในช่วงปี 2560 และ 2561 คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งธุรกิจที่มาแรงมากๆ คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังขยายตัวอย่างมาก พร้อมกับความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น ดูได้จากตัวเลขการเติบโตของบริษัทรับ-ส่งพัสดุ Kerry ที่เติบโตมากกว่า 100% ในช่วงที่ผ่านมา

อเล็กซ์ อึ้ง ผู้อำนวยการบริหารสายงานธุรกิจรับ-ส่งพัสดุ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย)

“อเล็กซ์ อึ้ง” ผู้อำนวยการบริหารสายงานธุรกิจรับ-ส่งพัสดุ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เคยให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้ เคอรี่ยังมีแผนลงทุนทั้งการขยายสาขา การเพิ่มกำลังคนอีก 7,000 คน ขยายจุดให้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,500 สาขา จะปรับเป็นขยายให้ได้ 2,500 สาขา ภายในสิ้นปี 2561 ด้วยเงินลงทุนอีกกว่า 1,800 ล้านบาท

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เทคโนโลยี ไม่ได้ส่งผลเสีย หากสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อเราหลีกเลี่ยง Disruptive Technology ไม่ได้ ก็ต้องคิดหาวิธีอยู่ร่วมกันและนำเทคโนโลยีเหล่านั้่นมาเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ เพื่อสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ของคุณภาพ Feature จาก : PNI