จากโลจิสติกส์ เอสเอ็มอี … SONIC แต่งตัวเข้า MAI มุ่งสู่ผู้นำโลจิสติกส์อาเซียน

2410

โลจิสติกส์  ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ฮอตฮิตของตลาดหลักทรัพย์วันนี้ ปัจจุบันมีบริษัทมหาชนที่ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ อยู่ราว 5-6 บริษัท  ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โลจิสติกส์จะเฟื่องฟูมากในเวลานี้ และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปอีกไกล  เพราะตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ภูมิภาคเนื้อหอมทางการค้าของวันนี้

ในปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยก็เตรียมต้อนรับอีกหนึ่งบริษัทโลจิสติกส์ ที่จะเข้ามาระดมทุนเพื่อการขยับขยายธุรกิจ “บมจ.โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC)

โซนิค อินเตอร์เฟรท ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจโลจิสติกส์ 10 คน มาร่วมลงขันตั้งบริษัทด้วยเงินทุน 1 ล้านบาท เป็นโลจิสติกส์ เอสเอ็มอี ขนาดเล็กๆ เมื่อปี 2538  ผ่านมา 22 ปี โซนิคฯ มีรายได้สิ้นปี 2560 สูงถึง 967.30 ล้านบาท แต่ด้วยเป้าหมายของบริษัทที่จะก้าวสู่ผู้นำในธุรกิจให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์ครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาด MAI

บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC เป็นผู้ให้บริการรับขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น  3 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. Sea Freight ธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล โดยเป็นตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ บริหารจัดการด้านขนส่งสินค้าเพื่อส่งออก หรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ มีเครือข่ายพันธมิตรอยู่ในกว่า 63 ประเทศ สามารถให้บริการครอบคลุม 134 ประเทศทุกทวีป ทั่วโลก ให้บริการทั้งแบบการขนส่งเต็มตู้คอนเทนเนอร์(FCL) และแบบไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์(LCL)
  2. Air Freight ธุรกิจการจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางอากาศ ทำหน้าที่ประสานงานและติดต่อตัวแทนของสายการบินเพื่อจองระวางเครื่องบิน และตู้คอนเทนเนอร์
  3. Inland Transport ธุรกิจการจัดการขนส่งทางบกภายในประเทศ และการจัดการขนส่งสินค้าข้ามแดน(Cross Border Transport) เป็นบริการที่รองรับการขนส่งแบบครบวงจรจาก Sea Freight และ Air Freight ไปสู่จุดหมายปลายทาง

โดยการบริการจะครอบคลุมการให้บริการ ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนช่องทางการขนส่ง การจัดเตรียมเอกสารดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือกฎระเบียบข้อบังคับในการนำเข้าสินค้าในประเทศและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ การจองระวางเรือหรือเครื่องบิน การดำเนินพิธีศุลกากร  รวมถึงการให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศ  ที่มีศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตั้งอยู่บนถนนกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ สำหรับบริหารจัดการสินค้าที่อยู่ระหว่างรอการขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและดำเนินการขนส่งได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่จุดรับสินค้าไปจนถึงจุดหมายปลายทาง (Door-to-Door) รวมถึงมีการให้บริการขนส่งสินค้าทางบกข้ามชายแดน (Cross-border transport) ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา และลาว

ดร.สันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบโลจิสติกส์มานานกว่า 22 ปี จึงสามารถนำเสนอการให้บริการที่ครบวงจรเพื่อเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการขนส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ยังมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาช่วยสนับสนุนและเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีขีดความสามารถด้านการแข่งขันที่ดี เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในการขนส่งสินค้าไปยังทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินการจัดตั้งฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Services) เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ติดตามแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และมีมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นในคุณภาพและไว้วางใจในการใช้บริการจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี

“เรามีวิสัยทัศน์ที่ต้องการผลักดันบริษัทฯ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่ผู้นำทางธุรกิจด้านโลจิสติกส์และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเรามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจการขนส่งสินค้าทั้งทางทะล ทางอากาศและทางบกภายในประเทศและจัดส่งสินค้าข้ามแดนมาอย่างยาวนาน ประกอบกับเรามีเครือข่ายพันธมิตรซึ่งเป็นตัวแทนในต่างประเทศกว่า 195 ประเทศที่ครอบคลุมทุกทวีป  ทำให้เราสามารถนำเสนอการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล  ส่งผลให้ลูกค้าไว้วางใจในการใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถผลักดันการเติบโตด้านผลการดำเนินงานด้วยดีมาโดยตลอด”

ด้าน เอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.โซนิค อินเตอร์เฟรท เผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟล์ลิ่ง) ของ บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 180 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 31.03% ของจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนของบริษัทฯ  โดยจะจัดสรรให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 25.86 ของจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนของบริษัทฯ  ส่วนที่เหลืออีก 30 ล้านหุ้นหรือคิดเป็นร้อยละ 5.17 ของจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนของบริษัทฯ  เป็นการออกเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะเสนอขายให้แก่พนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย (ESOP Warrant) จำนวน 30 ล้านหน่วย ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิไม่เกิน 5 ปี โดยจะเสนอขายให้แก่พนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในช่วงพร้อมกันกับระยะเวลาการขายหุ้น IPO  กำหนดอัตราการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ส่วนราคาการใช้สิทธิแปลงสภาพจะขึ้นอยู่กับราคาที่เสนอขายหุ้น IPO

ปัจจุบัน บมจ.โซนิค อินเตอร์เฟรท มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 290 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 580 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่ออกและชำระแล้ว 200 ล้านบาท คิดเป็น 400 ล้านหุ้น ทั้งนี้ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้และหลังการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ บริษัทฯ จะมีทุนที่เรียกชำระแล้ว 290 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 580 ล้านหุ้น

เอกจักร คาดว่าหากขั้นตอนต่างๆ  ดำเนินไปลุล่วง SONIC จะสามารถทำการระดมทุนในตลาด MAI ได้ราวปลายไตรมาสที่ 3 ถึงต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้  สำหรับเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะนำไปใช้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า การซื้อที่ดินและอาคารสำหรับอาคารสาขา รวมถึงลงทุนเพิ่มจำนวนรถขนส่งสำหรับธุรกิจขนส่งทางบก ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ บมจ.โซนิค อินเตอร์เฟรท สามารถขยายกำลังการให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์เพื่อสามารถรองรับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมาการเติบโตของ SONIC อาจเป็นไปได้ช้า เนื่องจากมีข้อจำกัดในการลงทุนจากเหตุที่มีทุนจดทะเบียนน้อย  แต่เมื่อสามารถเข้าระดมทุนในตลาด MAI ได้เป็นที่เรียบร้อย เชื่อมั่นว่า เงินทุนที่จะได้มาจะทำให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจออกไปได้อย่างรวดเร็ว สู่เป้าหมายการผู้นำในธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรของอาเซียน”