กองทุน DIF ลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจควบคู่การพัฒนาโทรคมนาคมไทย

11932

ถึงวันนี้ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ ดีไอเอฟ (DIF) (ชื่อเดิม: กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท หรือทรูจีไอเอฟ (TRUEGIF)) เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่จัดตั้งขึ้นเป็นรายแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ และสามารถสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับกิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในแทบทุกมิติของสังคมและกลายเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาประเทศ โดยกองทุนที่ลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมโดยตรงอย่าง DIF จึงถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนฟันเฟืองในครั้งนี้

สำหรับจำนวนทรัพย์สินปัจจุบันของกองทุนก่อนการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ประกอบด้วยเสาโทรคมนาคม 12,682 เสา  ใยแก้วนำแสงและอุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณประมาณ 1.37 ล้านคอร์กิโลเมตร และระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวน 1.2 ล้านพอร์ต

ล่าสุด กองทุน DIF ได้เตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3  มูลค่ารวมไม่เกิน 55,236 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. กรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมที่ใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 2,589 เสา
  2. กรรมสิทธิ์ และสิทธิการเช่าระยะยาวประมาณ 30 ปี รวมถึงสิทธิในการซื้อ (Call Option) ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) ประมาณ 1.21 ล้านคอร์กิโลเมตร

ซึ่งการลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งนี้จะสร้างความน่าสนใจในการลงทุนให้กองทุน DIF มากขึ้นเนื่องจาก

  1. ทรัพย์สินมีขนาดใหญ่และและมีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของการใช้งานและความครอบคลุมทุกพื้นที่ของที่ตั้งของทรัพย์สิน โดยรูปแบบการลงทุนอยู่ในลักษณะกรรมสิทธิ์หรือเทียบเคียง
  2. มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยหลังจากการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ประมาณการเงินปันผลจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.04 บาทต่อหน่วย สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 – 30 มิ.ย. 2562
  3. รายได้ของกองทุนภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว โดยทรัพย์สินของกองทุนจะมีอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20 ปี ภายหลังการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ส่งผลให้กองทุน DIF มีโอกาสได้รับรายได้อย่างสม่ำเสมอเพราะมีสัญญาระยะยาวรองรับ เป็นพื้นฐานให้กองทุน DIF สามารถจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ในระยะยาว
  4. มีเสาโทรคมนาคมที่สามารถปล่อยเช่าให้กับผู้ประกอบการรายอื่นได้เพิ่มขึ้น จึงสามารถรองรับความต้องการในการเช่าใช้เสาโทรคมนาคมที่อาจมีเพิ่มขื้นในอนาคต
  5. กองทุนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มทรูซึ่งเป็นผู้เช่าหลักของกองทุนและเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งมีผลประกอบการ (EBITDA) เติบโตอย่างน่าพึงพอใจในช่วงที่ผ่านมา
  6. ผลตอบแทนของกองทุน DIF ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับนักลงทุนบุคคลธรรมดา จนถึง ปี 2566 (10 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน) ขณะที่การลงทุนรูปแบบอื่น เช่น REIT หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จะเสียภาษีจากผลเงินปันผล 10%

โดย นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) เปิดเผยว่า กองทุน DIF  ได้พิจารณาและกำหนดให้การออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ของกองทุนมีมูลค่ารวมประมาณไม่เกิน 53,236 ล้านบาท  โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนรวมไม่เกิน 3,831 ล้านหน่วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนการระดมเงินทุนเพื่อนำมาใช้ลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ภายหลังได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ DIF ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560

“การลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 3 นี้ จะมีส่วนช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในประเทศไทย เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต สมาร์ตโฟนและระบบบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนมาใช้ระบบ 4G-LTE และการติดตั้งระบบ 5G ในอนาคต พร้อมทั้งมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่วางแผนพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 2563 จากปี 2557 ที่ร้อยละ 27”

กองทุน  DIF ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นของหน่วยลงทุนใหม่ที่ 13.60 – 13.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเสนอขายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน (Record Date) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน (Preferential Public Offering) (“ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ”)  โดยมีสิทธิในการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ในอัตราส่วนเท่ากับ 2.0911 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ และจะเสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไปโดยในส่วนที่เป็นนักลงทุนรายย่อยจะมีการจัดสรรโดยวิธี Small Lot First

โดยกำหนดเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ โดยจะเสนอขายในวันที่ 2 – 8 พฤษภาคมนี้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อในวันที่ 2 – 11 พฤษภาคมนี้ (ยกเว้นวันเสาร์และวันอาทิตย์) ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ยกเว้นสาขาไมโคร และธนาคารกรุงไทย (KTB) ทุกสาขาทั่วประเทศ

โดยผู้จองซื้อทั่วไปต้องชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น คือที่ราคา 13.90 บาทต่อหน่วย สำหรับราคาเสนอขายสุดท้ายจะถูกกำหนดหลังจากสำรวจความต้องการจองซื้อของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศอย่างช้าในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561  

ทั้งนี้ หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่า 13.90 บาทต่อหน่วย หรือไม่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน นักลงทุนจะได้รับเงินค่าจองซื้อคืนภายใน 7 วันทำการ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือภายใน 10 วันทำการ โดยการชำระเป็นเช็ค หรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขาย (วันที่ 16 พ.ค. 2561)

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือ ดาวน์โหลด (download) หนังสือชี้ชวนได้ที่ www.scbam.com, www.digital-tif.com และ www.sec.or.th