แรงงานไทยปีนี้มีความสุขมากขึ้น สุขจากครอบครัวดี คะแนนนำลิ่ว

1955

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย “แรงงานไทย” ไม่ว่าจากทั้งภาครัฐและเอกชนถือเป็นกำลังสำคัญ  โดยรายงานสถิติแรงงานประจำปี 2559 ของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำ กระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้ง 22 กลุ่ม เท่ากับ 37,692,700 คน (ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

เมื่อจำแนกตามสถานภาพการทำงานของผู้มีงานทำในองค์กร พบว่า มีจำนวน ลูกจ้างเอกชน  14,888,900 คน ในปี 2559 หรือคิดเป็น 39.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีจำนวน 13,288,900 พันคน หรือคิดเป็น 34.9%

ขณะที่ลูกจ้างรัฐบาล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานในองค์กร มีจำนวน 3,561,800 คน ในปี 2559 หรือคิดเป็น 9.4% ปรับลดลงเล็กน้อยจากปี 2553 ที่มีจำนวน 3,603,500 คน หรือคิดเป็น 9.5% ตัวเลขที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลพวงจากนโยบายการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ ที่มุ่งลดจำนวนคนและหันมาเน้นให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด

วันแรงงานแห่งชาติ ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันที่มีความหมายสำหรับแรงงานไทย เพราะขณะที่สังคมไทยกำลังบ่ายหน้าเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องอาศัยความรู้เป็นฐานสำคัญ แน่นอนว่าแรงงานคนก็ยิ่งทวีความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ต้องอาศัยกำลังคนมาเป็นตัวขับเคลื่อน

โดยนอกจากค่าตอบแทนในการทำงาน ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงานแล้ว ปัจจัย ความสุข” ถือเป็นอีกกลไกสำคัญ ที่ทำให้คนทำงานในองค์กร มีความผาสุกในระยะยาว ช่วยเพิ่มผลิตผล (productivity) ให้องค์กร และหลอมรวมกันหลายๆ องค์กร ผลักดันผลรวมความสามารถของประเทศให้ก้าวหน้า

ภายใต้ความร่วมมือในการดำเนินงานกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ การสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ประจำปี 2561 โดยใช้เครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตและความสุขคนทำงาน“HAPPINOMETER” จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต และความสุขของประชากรโดยเฉพาะวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความสุขให้แก่คนทำงานทุกระดับ และทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

โดยวัดผลความสุขบนพื้นฐานสำคัญ 8 ประการ (Happy 8) ได้แก่ การมีสุขภาพกายดี (Happy Body) ผ่อนคลายดี (Happy Relax) น้ำใจดี (Happy Heart) จิตวิญญาณดี (Happy Soul) ครอบครัวดี (Happy Family) สังคมดี (Happy Society) ใฝ่รู้ดี (Happy Brain) และ สุขภาพเงินดี (Happy Money) รวมถึงได้เพิ่มองค์ประกอบขึ้นอีก 1 มิติ คือ การงานดี (Happy Work-life) ซึ่งเป็นมิติที่เกี่ยวข้องกับบริบทองค์กร การทำงานและความพึงพอใจของคนทำงานที่มีต่อองค์กร

ซึ่งการวัดผลความสุขทั้ง 9 มิตินี้ จะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อการเพิ่มพูนความสุขให้คนทำงาน และส่งผลดีต่อกิจการในฐานะ องค์กรแห่งความสุขของคนทำงาน”

สำหรับแนวทางการวิจัย ได้ดำเนินการสำรวจในทุกจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่เข้าข่าย และเป็นผู้ตอบสัมภาษณ์ด้วยตนเองเท่านั้น โดยผนวกข้อถามเกี่ยวกับความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ไปกับการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม พ.ศ. 2561 โดยมีจำนวนครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 83,880 ครัวเรือนตัวอย่าง

เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขทั้ง 9 มิติ พบว่า มิติครอบครัวดี” มีค่าคะแนนสูงที่สุดเท่ากับ 64.50 คะแนน

และ มิติใฝ่รู้ดี” มีค่าคะแนนต่ำที่สุดเท่ากับ 49.46 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในระดับ “Unhappy” หรือ “ระดับความสุขต่ำกว่าเป้าหมาย” เป็นสัญญาณให้ต้องพัฒนาสนับสนุนอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามสถานภาพการทำงาน พบว่า “ลูกจ้างรัฐบาล” (65.54 คะแนน) มีคะแนนความสุขสูงกว่า “ลูกจ้างเอกชน” (56.07 คะแนน)

ผลสำรวจความสุขคนทำงานในองค์กรประจำปี 2561 เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ในภาพรวมระดับประเทศ คนทำงานส่วนใหญ่มีความสุขเกินครึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า นายจ้างมีขีดความสามารถดูแลลูกจ้างให้มีความสุขและใช้ชีวิตในที่ทำงานอย่างผาสุก  เมื่อลงลึกในรายละเอียดพบว่า คนทำงานที่มีความสุขส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานครอบครัวที่ดีและอบอุ่น

แต่การได้คะแนนในมิติใฝ่รู้ดีน้อย อาจเป็นไปได้ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ (disruptive) ทำให้คนทำงานไม่สามารถปรับตัวได้ทัน การพัฒนาคนให้มีศักยภาพ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงไปกับองค์กร ผู้นำจะต้องออกแบบกิจกรรมหรือหลักสูตร ที่เปิดโอกาสให้คนได้ปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองออกมามากขึ้น ภายใต้ทัศนคติเชิงบวกที่ว่า เราทำได้ๆ และคนเรามีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  :  ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล