127 ปี “โอสถสภา” ก้าวมาถึงเจเนอเรชั่น 4-5 มีรายได้ปีละกว่า 3 หมื่นล้าน ทำไม? ถึงเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

23832

แม้ว่าบริษัท โอสถสภา จำกัด จะประกาศแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์ฯ พร้อมทั้งทยอยปรับโครงสร้างธุรกิจ ดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาเสริมความแกร่งเป็นจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ทันทีที่ “โอสถสภา” ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศตามโร้ดแมพไปเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาก็ “เซอร์ไพรส์” วงการคอนซูเมอร์โปรดักค์ไม่น้อยทีเดียว

คำถามที่ตามมาคือ บริษัทที่มีรายได้ระดับกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท มีกำไรปีละกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องนำบริษัทซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ก่อตั้งมานานถึง 127 ปี และผ่านการบริหารมาถึงเจนเนอเรชั่นที่ 4 และ 5 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

และที่สำคัญ ด้วยพื้นฐานของธุรกิจสินค้าในกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักค์นั้นถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสีสันและมีอัตราการเติบโตที่ไม่หวือหวานัก และไม่ค่อยเป็นที่จับตามองของนักลงทุนเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคได้เลือกและทดลองใช้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลไฟลิ่ง พบว่า บริษัท โอสถสภา จำกัด มีรายได้รวมสำหรับปี 2558 เท่ากับ 32,044.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,336 ล้านบาท ปี 2559  เท่ากับ 33,003.7 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,980.5 ล้านบาท และปี 2560 เท่ากับ 26,210.7 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,939.2 ล้านบาท

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

เพิ่มการลงทุนทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ

จากรายละเอียดที่บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นระบุ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายจ่ายฝ่ายทุนสำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทให้เริ่มดำเนินการแล้วในปี 2561 จำนวนประมาณ 2,668 ล้านบาท และในปี 2562 อีกประมาณ 2,613 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 โครงการหลักๆ ได้แก่

1.การก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมา คาดว่าใช้งบลงทุนในระยะแรก (ปี 2561) ราว 2,000 ล้านบาท และในปี 2562 อีกราว 1,431 ล้านบาท 2. การเปลี่ยนเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้ว 1 แห่ง  868 ล้านบาท 3. การสร้างเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้วในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ประมาณ 1,800 ล้านบาท

และ 4.การเพิ่มสายการผลิตสินค้าตราซี-วิต ใหม่ 1 สายการผลิต ณ โรงงานผลิตของบริษัทฯ เพื่อรองรับการขยายตัว ประมาณ  80 ล้านบาท โดยคาดว่าโครงการนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์ซี-วิตอีก 44 ล้านขวดต่อปีในปี 2561

นอกจากนี้ ยังมีแผนซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ จำนวน 206 ล้านบาท และการปรับปรุงที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับโรงงานผลิตและอาคารสำนักงานของบริษัทฯ เป็นหลักจำนวนรวม 248 ล้านบาท และรายจ่ายฝ่ายทุนอื่น ๆ เป็นจำนวนรวม 146 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ที่ใช้ในการทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และให้ผู้บริโภคทดลองก่อนที่จะมีการผลิตเชิงพาณิชย์

เพชร-รัตน์ โอสถานุเคราะห์

คนในตระกูล “โอสถานุเคราะห์” คิดอะไรอยู่?

แหล่งข่าวจากวงการคอนซูเมอร์โปรดักค์รายหนึ่งกล่าวกับ www.362 degree.com ว่า การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่มาหลายระลอกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น “โอสถสภา” ได้ทุ่มซื้อตัวมืออาชีพระดับแถวหน้าของวงการคอนซูเมอร์โปรดักค์เข้ามาเสริมทัพหลายราย ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักของคนในวงการ

อาทิ  “วรรณิภา ภักดีบุตร” อดีตรองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอาหาร ค่ายยูนิลีเวอร์ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” อดีตบิ๊กบอสธนาคารไทยพาณิชย์ และเคยทำงานที่ยูนิลีเวอร์มากว่า 32 ปี “ศรายุทธ จิตจรุงพร” จาก ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง “สุทิพา ปัญญามหาทรัพย์” จากยูนิลีเวอร์ “อภิวันท์ ฉัตรพงศ์พร” จากไทยประกันชีวิต ฯลฯ

ผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ เสริมทัพผู้บริหารมืออาชีพใหม่ๆ เข้ามา เพื่อให้องค์กรมีความโดดเด่นขึ้นนั้น ทำให้ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนเก่าคนแก่ที่ช่วยปลุกปั้นธุรกิจของ “โอสถสภา” มานานได้ถูกปรับและปลดออกไปจำนวนมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนว่า “เพชร-รัตน์ โอสถานุเคราะห์” 2 ผู้บริหารระดับสูง ทายาทสายตรงของ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ก็ไม่ได้แคร์นัก เพราะมองว่าธุรกิจก็คือธุรกิจ ที่สำคัญ “โอสถสภา” กำลังจะกลายเป็นบริษัทมหาชน ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวอีกต่อไปแล้ว จึงต้องใช้หลักการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ

ซึ่งสอดรับกับเอกสารไฟลิ่งของ “โอสถสภา” ที่ระบุว่า บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ที่จะรักษาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะบริษัทผู้ประกอบธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำที่มีประสิทธิภาพ และมีการใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศหลักของบริษัทฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ทีมผู้บริหารมืออาชีพของโอสถสภา

ลบภาพธุรกิจครอบครัว…ก้าวสู่ระดับอินเตอร์เต็มตัว

ขณะที่ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาว่า การปรับระบบการบริหารจัดการองค์กรใหม่ของโอสถสภานั้นมีเป้าหมายเพื่อการเป็นบริษัทอุปโภคบริโภคที่ดีที่สุดในประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเป็นองค์กรที่มุ่งเสริมสร้างชีวิตของผู้บริโภคและสังคมด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพโดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย 2.การมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นผลสำเร็จในการดำเนินงานเป็นเลิศ

และ 3.การยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากลท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกต่างๆ ตลอดจนสภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ถือหุ้น ผู้บริหารและพนักงาน ลูกค้า คู่ค้าและสังคม

พร้อมระบุว่าต้องสร้างความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน ทั้งการบริหารจัดการธุรกิจ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพ การนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรและพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากร การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และการยึดมั่นในการบริหารจัดการที่โปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลสากล

และเพื่อให้มั่นใจว่า โอสถสภาจะมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและสามารถขยายขีดความสามารถในการดำเนินงานเพื่อสร้างคุณภาพธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นั่นหมายความว่า ยุทธศาสตร์ “โอสถสภา” ในวันนี้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว จากที่เคยบริหารสไตล์ธุรกิจครอบครัวมา 126 ปี แต่ในปีที่ 127 นี้ “โอสถสภา” กำลังจะกลายเป็นบริษัท “มหาชน” และเป็นองค์กรที่บริหารด้วยมืออาชีพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการแข่งขันทางการตลาด เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค

 

ขอบคุณภาพ Featured จาก : TCDC